น้อยครั้งนักที่ประชุม มาลีนนท์ บุตรชายคนเล็กของประธานวิชัย มาลีนนท์ จะเปิดใจ
แต่เมื่อเขาพูดเกี่ยวกับแนวคิดในเชิงรุกพื้นที่ธุรกิจใหม่ของช่อง 3 ว่าด้วยสื่อธุรกิจใหม่ๆ
รวมถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลับเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม เพราะนี่คือ
หนึ่งทางเลือกของการลงทุนเพื่ออนาคตที่มีปัจจัยเสี่ยงด้วยเงินลงทุนสูง, การแข่งขันสูงและอัตราเติบโตแบบชะลอตัวของช่อง
3 ที่มีฐานใหญ่ขึ้นๆ
"กลุ่มบีอีซีเวิลด์ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ ไม่ไปก่อนแต่ตามดูให้แน่ใจก่อนตัดสินใจทำ"
ประชุม มาลีนนท์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการอาวุโสสายธุรกิจสื่อโฆษณา สะท้อนให้ฟังถึงนโยบายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
โดยเฉพาะสายธุรกิจ New Media ซึ่งประชุมเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลทิศทางและนโยบาย
โดยมีหลานสาว ดร.แคทลีน มาลีนนท์ บุตรีของประชาซึ่งจบปริญญาเอกสาขา Instituitional
Management จาก Pepperdine University เป็นผู้ช่วยกรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่
กลุ่มธุรกิจสายนี้ประกอบด้วยธุรกิจอินเทอร์เน็ตและธุรกิจเกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทบีอีซีไอ
คอร์ปอเรชั่น (BECI) ที่ถือหุ้นในบริษัทดิจิตอล แฟคทอรี่ และบริษัทโมบิ (ไทย),
บริษัทบีอีซี มัลติมีเดีย (BECM) ทำสื่อธุรกิจอื่นๆ, ขณะที่สองบริษัทที่ยังไม่เริ่มดำเนินการคือ
บริษัทบางกอกแซทเทิลไลท์ แอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม
และบริษัทแซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง ทำธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
บริษัท BECI และบริษัท BECM สองบริษัทนี้เป็นหัวหอกของกลุ่มธุรกิจสื่อใหม่
ก่อตั้งไล่เลี่ยกันในเดือนกันยายนและตุลาคม 2543 หลังจากการรวมตัวของยักษ์ใหญ่วงการบันเทิง อย่าง AOL กับ Warner เป็นตัวจุดชนวนกระแสอินเทอร์เน็ตมาแรง
ทำให้ประชากับประชุมมองเห็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ content จำนวนมากในมือของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ที่มีจุดแข็งด้าน content ละคร ข่าว ภาพยนตร์
เพลง และคอนเสิร์ต โดยสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่วาดหวังว่าจะสร้างรายได้ให้กับบีอีซีเวิลด์ในอนาคต
เดิมบริษัท BECI ถูกวางแนวทางให้เป็นเว็บท่าหรือพอร์ทัลทางด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์แบบครบวงจรและวางแผนจะก้าวไปสู่ธุรกิจ e-commerce โดยเอาเนื้อหาทั้งหมดของช่อง
3 ให้บริการแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้เว็บไซต์เดิมของช่อง 3 (www. thaitv3.co.th) ที่เปิดใช้ตั้งแต่
