ในบรรดาสถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่อง ช่อง 3 เป็นแห่งเดียวที่มีความเป็น "ธุรกิจครอบครัว" มากที่สุด แม้ว่าความเป็นธุรกิจครอบครัวจะทำให้ช่อง 3 ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ แต่ก็อาจถึงเวลาต้องทบทวน
ต้องยอมรับความอยู่รอดในธุรกิจที่มีความผันผวนสูง บริหารงานโดยครอบครัว
มีความยืดหยุ่น และความรวดเร็วในการตัดสินใจ ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ช่อง
3 พลิกวิกฤติมาได้หลายครั้ง
การล่มสลายของ "ธนาคารเอเชียทรัสต์" เมื่อครั้งอดีต น่าจะเป็นบทเรียนทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง
3 เป็น "ป้อมค่ายสุดท้าย" ที่ทำให้คนในตระกูลต้องร่วมแรงรวมใจบุกเบิกฟันฝ่า
ในวัย 85 ปีของ "วิชัย มาลีนนท์" เขายังเต็มไปด้วยไฟของการทำงาน เขาคงทำหน้าที่เป็นประธาน
โดยจะเดินทางจากบ้านในซอยบ้านกล้วยใต้มานั่งทำงาน บนชั้น 17 บนอาคารเอ็มโพเรียมเป็นประจำ
และยังคงติดตามความเป็นไปของ ธุรกิจจากหน้าจอโทรทัศน์ตั้งแต่ตื่นนอน
ห้องทำงานของวิชัย นอกจากจะมีโทรทัศน์ 7 เครื่อง เหมือนกับลูกๆ แล้ว ทุกๆ
10.00 น. ของทุกวัน ข่าวสารต่างๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์เฉลี่ย
80% ข่าว จะต้องส่งมาถึงโต๊ะทำงานของวิชัย
หลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงของช่อง 3 เป็นคำสั่งที่มาจากวิชัยรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นเร็วๆ
นี้
"เดือนหน้าช่อง 3 จะเปลี่ยนการเปิดสถานีตอนตี 5 เป็นคำสั่งจากคุณวิชัย
ท่านดูโทรทัศน์มากกว่าผมอีก และเนื่อง จากดูบ่อยก็เห็นว่าช่อง 3 เปิดสถานีช้ากว่าคนอื่น"
ประวิทย์บอก
"วิชัยมีวิธีสอนลูกๆ ที่เรียนจบมา ตามสไตล์ชาวจีนยุคเก่า ที่เชื่อว่า ก่อนจะขึ้นมาบริหารงานได้
ก็ควรต้องมีพื้นฐานความรู้ในธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ก่อน"
ประวิทย์เล่าว่า เวลานั้นเขาต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกงานเพื่อเรียนรู้พื้นฐานธุรกิจตามแผนกต่างๆ
ดังเช่นพนักงานฝึกงานทั่วไป และทุกเย็นลูกชายทั้ง 3 จะต้องไปกินข้าวร่วมกับพนักงานทั่วไป
โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นลูกเจ้าของหรือลูกจ้าง
พนักงานเหล่านี้จึงเป็นกำลังหลักสำคัญร่วมบุกเบิกธุรกิจ การสร้างความผูกพันกับทีมงาน ประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้ลูกชายทั้ง 3 ซึมซับความรู้
และปัญหาต่างๆ ได้ในคราวเดียวกัน
เป็นประเพณีปฏิบัติของตระกูลมาลีนนท์ที่จะเลี้ยงดูพนักงานเก่าแก่ ที่ร่วมงานตั้งแต่
30 กว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าคนเหล่านี้จะเลยวัยเกษียณไปมากแล้วก็ตาม เช่น อุดม
จโนภาษ
