พอร์ตหุ้นจองกบข.ปีนี้ให้กำไร 42 ล้านบาท อารียา, ซีเอสล็อกอินโฟ, เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง
เจอภาวะตลาดผันผวนดัชนีทรุดตัวลงราคารูดต่ำจองหมด โชคดีได้หุ้นจองทอท. จำนวน 7
ล้านหุ้นทำกำไรตัวเดียวที่เหลือขาดทุนรวด ด้าน "วิสิฐ" กบข.เผยผลตอบแทนสุทธิสะสมย้อนหลัง
5 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 8.6% ส่วนตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนสะสม 12 เดือนอยู่ที่ 9.15%
โดยสูงกว่า อัตราผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 ธนาคาร ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่
1.25% เท่านั้น
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
แจ้งถึงผลการเสนอขายหุ้นจองที่กระจายหุ้นช่วงปี 2547 ที่ผ่านมาปรากฏว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(กบข.) ได้รับการจัดสรรหุ้นจอง 4 บริษัทปรากฏว่ามีกำไรจากการลงทุนจำนวน 42.539
ล้านบาท ซึ่งกำไรที่ได้มาจากหุ้น การท่าอากาศยานซึ่งเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ และมีกำไร
66.50 ล้านบาท ขณะที่อีก 3 บริษัทได้แก่หุ้นบริษัทเอ็นซี เฮ้าส์ซิ่ง,บริษัทอารียา
พรอพเพอร์ตี้ และบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ ราคาล่าสุด ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าจอง
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นโดยรวมที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กบข.ได้รับการจัดสรรหุ้นการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) (AOT) ซึ่งได้รับการจัดสรรจำนวน
7 ล้านหุ้นหรือ 1.70% คิดเป็นมูลค่า เงินลงทุน 294 ล้านบาทเป็นอันดับที่ 5 ในราคาจองหุ้นละ
42 บาทซึ่งเทียบกับราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.50
บาท มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 360.5 ล้านบาท มีกำไร 66.5 ล้านบาท
สำหรับนักลงทุนสถาบันหรือนิติบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้น ทอท.มากสุด ได้แก่
Merrill Lynch Pierce Fenner&Smith lnc. ได้รับการจัดสรรจำนวน 60 ล้านหุ้น
หรือ 14.54% มูลค่าเงินลงทุน 2,520 ล้านบาท
นอกจากนี้ กบข.ยังได้รับการจัดสรรหุ้นบริษัทเอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง (NCH) ได้รับการจัดสรรจำนวน
1 ล้านหุ้น หรือ 2.50% มูลค่าเงินลงทุน 20 ล้านบาทเป็นอันดับที่สอง ในราคาจองที่หุ้นละ
20 บาทเทียบกับราคาล่าสุดอยู่ที่ 8.85 บาท มูลค่าเงินลงทุนลดลงเหลือ 8.85 ล้านบาท
ขาดทุน 11.15 ล้านบาท
นักลงทุนสถาบันที่ได้รับการจัดสรรหุ้นบริษัทเอ็น.ซี เฮ้าส์ซิ่งมากที่สุด ได้แก่
BEAR STEARNS INTERNATIONAL LIMITED PRORIETART ACCOUNT จำนวน 7.74 ล้านหุ้น หรือ
19.35% มูลค่าเงินลงทุนจำนวน 154.80 ล้านบาท
หุ้นบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ได้รับ การจัดสรรจำนวน 913,700 หุ้นหรือ 0.73%
มูลค่าเงินลงทุน 8.223 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 4 จากราคาจองหุ้นละ 9 บาทเทียบกับราคาล่าสุดอยู่ที่
8.90 บาท มูลค่าเงินลงทุนเหลือ 8.132 ล้านบาทขาดทุน 0.091 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันที่ได้รับการจัดสรรหุ้นบริษัทซีเอส
ล็อกซอินโฟมากสุดได้แก่ DBS VICKERS SECURITIES (SINGAPORE) PTE LTD จำนวน 20.192
ล้านหุ้นหรือ 16.15% มูลค่าเงินลงทุน 181.735 ล้านบาท
หุ้นบริษัทอารียา พรอพเพอร์ตี้ ซึ่งกบข. ได้รับการจัดสรรจำนวน 3 ล้านหุ้นหรือ
3.82% มูลค่าเงินลงทุน 27 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 2 จากราคา จองที่กำหนดไว้หุ้นละ
9 บาทเทียบกับราคาล่าสุด อยู่ที่ระดับ 4.76 บาทมูลค่าเงินลงทุนลดลงเหลือ 14.28
ล้านบาท ขาดทุนจำนวน 12.72 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันที่ได้รับการจัดสรรมากสุดได้แก่
กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทยอิควิตี้ฟันด์ ได้รับการจัดสรรจำนวน 3.62 ล้านบาท หรือ 4.61%
มูลค่าเงินลงทุน 32.581 ล้านบาท
สำหรับหุ้นใหม่ที่เข้ามาซื้อขายในตลาด หลักทรัพย์นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบันประกอบด้วยบริษัทควอลิตี้คอนสตรัคชั่น โปรดักส์ (Q-CON), บริษัทสหโคเจน (ชลบุรี), บริษัทแกรนด์แอสเสท, บริษัทตะวันออกพาณิชย์ลิสซิ่ง,
บริษัทปิโก(ประเทศไทย), บริษัทบิสซิเนสออนไลน์, บริษัทเอสแพ็คแอนด์พริ้นท์, บริษัทท่อากาศยานไทย,บริษัทอารียาพรอพเพอร์ตี้, บริษัทเอ็นซีเฮ้าส์ซิ่ง, บริษัทซีเอส ล็อกซ อินโฟ และบริษัทนวนคร
วานนี้ (20 พ.ค.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ประกาศตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนสะสม
12 เดือน (เมษายน 2546 - มีนาคม 2547) เท่ากับร้อยละ 9.15 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่ 5 ธนาคาร เฉลี่ยร้อยละ 1.25 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.80 นับได้ว่า
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ยังมีผลประกอบการที่ดีมากในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาสที่ 1/2547 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสินทรัพย์สุทธิจำนวนทั้งสิ้น
241,620.27 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนสุทธิสะสมย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2542-2546)
เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ซึ่งในการติดตามผลประกอบการของกองทุนเงินออมระยะยาวอย่างเช่น
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นอกจากจะติดตามผลประกอบการย้อนหลัง 12 เดือนแล้ว ควรติดตามผลประกอบการย้อนหลังไปไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย เพื่อให้สะท้อนภาพผลตอบแทนในระยะยาวของ กองทุนเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ
สำหรับสัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการยังคงยึดมั่นความมั่นคง
และปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก โดยมีการกระจายสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 35 ตราสารหนี้ร้อยละ 25 และเงินฝากธนาคารร้อยละ 21 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตราสารทุนร้อยละ
13 อสังหาริมทรัพย์และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ร้อยละ 6 จากสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน
2.4 แสนล้านบาท
ในจำนวนนี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการยังได้จัดสรรเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท
ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยลงทุนรูปของหน่วยลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนของไทยที่มีพันธมิตรต่างประเทศ
ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับสมาชิก
และเป็นโอกาสขยายการลงทุนไปสู่การลงทุนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลังนั้น ปัจจัยภายนอกประเทศหลายประการ เช่น การปรับตัวสูงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่จะมีผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลกและประเทศไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญ
ข้าราชการ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้แก่สมาชิกภายใต้กรอบนโยบายการลงทุนที่กำหนด
โดยคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ คณะอนุกรรมการ และการวิเคราะห์ติดตามโดยผู้บริหาร
และพนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ยังคงยึดหลักธรรมาภิบาลหรือแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการประสบความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกองทุนเงินออมระยะยาวของประเทศต่อไป