19 มีนาคม 2541 และเคยอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้ถูกย้ายมาอยู่กับบริษัท
BECI และเปลี่ยนเป็น www.thaitv3.com และเพิ่ม www.becworld.com
ขณะที่บริษัท BECM ที่ลงทุนมากกว่าเพื่อสร้างระบบพื้นฐานของธุรกิจลักษณะดาต้าเซนเตอร์
เพื่อเผยแพร่ content ภาพยนตร์ ละคร และกีฬาไปยังต่างประเทศ ผ่านสื่อดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต
จำเป็นต้องหาพันธมิตรต่างชาติช่วยเรื่องเทคโนโลยีและเนื้อหาที่จะป้อนตลาดไทย
แต่ภาวะล่มสลายของธุรกิจดอทคอมในปี 2544 และปัจจัยเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
รวดเร็ว มีผลกระทบโดยตรงกับโครงการที่วางไว้ ทำให้ผู้บริหารต้องทบทวนก้าวใหม่ของการลงทุน
"พอลูกโป่งแตก เราลงทุนในระบบงานดาต้าเซนเตอร์ไปหลายสิบล้านแล้วก็ต้องชะลอโครงการต่างๆ
หมด และเมื่อปีที่ผ่านมา สองบริษัท BECI และ BECM ก็รวมตัวกันด้านบุคลากร
แต่ด้านบัญชียังแยกกันอยู่ ปีนี้ผมคิดว่าครึ่งปีหลังจะปรับแผนใหม่ ทำในเชิงรุก
เพราะในส่วนของโมบายค่อนข้างเติบโตสูงมาก" ประชุมเล่าให้ฟัง
จากคอนเซ็ปต์สองอย่างที่ผู้บริหารมาลีนนท์วางแผนปรับธุรกิจ New Media ไว้คือ
หนึ่ง-ด้านมีเดีย ในส่วนของเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ส่งภาพ เสียงและข้อความทางระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
เน้นรุกธุรกิจโมบายที่เพิ่งเริ่มทำจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมา เช่น โครงการละครโมบายซึ่งเป็นตัวเฉพาะทางที่เสริมการตลาดให้บริการฟรี
สำหรับปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจสื่อใหม่ New Media ทำรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท
แต่ปีนี้ประชุมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพราะว่า
"ปีนี้ตลาดอินเทอร์เน็ตคึกคัก นโยบายรัฐก็ส่งเสริมทำให้ users เพิ่มมาก
ส่วนด้านโมบาย เราปรับนโยบายใหม่ให้ทำเรื่องดาวน์โหลดเพลงด้วย เพราะโทรศัพท์มือถือไม่เหมือนเดิม
เป็นจอสี GPRS ดีขึ้นและโอกาสเอา Content จากทีวีมาใช้ก็มากขึ้น ปีนี้เรา
Join กับกลุ่มชิน AIS ออกละครฟรีสามเดือน ละครออนโมบายเป็นมาร์เก็ตติ้งแคมเปญ"
สอง-ด้านดิจิตอล คอนเทนต์ที่วางแผนจะเริ่มพัฒนาทำคอนเทนต์เอง โดยช่วงนี้มองเห็นว่าตลาดแอนิเมชั่นมีคนสนใจทำมาก
เพราะมีความต้องการสูง เนื่องจากตัวเร่งจากนโยบายรัฐที่เน้นรายการทีวีเพื่อเยาวชนต้องขยายเพิ่มขึ้น
ประชุมยกตัวอย่างลูกสาวที่ติดการ์ตูน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นน้ำซึมบ่อทราย
ขณะที่ตลาดเกมออนไลน์ ประชุมเล่าว่า ได้นัดหมายคุยกับเครือทีเอหรือ true
เพื่อเสริมธุรกิจกันระหว่างโมบายกับสื่อ