ความกลมเกลียวของพี่น้องทั้งสาม โดยมีผู้เป็นพ่อเป็นผู้กำกับดูแล นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารโดยระบบครอบครัวมาลีนนท์เป็นไปอย่างราบรื่น
ประสาร ปีนี้อายุ 59 ปี ประวิทย์ 57 ปี และประชา 56 ปี เป็นพี่น้องสนิทสนม
ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็กเพราะวัยที่ใกล้กัน สมัยเรียนชั้นมัธยมพวกเขาถูกส่งโรงเรียนประจำที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จากนั้นก็บินไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน
เรียนจบกลับมาเริ่มทำงานในช่อง 3 ไล่เลี่ยกัน
"ประสาร" พี่คนโตรับผิดชอบดูแลงานหลังบ้าน (Back Office) เช่น งานธุรการ
บุคคล ประชาสัมพันธ์ และข่าว
ส่วนประวิทย์ และประชา ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรายการและการผลิตรายการคู่กัน
ประวิทย์จะเน้นหนักในเรื่องของการตลาด และการขายโฆษณา ส่วนประชาจะดูแลเรื่องของการผลิตรายการ
ด้วยบุคลิกแบบขาลุย กล้าได้กล้าเสีย "ประชา" เป็นฝ่าย "บู๊" ออกหน้าติดต่อกับภายนอก
ส่วนประวิทย์เป็นฝ่าย "บุ๊น" ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการที่คอย "คิด" และให้ประชาไปทำอีกที
ถ้านับยุคของ "วิชัย" เป็นยุคผู้บุกเบิกช่อง 3 แล้ว ยุคของลูกชายทั้งสามของเขา
ต้องถือเป็นยุคของการกอบกู้กิจการจากวิกฤติและวางรากฐานที่มั่นคงเป็นปึกแผ่นให้กับธุรกิจ
ประสาร ประวิทย์ และประชาร่วมกันแก้ไขปัญหา นำวิธีคิดใหม่ๆ มาลองผิดลองถูก
จนกระทั่งสถานการณ์ของ ช่อง 3 เริ่มพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ
ยุคที่ 2 ของช่อง 3 จึงเป็นยุคของ "พี่ชายใหญ่ทั้งสาม" ที่มีบทบาทต่อการบริหารจัดการในช่อง
3 โดยที่น้องๆ ทั้ง 5 คน ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม อาจจะด้วยอายุที่ห่างกัน
ซึ่งกว่าพวกเขาจะจบการศึกษา กิจการของช่อง 3 ก็เริ่มสำเร็จ ลุล่วงไปได้พักใหญ่
5 คนสุดท้ายของ Generation รุ่นสองมาลีนนท์ ประกอบไปด้วย ประชุม ลูกชายคนเล็ก
เมื่อเรียนจบจากอเมริกากลับมา ประชาได้ดึงตัวประชุมมาช่วยงานในฝ่ายผลิตรายการคู่กับอัมพร
จนเมื่อประชาปลีกตัวลงสู่สนามการเมือง ประชุมออกไปทำธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์
จากนั้นกลับเข้ามาในบีอีซีเวิลด์ใหม่ โดยดูแลบุกเบิกธุรกิจอินเทอร์เน็ต และมัลติมีเดียให้กับบีอีซี
และธุรกิจของตระกูลมาลีนนท์เป็นหลัก (อ่านล้อมกรอบประชุม มาลีนนท์ นักลงทุนนอกกรอบช่อง
3)
ส่วนบุตรสาวทั้ง 4 ของวิชัยประกอบไปด้วย รัตนา อัมพร นิภา และรัชนี ทุกคนเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่ลูกสาว 3 คนแรก
บินไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์
รัตนารับผิดชอบด้านบัญชีและการเงิน ส่วนรัชนีมาช่วยดูเรื่องการตลาดและขาย
ส่วนนิภาไม่ได้มาร่วมบริหารเป็น แค่กรรมการของบริษัท
