กรมธนารักษ์ เตรียมเปิดซองประมูล โครงการ "ร้อยชักสาม" 28 พ.ค.นี้
เผยมีผู้ร่วมแข่งประมูล 8 ราย พร้อมวางเป้าพัฒนาที่ราชพัสดุปี 47 จำนวน 5 แปลง
ที่จังหวัดขอนแก่น กระบี่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครสวรรค์ หวังเพิ่มมูลค่าที่ดินแต่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละจังหวัด
หลังจากที่กรมธนารักษ์ได้ออกประกาศ เรื่อง เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือ ดำเนินการในกิจการของรัฐ
โครงการพัฒนา ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 043314 หรือ แปลงโรงภาษีร้อยชักสาม
บนเนื้อที่ 5 ไร่ 60 ตารางวา เขตบางรัก กรุงเทพมหานครไปแล้วนั้น นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ
อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความ คืบหน้าการประมูลโครงการดังกล่าวว่า เมื่อวันที่
20 พฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา ถือเป็นการสิ้นสุดการขายเอกสารการประมูล โดยตลอดระยะเวลาที่เปิดขายเอกสารตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลทั้งสิ้น จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท พงษ์สินค้าวัสดุ
จำกัด 2. บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท เพลินจิตเรียลเอสเตท จำกัด
4. บริษัท ที.ซี.ซี จำกัด 5. บริษัท โรงแรม โอเรียนเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
6.บริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด
(มหาชน) และ 8. บริษัทเกรทแฮริทิจ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ ได้กำหนดให้ผู้ซื้อเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูล รับฟังคำชี้แจงของคณะกรรมการซึ่งทางราชการแต่งตั้งให้มีหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลในวันที่
24 พฤษภาคม 2547 นี้ จากนั้นจะจัดให้มีการดูสถานที่ดำเนินการในวันที่ 25 พฤษภาคม
และจะทำการเปิดซองประมูล รวมทั้งเซ็นสัญญา ในวันที่ 28 พฤษภาคม
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ผู้ที่ชนะการประมูล สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน 60
วันนับจากวันรับซองประมูล ซึ่งเชื่อว่า 2 ปีถัดไปโครงการดังกล่าวน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทดังกล่าวข้างต้นนั้น นายวิสุทธิ์
กล่าวว่า กรมได้กำหนดเงื่อนไขผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินขั้นต่ำไว้ชัดเจน ซึ่งมี 3
เงื่อนไขหลัก ได้แก่ 1. ผู้เข้าร่วมประมูล ต้องก่อสร้างอาคารชดเชยให้แก่หน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และ กรมศุลกากร ตามแบบแปลนรายการ และแผนผังที่ทางราชการกำหนด พร้อมทั้งออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับค่าเช่าที่ทำการของหน่วยงานและค่าเช่าที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนค่าขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และทางราชการ (หากมี) รวมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 175 ล้านบาท
2.ผู้เข้าประมูลจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงินให้แก่กระทรวงการคลัง โดยเป็นเงินค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทน ด้านค่าเช่าตลอดระยะเวลา 30 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่ต่ำกว่า
50 ล้านบาท โดยใช้อัตราคิดลด 5.125% พร้อมแผนกำหนดเวลาชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนด้านค่าเช่าตลอดเวลา
30 ปี
ส่วนหลักเกณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณ
จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารโรงแรมบนที่ดิน โดยไม่ขัด หรือแย้งต่อ พระราชบัญญัติโบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และต้องเสนอโครงการปลูกสร้างอาคารโรงแรมและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
(ถ้ามี) ให้กับกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ในการปรับปรุงพัฒนาโครงการดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกลมกลืนกับอาคาร
โบราณที่มีอยู่เดิม รวมทั้งต้องเสนอสร้างเขื่อนกั้นดินตามแนวเขตที่ดินติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
"เงื่อนไขทางการเงินไม่แตกต่างกันมาก เพราะทุกรายจะเสนอต่ำกว่าที่กำหนดไม่ได้
ดังนั้น ในการพิจารณาเราจะให้น้ำหนักในเรื่องรายละเอียด เทคนิค ประสบการณ์มากกว่า"
นายวิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทที่ซื้อซอง ประมูลทั้ง 8 ราย ล้วนมีชื่อเสียงอยู่ในแวดวงพัฒนาที่ดิน
และการบริหารโรงแรม ขณะที่ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
อย่างมาก เนื่องจากเคยใช้เป็นที่เฉลิมฉลองของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จกลับจากยุโรป
และมีความงดงามของสถาปัตยกรรมโปรตุเกส จึงมั่นใจว่า หลังจากเปิดให้บริการแล้วจะได้รับความ
สนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับความคืบหน้าการทำแผนแม่บทการ พัฒนาที่ราชพัสดุทั่วประเทศนั้น นายวิสุทธิ์
กล่าวว่า ในปี 2547 นี้ กรมได้วางเป้าหมายเลือกที่ราช พัสดุสำหรับการพัฒนาไว้ 5
แปลง ประกอบด้วยที่ราชพัสดุ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกระบี่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา 2 แปลงคือ ที่จังหวัดขอนแก่น
และที่จังหวัดกระบี่
ในจังหวัดขอนแก่น ได้ประชุมคณะกรรมการในพื้นที่ พร้อมทั้งดูสถานที่ก่อสร้าง และได้ข้อคิดเห็นเบื้องต้นว่า
การทำโครงการดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้อง ดูยุทธศาสตร์ของจังหวัดว่าเป็นไปในทิศทางใด
เช่น ถ้าจะเป็นไอทีซิตี้ ที่ดินแปลงที่จะพัฒนาอยู่ตรงข้ามโรงเรียน มีปัญหาด้านการจราจรอยู่บ้างเล็กน้อย
แต่ว่าสามารถใช้วิธีการทางเทคนิคปรับแต่งได้ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของคนในท้องถิ่น
อาจจะทำเป็นสถาบันกวดวิชา เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองมหาวิทยาลัยและ มีโรงเรียนอยู่บริเวณโดยรอบ
ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดูความรอบคอบการพัฒนาพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งที่ราชพัสดุดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่
ส่วนแปลงที่มีความยุ่งยากซับซ้อนจะมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกำกับ
อาทิ ผังเมือง จราจร สิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) ร่วมพิจารณา
"การทำงานในเรื่องนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่มและหลายหน่วยงาน
จึงใช้การทำงานในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งแปลงที่เหลือ การวางผังต้องใช้เวลาพอสมควร
ถ้าโครงการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก็จะเร่งออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพัฒนาพื้นที่ต่อไป"
นายวิสุทธิ์ กล่าว