เมื่อถูกถามว่า ช่อง 3 ให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจ New Media มากน้อยเพียงใด
ประชุมกล่าวว่า
"ผมคิดว่า ตอนนี้ธุรกิจนี้ค่อนข้างแยกออกไป กลุ่มธุรกิจ New Media ต้องช่วยตัวเอง
จะต้องดูว่าของที่มีอยู่จะทำธุรกิจได้อย่างไร เป็นการโฟกัสให้ชัดเจน ขณะที่ทีวีช่อง
3 เขาก็มีโฟกัสธุรกิจของเขา ไม่ต้องพะว้าพะวงก็พัฒนาของเขาไป แต่ของเราจะทำแบบย้อนทางไม่ว่าแอนิเมชั่นและคอนเทนต์ด้านพริ้นติ้ง
อาจจะแอพพลายขึ้นมาก่อน แต่ถ้าตลาดไปได้ก็จะย้อนมาลงที่ทีวี สมมุติเราทำ
F4 เวอร์ชั่นภาษาไทย บทประพันธ์และแอนิเมชั่น ขายได้ก็ปรับเข้าทำที่ทีวี
บริษัทในเครืออย่างเราต้องดูว่าจะซินเนอยี่อย่างไร"
ในแง่การบริหาร ประชุมเล่าว่า บริษัทได้เล็งจะหาหุ้นส่วนต่างประเทศมาร่วมด้วย
เป็นผลดีด้านเทคโนโลยีและการตลาดแบบไม่ต้องลองผิดลองถูก
"เราให้เวลากับธุรกิจนี้คิดว่ากว่าจะตั้งหลักได้ 2-3 ปีถึงจะเข้าที่ ตอนนี้มีการแข่งขันสูง
แต่อาศัยว่าเรามีเครดิตดี กลุ่มบีอีซีมีเงินทุนค่อนข้างดีและสามารถจะซินเนอยี่กับพาร์ตเนอร์หลายรายได้
หรือการซื้อบริษัทการ์ตูนก็อยู่ที่จังหวะ เราต้องดูว่าไปกันได้หรือเปล่า"
ในอดีต ปัญหาใหญ่ของการเจรจาธุรกิจนั้นไม่ใช่อยู่ที่เรื่องเงินทุน แต่ประชุมเล่าว่า
ปัญหาอยู่ที่คู่เจรจาไม่เข้าใจตลาดลูกค้าไทย เช่น สมัย BECI ทำพอร์ทัลลักษณะคอมมูนิตี้
มีเกมเซิร์ฟ และหลายอย่างมีการเจรจากับเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่เก่งด้านซอฟต์แวร์
แต่ทำธุรกิจไม่เหมือนไทย ซึ่งยังมีปริมาณการใช้น้อยเมื่อเทียบกับเกาหลี จึงทำให้การเจรจาไม่เป็นผล
ปีนี้ธุรกิจ New Media จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการใหม่ และปรับการบริหารภายใน
เพิ่มแผนกพัฒนาธุรกิจใหม่ ที่ประชุม มาลีนนท์ เข้าไปดูแลทีมแมเนจเมนต์ 10
คน จนกว่าจะมีหุ้นส่วนธุรกิจใหม่เข้ามาจึงเปลี่ยน เพราะถ้ามีฐานะเป็นบริษัทย่อยจะต้องรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ
ความสนใจในสื่อใหม่ๆ ของประชุมดูหลากหลาย วันนี้เขาเริ่มมองเห็นอัตราเติบโตของสื่อโฆษณากลางแจ้งที่สูงสุดถึง
85% ในปีที่แล้ว เขากล่าว "ตอนนี้เรากำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศอยู่"
การเคาะโครงการว่าจะลงทุนในความคิดของประชุม เขาคิดว่าต้องเอาตัวรอดและมีอัตราเติบโตดี
โดยสองปีควรเริ่มคืนทุนและโตต่อเนื่องในอัตราสูง
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หลายโครงการใหม่ๆ ที่ผ่านมาของประชุมต้องชะลอไปเพราะบอร์ดบีอีซีไม่เห็นด้วย
โดยประสบการณ์การทำงานของประชุมซึ่งวันนี้มีอายุ 50 เขาเริ่มทำงานที่ช่อง
3 ก่อนเกิดวิกฤติการเงินของช่อง 3 ครั้งแรกจากเอเชียทรัสต์ล้ม ประชุมทำงานกับประชาที่ฝ่ายผลิตรายการ,