ส่วนอัมพร เนื่องจากความใกล้ชิด สนิทสนมกับ "วิชัย" ผู้เป็นพ่อที่มักจะติดสอยห้อยตามไปทำงาน
ทำให้เธอได้ซึมซับเรื่องราวของธุรกิจ รวมถึง "ดีล" กับธุรกิจซื้อรายการ
บุคลิกส่วนตัวของอัมพรเป็นคนสมถะ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ชอบออกสังคม แต่ด้วยความเป็นคนละเอียดรอบคอบและเรียนรู้
ประชุมได้ชวนน้องสาวคนนี้
มาช่วยทำงานเรียกว่า สัญญากับผู้ผลิตจะต้องผ่านตาของ "อัมพร" ซึ่งคุ้นเคยกับผู้ผลิต
รายการทั้งในฮ่องกง และไต้หวันเป็นอย่างดี
เมื่อประชาปลีกตัวจากธุรกิจไปเล่นการเมือง อัมพรนั้นนอกจากเป็นกรรมการบริหารบริษัทแล้ว
เธอยังรักษาการหัวหน้าฝ่ายรายการควบอีกตำแหน่ง
"อย่างไรตำแหน่งนี้ต้องมีคนดู เพราะเราไม่ได้สร้างคนแทน เมื่อก่อนตำแหน่งนี้สำคัญมาก
ผมกับคุณประชาทำมาถ่ายทอดให้คุณอัมพร" ประวิทย์บอก
เมื่อพี่น้องทั้งสามร่วมกันกอบกู้พลิกฟื้นกิจการจนช่อง 3 เริ่มแข็งแรงและสร้างความเป็นปึกแผ่น
ประสารและประชาเริ่มขยายไปทำกิจการด้านอื่นๆ นอกเหนือจาก โทรทัศน์
ในฐานะของทายาทที่ต้องสืบทอดกิจการต่อจากผู้เป็นพ่อ "ประวิทย์" เรียนรู้
ทุ่มเท และพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องและมากที่สุด สำหรับการขึ้นเป็น "แม่ทัพ"
เมื่อเทียบกับพี่ชายและน้องชายของเขาทั้งสอง แม้ว่าช่อง 3 จะอยู่ในอันดับ
2 มีเรตติ้ง 25% เป็นรองจากช่อง 7 ที่มีเรตติ้ง 43% ก็ตาม แต่ช่อง 3 ก็มีผลประกอบการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
(อ่านล้อมกรอบ King of cash)
ในวัย 59 ปีของ "ประสาร" เริ่มลดบทบาทการบริหารงานลง เพื่ออยู่อย่างสบายๆ
กับชีวิตครอบครัวที่ลงตัว ส่วน "ประชา" ที่ชอบเรื่องการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร
ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย โดยทั้งสองได้มอบภารกิจดูแลช่อง 3 ทั้งหมดให้กับ
"ประวิทย์"
ในฐานะของ "ซีอีโอ" หลังจากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย นอกจากรับผิดชอบธุรกิจของช่อง
3 ต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว เขายังต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และต่อราคาหุ้นของช่อง
3 ซึ่งมีกองทุนต่างประเทศถืออยู่ถึง 30% และตระกูลมาลีนนท์ 57%
ส่วน generation ที่ 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ซึ่งเป็นรุ่นหลานของ "วิชัย"
ที่เกิดจากลูกชายคนโตทั้ง 3 เริ่มทยอยเรียนจบกลับมาทำงาน ขณะนี้ที่อยู่ในช่อง
3 มีเพียงแค่ 3 คน
สามคนแรกที่มาทำงานในช่อง 3 คือ ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ลูกสาวคนที่สองของประชา
มาเป็นผู้ช่วยกรรมการ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจ New Media
ส่วนอรอุมา หรือ "ยุ้ย" บุตรสาวคนโตของประวิทย์ ทำงานเป็นพนักงานอยู่ฝ่ายรายการ
