ในฐานะของผู้บุกเบิกรายการต่างประเทศ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของช่อง 3 แหล่งในการหาซื้อรายการเหล่านี้
ถือเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งช่อง 3
ประวิทย์เล่าว่า แหล่งเลือกซื้อเนื้อหารายการภาพยนตร์ต่างประเทศช่วงแรกของช่อง
3 ที่เขาต้องบินไปประจำปีละ 2 ครั้ง
งานแรกคือ งานแสดงภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะแบ่งออกเป็นงานแสดงภาพยนตร์ฉายในโรงภาพยนตร์
และงานแสดงภาพยนตร์ในทีวี
อีกแห่งคือ สหรัฐอเมริกา เป็นงานของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จัดเป็นสัปดาห์ภาพยนตร์
และเปิดให้สถานีโทรทัศน์ไปเลือกซื้อ
"ระหว่างเดินทางต้องผ่านไต้หวัน ก็เลยแวะไปดู เพราะหนังสือกำลังภายในกำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น
เช่น มังกรหยก พอเขาสร้างเป็นภาพยนตร์เราก็ตื่นเต้น ลองขอซื้อมาฉายดู แรกๆ
ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร" ประวิทย์ย้อนถึงที่มาของภาพยนตร์จีนมาฉายในไทย
มีจุดเริ่มมาจากความนิยมหนังสือการ์ตูน
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ภาพยนตร์จีนชุดเรื่องยาว ที่มาจากการ์ตูนก็ได้รับความนิยมมากขึ้น
สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นก็เริ่มเอาอย่างบ้าง ช่อง 3 จึงต้องไปหาแหล่งใหม่ ย้ายจากไต้หวันมาที่ฮ่องกง
ซึ่งเป็นตลาดภาพยนตร์จีนใหญ่อีกแห่งที่กำลังบุกขยายออกต่างประเทศแข่งกับไต้หวัน
"สมัยแรกๆ เราเริ่มที่ไต้หวัน แต่มาช่วงหลังๆ ฮ่องกงเขามีข้อเสนอของรายการดีกว่า
ไปเผยแพร่ไม่ต้องซื้อ เขาอยากเผยแพร่ให้ติดใจแล้วก็ค่อยมาทำธุรกิจ ไต้หวัน
ข้อจำกัดเยอะอย่างคิวบู๊เขาเข้มงวดมาก" ประวิทย์ย้อนอดีต
ด้วยข้อจำกัดการแข่งขัน และในการผลิตของไต้หวัน ทำให้ "ฮ่องกง" กลายเป็นแหล่งเนื้อหาใหม่
และผลจากการบุกเบิกร่วมกัน ทำให้ช่อง 3 และ "ทีวีบี" บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของฮ่องกง
กลายเป็นพันธมิตรที่ร่วมธุรกิจกันมาจนถึงทุกวันนี้
สายสัมพันธ์อันดีระหว่างช่อง 3 และทีวีบี ถึงกับลงขันจัดตั้งร่วมทุนจัดตั้ง
"ทีวีบี 3 เน็ทเวิร์ค" เพื่อผลิตภาพยนตร์ป้อนผ่านดาวเทียม แต่ธุรกิจนี้ต้องชะลอไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมคือ การผลิตละครเรื่อง Split Second เป็นการผลิตละครร่วมกันเป็นครั้งแรก
ระหว่างช่อง 3 ทีวีบีฮ่องกง และบริษัทบรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น จำกัด ผู้ผลิตในสังกัดช่อง
3 เป็นผู้ร่วมผลิตละครเรื่องนี้และถือว่าเป็นการร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
ฮ่องกง นอกจากจะเป็นแหล่งภาพยนตร์จีนที่สำคัญแล้ว เมื่อครั้งช่อง 3 บุกเบิกข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม
มีจุดเริ่มต้นมาจาก "ฮ่องกง" เนื่องจากช่วงแรกยังไม่ได้ยิงสัญญาณผ่านดาวเทียม
แต่ใช้วิธีบันทึกเทปใส่เครื่องบินมาลงที่ฮ่องกง เป็นจุดศูนย์กลาง จากนั้นต้องบรรทุกใส่เครื่องบินมาที่เมืองไทยอีกทอด
สายสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างช่อง 3 และผู้ผลิตภาพยนตร์ใน "ฮ่องกง" ทำให้เกิดแนวคิด
"หนังไทยคืนสู่เหย้า" ที่ช่อง 3 เป็นผู้คิดแต่ไม่ได้ทำเอง เนื่องจาก "ฮ่องกง"
เป็นแหล่งผลิตและส่งออกภาพยนตร์ ยังเป็นศูนย์ล้างฟิล์มรายใหญ่ ในอดีตผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมักจะส่งไปล้างฟิล์มที่ฮ่องกง
เมื่อมีแนวคิดรวบรวมภาพยนตร์ไทยเรื่องเก่าๆ ที่สูญหายไป จึงต้องไปติดต่อกับแล็บที่ฮ่องกงที่ยังเก็บฟิล์มเนกาทีฟเอาไว้
นี่คือส่วนหนึ่งของเบื้องหลัง และที่มาของภาพยนตร์จีนในอดีตจนถึงปัจจุบัน