เคยช่วยทำคอนเสิร์ตโจวเหวินฟะในหน้าที่แคชเชียร์เก็บเงินสด ปัจจุบันมีบทบาทในช่อง
3 เป็นกรรมการบริหาร
เขาเคยทำธุรกิจส่วนตัวในฐานะตัวแทนขายเครื่องพีซีและโน้ตบุ๊ก หนึ่งปีต่อมาเขาได้เลิกกิจการ เพราะการแข่งขันมีสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว
มาร์จิ้นลดลงจากตัวเลขสองตัวเหลือเพียงตัวเดียวเท่านั้น
วันนี้เขาเริ่มสนใจโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และร่วมทุนกับกลุ่มสาธรซิตี้ของโสภณพนิชเข้าประมูลพื้นที่ในโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ด้วย
นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาพื้นที่ศูนย์บันเทิงในศูนย์การค้าอีกด้วย โดยเน้นจุดแข็งด้านบันเทิงที่มีความชำนาญ
ครั้งหนึ่งบิดาของเขาคือ วิชัย มาลีนนท์ เคยมีชื่อเสียงด้านจัดสรรที่ดินรายใหญ่และยี่ปั้วลอตเตอรี่รายใหญ่
รวมทั้งเป็นเจ้าของหมู่บ้านทิพวัลด้วย
ล่าสุดอาคาร "มาลีนนท์ทาวเวอร์" ตึกสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของช่อง 3 ตั้งอยู่ริมถนนพระราม
4 ตระกูล มาลีนนท์ได้ซื้อมาช่วงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยผ่านแบงก์ที่มีลูกหนี้สินทรัพย์
NPL
"จริงๆ เราคิดจะมีสำนักงานถาวรของเรามานานแต่ยังไม่พร้อม เพราะที่ดินเมื่อก่อนแพงมากซื้อไม่ไหว
แค่ตึกเดียวพันล้านยังเอาไม่อยู่ ตารางเมตรละ 3-4 หมื่นบาท แต่แล้วเราก็มาได้ตอนลูกโป่งแตก
เราซื้ออาคารนี้ในนามบริษัทมาลีนนท์ทาวเวอร์ แล้วนำมาปรับปรุงใหม่หมด เพราะเราต้องการความสูง
เพื่อทำห้องส่ง วางระบบ มีไฟเบอร์ออพติกและความเร็วเพียงพอ ผมเองไปดูแล เพราะรู้เรื่องคุมงานก่อสร้างบ้านใหม่ของตัวเองเมื่อไม่นานนี้
แต่ก็เหนื่อยมาก" ประชุมเล่าด้วยความภูมิใจ
สำหรับอาคารสองหลัง บริษัทบีอีซี เวิลด์จะเช่าพื้นที่ 1 ใน 3 โดยโซนโอเปอเรชั่นตั้งแต่ชั้น 2-9 ส่วนระดับบริหารตั้งแต่ ชั้น 30-34
และยอดตึกมีแผนจะทำเป็นภัตตาคารลอยฟ้าตามที่เขาได้ขอร้องบิดาว่า
"ผมขอคุณพ่อบอกว่า อยากเอาพื้นที่ดีๆ มาทำภัตตาคารเพราะวิวค่อนข้างดี
และพื้นที่เป็นชั้นครึ่งไม่เหมาะทำออฟฟิศเท่าไร คือทำได้แต่ต้องออกแบบอีกอย่าง
คุณพ่อขึ้นไปดูก็เห็นด้วย"
ดังนั้น พื้นที่ชั้น 34 เป็นชั้นของประธานวิชัย, ชั้น 33 เป็นออฟฟิศของประชุม
และชั้น 32 เป็นของประวิทย์, ชั้น 31 จัดเป็นห้องประชุมทั้งหมด
ขณะที่อีกตึกหนึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของช่อง 3 โดยตึกนี้ต้องทุบ 6 ชั้นให้เหลือ
3 ชั้น เพื่อทำสตูดิโอห้องส่ง และอีกชั้นทำฟังก์ชันรูม
"โดยโครงสร้างตึกนี้เป็นของส่วนตัวในตระกูลมาลีนนท์ ที่ทางบริษัทบีอีซี
เวิลด์มาเช่าเหมือนช่อง 3 เช่าเอ็มโพเรียม ถ้ามีส่วนเกินที่ต้องตกแต่งดัดแปลง
ทางบีอีซีเวิลด์ก็ต้องลงทุนเอง" ประชุมกล่าว
ว่ากันว่าค่าเช่าตึกใหม่นี้ บีอีซีเวิลด์จ่ายค่าเช่าตารางเมตรละ 340 บาท