โดยฝึกงานกับ "อัมพร"
ผู้เป็นอา และปิยะวดี "ตุ๊ดตู่" ลูกสาวของประชาทำงานอยู่ในฝ่ายการตลาด
แม้ว่ามาลีนนท์ ในยุคที่ 3 จะไม่ต้องเผชิญความยากลำบาก เช่นเดียวกับในยุคแรกและยุคที่สอง
แต่พวกเขาต้องเริ่มต้นเรียนรู้จากพื้นฐานเช่นเดียวกับรุ่นพ่อและอาของเขา
"ครอบครัวเรามีแนวคิด ถ้าเป็นลูกต้องทำงานหนักๆ เงินเดือนน้อยๆ ตอนที่ผมกลับมาทำงานกินเงินเดือน
2,200 บาท หรืออย่างยุ้ยได้เงินเดือน 8 พันบาท" ประวิทย์เล่าให้ฟัง
แม้กิจการของช่อง 3 จะเริ่มเป็นปึกแผ่น แต่สำหรับ "ประวิทย์" ความคิดของเขาต้องการให้
generation ที่ 3 ออกไปหาประสบการณ์จากภายนอกมากกว่า จะมาเริ่มงานในช่อง
3
"งานที่นี่น้อยลง ถ้าเราต้องการคนเก่ง ผมจ้างที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก
แต่ถ้าเขาตั้งใจทำงานและช่วยเราได้ แต่ต้องไม่แพงกว่าคนอื่น"
ประวิทย์มองว่า ช่อง 3 ในวันนี้ ไม่ใช่ช่อง 3 เมื่อ 34 ปีที่แล้ว ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จำเป็นที่ต้องเปิดให้มืออาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลโปร่งใสและทำให้องค์กรเป็นมืออาชีพมากขึ้น
เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอามืออาชีพเข้ามาร่วมงาน "ฉัตรชัย เทียมทอง" เป็นมืออาชีพคนแรกๆ
เข้ามารับผิดชอบวางระบบการจัดการด้านการเงิน โดยใช้ประสบการณ์กับบรรษัทข้ามชาติอย่างบอร์เนียวและซิงเกอร์
ขณะที่ จงสุข จรุงวัฒน์ เป็นอดีตผู้บริหารจากบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย
เข้ามาดูแลเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ ช่วยเรื่องบริหารองค์กร ด้วยการคัดเลือกมืออาชีพเข้ามาเสริมในจุดต่างๆ
มากขึ้น เริ่มตั้งแต่แผนกหลังบ้าน (Back Office) อย่างฝ่ายบุคคล ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและไอที
ดร.อภิญญา กังสนารักษ์ อดีตผู้บริหารนครหลวงไทย มาดูแลด้านบริหารบุคคล
HR เพื่อเตรียมพร้อมองค์กรสำหรับการบริหารงานโดยมืออาชีพ พิษณุ เรืองรจิตปกรณ์
อดีตผู้บริหารจากบริษัทสามารถ มีบทบาทในการยกเครื่องระบบไอที ของช่อง 3 เปลี่ยนมาใช้ระบบ
ERP ของ SAP เพื่อสร้างมาตรฐานในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น เช่น ตลาดหลักทรัพย์
"ที่ผ่านมาผมทำได้เยอะ เพราะโอกาสเปิดให้แต่ตรงนั้นมันอิ่มแล้ว การจะไปข้างหน้าต้องอาศัยมืออาชีพเข้ามาช่วย
เพราะความชำนาญแต่ละด้านผมไม่มี สำหรับผม เป็น
history แล้ว เรื่องข้างหน้า ต้องให้มืออาชีพพูดแทน" ประวิทย์กล่าวอย่างถ่อมตัว
โครงสร้างการบริหารจัดการของช่อง 3 เปลี่ยนไปเป็นการจัดทัพใหม่ที่ต้องผสมผสานระหว่างข้อดีของธุรกิจครอบครัว
และความเป็นมืออาชีพเข้าด้วยกันและนี่ก็เป็นความท้าทายใหม่ของตระกูลมาลีนนท์
รุ่นที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้