"ข้อมูลเครดิตไทย" เห็นพ้องกระทรวงการคลังรวมเครดิตบูโร ยืนยันพร้อมควบรวมตลอดเวลา
แต่ต้องเกิดประโยชน์ต่อลูกค้าและผู้บริโภค ด้านผู้ประกอบการ "เซทเทเลม"
เผยยอดปฏิเสธสินเชื่อลูกค้าที่ยื่นขอพุ่งถึง 19.82% หลังผ่าน การตรวจข้อมูลเครดิต
มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคลดภาระหนี้สินเกินตัว ส่วนเกณฑ์ควบคุมบัตรเครดิต
แบงก์ชาติไม่กระทบธุรกิจ
นายสัมมา คีตสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย จำกัด หรือ Thai Credit
Bureau (TCB) เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมและเห็นด้วยที่ทางกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะรวมกิจการของบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง
2 แห่ง คือ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง(CCIS)ให้เหลือเพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นข้อเสนอรายละเอียดของบริษัทเพื่อให้กระทรวง การคลังพิจารณาแล้ว
การที่จะให้มีการรวมกิจการถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก เพราะหากมีเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลเครดิตและมีฐานข้อมูลที่ละเอียด
ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การอนุมัติสินเชื่อและพิจารณาข้อมูลเครดิตก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
รวมถึงค่าบริการที่จะลดลงในอนาคตและเกิดความยุติธรรมแก่ลูกค้าของบริษัท
"โดยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทีซีบีสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองและมีผลกำไรทุกเดือน
ปริมาณการของตรวจสอบข้อมูลของทีซีบีมีถึง 85% จากยอดการตรวจสอบทั้งระบบ ซึ่งหากมองจากปริมาณประชากรกว่า
60 ล้านคน ครึ่งหนึ่งมีสิทธิในการของ สินเชื่อและอีก 15 ล้านคนมีรายชื่อในระบบการเงิน
โดยอยู่ในบัญชีของทีซีบีกว่า 8 ล้านคน หรือกว่า 50% ของระบบ ดังนั้น หากมีการรวมกิจการเครดิตบูโรเกิดขึ้นจริงก็อยากให้มีคุณภาพออกมาดีและมีประโยชน์สูงสุด
ทั้งต่อสามาชิก ผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศ" นายสัมมากล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันทีซีบีมีสมาชิกกว่า 50 ราย หรือคิดเป็น 15 ล้านบัญชี โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภค
มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และการให้บริการของทีซีบีถือว่ามีความทันสมัยและใช้มาตรฐานเดียวกับทั่วโลก
โดยบริการใหม่ที่ทีซีบีนำมาให้บริการคือ CPU-to-CPU connection เพื่อตรวจสอบข้อมูลเครดิต
แบบ Real Time และเน้นปริมาณที่มาก ซึ่งให้ความสะดวกกว่าระบบเดิม ที่ใช้และไม่ได้คิดค่าบริการเพิ่มจากสมาชิกแต่อย่างใด
นายเปโดร โรดริเกส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด
กล่าวว่า หลังจาก ที่บริษัทได้ใช้บริการตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง
2 แห่ง ยอดการปฏิเสธการขอสินเชื่อของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 11.87% ในเดือนมีนาคม 2547
เป็น 19.82% ในเดือนเมษายน 2547 ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
การที่เซทเทเลมปฏิเสธการขอสินเชื่อในปริมาณมากโดยหลักเพราะลูกค้ามีหนี้สินล้นพ้นตัวบริษัทเห็นว่าคงไม่สามารถชำระหนี้ได้และลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อรายนั้นเป็นบุคคลที่สถาบันการเงินแห่งอื่นตัดรายชื่อเป็นหนี้เสียเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น จึงสามารถประเมินได้ว่าการใช้ข้อมูลเครดิตถือเป็นปัจจัยชี้วัดว่าควรจะอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ารายนั้นหรือไม่
"หากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคไม่ใช้ข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโรแห่งใดเลยก็เปรียบเสมือนคนตาบอดที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้
ที่ประเทศ เกาหลีใต้ประสบวิกฤตด้านสินเชื่อผู้บริโภคก็เพราะไม่มีเครดิตบูโรที่มีประสิทธิภาพ
แสดงผลเฉพาะหนี้เสียที่เกิดขึ้นไม่มีข้อมูลหนี้ดีปรากฏ อยากให้ผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อทุกราย
มาเป็นสมาชิกของข้อมูลเครดิต และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เพื่อการพัฒนา ระบบสถาบันการเงินของประเทศ"
นายเปโดร กล่าว
นายเปโดรกล่าวว่า เกณฑ์การ ควบคุมบัตรเครดิตที่ทางธนาคารแห่ง ประเทศไทย(ธปท.)ประกาศใช้ในช่วง
1 เดือนที่ผ่านมานั้น ถือว่าไม่มีผลกระทบการทำธุรกิจของเซทเทเลมแต่อย่างใด เพราะหลักเกณฑ์ต่างๆ
นั้นสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของเซทเทเลมอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เซทเทเลมต้องปรับแผนธุรกิจและเป้าหมายในการดำเนินงาน
ส่วนตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของเซทเทเลมที่มีอยู่สูงถึง 8-9%
นั้น เนื่องจากเซทเทเลมเริ่มตัดหนี้เป็นหนี้เสียหลังจากครบรอบการชำระเงินในใบแจ้งหนี้ครั้ง
แรก ทั้งนี้ เซทเทเลมได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการให้บริการทั่วโลกและผู้ ประกอบการชั้นนำในยุโรปก็ใช้มาตรฐาน
นี้เช่นเดียวกัน
"ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างของเซทเทเลมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท
ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2546 และคาดว่าในปี 2547 ยอดสินเชื่อก็น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับระดับนี้
ทั้งนี้สาเหตุที่สินเชื่อขยายตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ เนื่องจากเซทเทเลมเน้นการอนุมัติสินเชื่อที่มีคุณภาพ
ไม่เน้นปริมาณการปล่อยสินเชื่อในจำนวนที่มากแล้วกลายเป็นเอ็นพีแอลในที่สุด"
นายเปโดรกล่าว