Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2547
อาหารไทย : ความหลากหลายที่บรรยายไม่หมด             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

เทศกาลอาหารไทยครั้งที่ 5 The Cultural Showcase




สำหรับชาวต่างชาติ อาหารไทยที่พวกเขานึกถึงและนิยมอยู่เสมอคงหนีไม่พ้นต้มยำกุ้ง ที่มีความโดดเด่นและได้รับเกียรติ ใช้เรียกขานวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ในฐานะ Tom Yum Kung Disease มาแล้ว

แต่อาหารไทยมีความหลากหลายให้เลือกสรรมากกว่านั้น

ความพยายามที่จะเปิดตัวอาหารไทยเข้าสู่การรับรู้ของผู้บริโภคชาวต่างชาติ ดำเนินอยู่เป็นลำดับขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของพื้นที่เป้าหมาย และนโยบายของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละแห่ง รวมถึงแนวความคิดที่จะนำเสนอด้วย

ก่อนหน้า เทศกาลอาหารไทยครั้งที่ 5 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้านโภชนาการขนาดใหญ่ประจำปี สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ได้จัดกิจกรรมขยาดย่อมเพื่อสร้างเสริมให้เกิดบรรยากาศต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์อยู่เป็นระยะ

กิจกรรมงานวันก๋วยเตี๋ยวไทย "Thai Noodles Day" เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจและเข้าร่วมงานอย่างหนาแน่น แม้ว่าจะมิได้จัดเป็นประจำทุกปี เหมือนเทศกาลอาหารไทย และมีจุดเน้นอยู่ที่อาหารประเภทเส้น สำหรับคนกินเส้นก็ตาม

ภายใต้สังคม กินเส้นแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้ง Ramen, Udon และ Soba ก๋วยเตี๋ยวของไทยกำลังแทรกตัวเข้าสู่การรับรู้ของชาวญี่ปุ่นมากขึ้น หลังจากที่ผัดไทยได้ครอบครองจิตใจนักชิมเหล่านี้มาเนิ่นนาน

"Tasty, Variety and Healthy" เป็นแนวคิดหลักในการนำเสนอผ่านงานก๋วยเตี๋ยวไทย ครั้งที่ 2 ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 ที่ผ่านพ้นมา เพราะแม้ก๋วยเตี๋ยวจะมีรากมาจากวัฒนธรรมอื่น แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยทำให้อาหารประเภทเส้นของไทยได้รับการประยุกต์ให้มีเอกลักษณ์ (uniqueness) และพัฒนาไปไกลกว่าที่อื่นๆ มากทีเดียว

แม้สภาพอากาศจะหนาวเย็นด้วยอุณหภูมิระดับ 5-8 องศา และสายฝนที่โปรยปรายต่อเนื่องตลอดทั้งวัน แต่ชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลและชื่นชมความเป็นไทยก็เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งครั้งนี้กว่า 3,000 คน และทำให้บริเวณรอบตัวอาคารทำเนียบและที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความอร่อยและความอบอุ่น

ผัดไทย มรดกทางวัฒนธรรมจากยุคมาลานำไทย ยังเป็นพระเอกหลักของงานอย่างมิต้องสงสัย แต่ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ก๋วยเตี๋ยวน้ำที่ประกอบด้วยน้ำซุปร้อนๆ ที่ช่วยให้อุ่นท้องก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย รสชาติเข้มข้น หรือก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำใสรสกลมกล่อม ไล่เรียงไปถึงก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำตกและก๋วยเตี๋ยวเป็ด

ขณะที่ก๋วยจั๊บน้ำข้น และกระเพาะปลาใส่เส้นหมี่ รวมถึง ข้าวซอยไก่ ก็สามารถสร้างความประทับใจใหม่ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยมีก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เฉพาะอย่างยิ่ง ต้มยำทะเล ดูจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นประหนึ่งจุดบรรจบของการประยุกต์ต้มยำกุ้งกับก๋วยเตี๋ยวไทย เข้าไว้ในอาหารชามเดียวนี้

หลังเสร็จสิ้นจากงานวันก๋วยเตี๋ยวไทย ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้บริโภคปลายทาง (end consumer) แล้ว กิจกรรม An Evening of Thai Curry and Rice ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การแนะนำอาหารและผลิตภัณฑ์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และ supplier ด้านอาหารของญี่ปุ่น ก็ดำเนินติดตามมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 โดยใช้พื้นที่ของทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยเป็นที่จัดงานเช่นกัน

ยามเย็นกับเครื่องแกงไทย นอกจากจะเน้นที่เครื่องแกงสารพัน ทั้งแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด แกงกะหรี่ มัสมั่น และต้มข่า รวมถึงต้มยำแล้ว ยังพยายามเบียดแทรกข้าวหอมมะลิของไทย เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ด้วยการชูประเด็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของข้าวไทย ที่มีความแตกต่างจากข้าวญี่ปุ่น และเหมาะกับการรับประทานร่วมกับสำรับอาหารแบบไทยด้วย

แม้ว่า ข้าวไทยจะได้รับสัดส่วนการนำเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นภายใต้กรอบของ WTO ได้มากถึง 7 แสนตัน แต่ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นมีการนำเข้าข้าวไทยเพียง 1 แสนตันเศษ อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่องานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ที่นำเข้าเพื่อการบริโภคมีเพียงประมาณ 1 พันตันเท่านั้น จากผลของการที่ตลาดข้าวไทยเพื่อการบริโภคยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

กิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียวในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นประหนึ่งการรุกคืบเพื่อเปิดตลาดสินค้าด้วยมิติทางวัฒนธรรม ของการบริโภคที่ก่อรูปให้เกิดเป็นความต้องการของตลาด ที่น่าจะได้ผลมากกว่าการเจรจาเพื่อต่อรอง บีบบังคับให้มีการเปิดตลาดหรือสัดส่วนการนำเข้าอย่างที่เคยดำเนินกันมา

ปัญหาอยู่ที่ว่า ภายหลังการรุกคืบทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถร่วมแสดงรสชาติหลากหลายให้ภารกิจนี้มีความอร่อยและกลมกล่อมมากน้อยเพียงใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us