ขณะที่เช่าพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ที่เอ็มโพเรียมจ่ายตารางเมตรละ 300
บาท ซึ่งราคาถูกมาก เพราะช่อง 3 เป็นผู้เช่ากลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์จากสัญญา
5 ปีช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤติ
วันนี้ประชุมแยกครอบครัวมาสร้างบ้านใหม่ได้สามปีแล้ว แต่เดินทางห้านาทีก็ถึงบ้านกล้วยใต้ที่บิดาและพี่น้องอยู่ในวันสำคัญๆ
เช่น วันเกิดของบิดา, วันตรุษจีนและวันปีใหม่ พี่น้องทุกคนจะพร้อมหน้าพร้อมตากัน
ขณะที่วันเสาร์อาทิตย์ที่มีการทานข้าวร่วมกัน ประชุมจะโผล่ไปร่วมไม่บ่อยครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชุมมีระยะห่างพอสมควรในสายสัมพันธ์ใกล้ชิดของพี่น้อง
8 คน ที่ประกอบด้วยกลุ่ม Big Brother ที่ซี้ปึกกันอย่างประสาร ประวิทย์ และประชากับ
กลุ่มผู้หญิง คือสามสาวโสดอย่าง รัตนา อัมพร นิภา และรัชนีที่แต่งงานแล้ว
"ผมลดบทบาทจากช่อง 3 ไปเยอะ โดยช่วงหลังคุณประวิทย์จะดู และพวกมาลีนนท์อยู่ข้างใต้
พอประชาไปเล่นการเมืองที่เขาสนใจมานานแล้ว ครอบครัวไม่ซัปพอร์ตเท่าไร เพราะพวกเรารู้ว่าการเมืองกับธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกัน
แต่คนนอกมองว่าเอื้อประโยชน์กัน เช่น ผมซื้อหุ้นยังโดนโยงไปด้วย เรามีเงินสด
พวกโบรกเกอร์แนะนำซื้อหุ้นดี เราก็ซื้อ เจ้าของหุ้นเขายินดีขายให้เราเยอะ
เราก็ซื้อ"
"พวกผู้หญิงเขา play safe ทั้งน้องสาวที่มีครอบครัวและพี่สาวจะค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ เขาอยู่ได้อยู่แล้ว แต่ของผมต้องค่อนข้างดิ้นรนหน่อย เพราะมีครอบครัว
คือบางครั้งก็มีความเสี่ยงบ้างเพื่อให้มีกำไรสูง" นี่คือฐานะของประชุมวันนี้
ดังนั้นประชุมจึงมีไลฟ์สไตล์เป็นแฟมิลี่แมนของลูกสามคน ได้แก่ จิรวัฒน์
ซึ่งเรียนจบเอแบคและชอบคอมพิวเตอร์, นบชุลีที่กำลังเรียนต่ออยู่ที่ออสเตรเลีย
และปราลีโดยมีศรีภรรยาชื่อสกลศรี ซึ่งเป็นลูกสาวของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์
แห่งห้างเซ็นทรัล โดย ถือเป็นคู่สมรสคู่แรกที่จัดงานแต่งงานที่โรงแรมไฮแอท
เซ็นทรัล ขณะนั้น
ประชุมเดินทางไปดูงานประจำที่อเมริกาและคานส์ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของรายการทีวีและโปรแกรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ
ร่วมกับการมอนิเตอร์จากอินเทอร์เน็ตด้วย เพื่ออัพเดตเทคโนโลยีใหม่ แต่ปัจจุบันเขาได้ปล่อยให้คนอื่นไปมากขึ้น
อนาคตบีอีซีเวิลด์อาจเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ที่ New Media หรือโปรเจ็กต์ใหม่ๆ
ของประชุม มาลีนนท์ จะสามารถขี่คลื่นลูกใหม่ที่เสี่ยงสูงได้โดยไม่ เจ็บตัว
เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง