ศาลรับคำร้อง ขอแก้ไขแผน MGR พร้อมนัดฟังคำสั่ง 7 มิถุนายนนี้ หลังเจ้าหนี้ ไม่ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการ
ฉบับแก้ไขใหม่ เดินหน้าทำกำไร 3 ไตรมาสติดต่อ เพื่อออกจากหมวด REHABCO ในปีนี้
เตรียมยกระดับเป็น MULTI-MEDIA ครบวงจร โดยการ swap หุ้นกับบริษัท ไทยเดย์ ด็อท
คอม จำกัด
นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ในฐานะผู้บริหารแผน บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย
กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MGR) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน-รายสัปดาห์-รายเดือน
รวมถึงสิ่งพิมพ์ชั้นนำอื่นๆ เปิดเผยว่า วานนี้ (10 พ.ค.)ศาลแพ่งได้นัดพิจารณาคำร้อง
ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่
17 กุมภาพันธ์ 2547 ในการนัดพิจารณาครั้งนี้ไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำร้องขอคัดค้านการแก้ไขแผน
ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 มิถุนายน ศกนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไขทางผู้บริหารแผนฯ จะดำเนินการเพิ่มทุน
และลดทุนในคราวเดียวกัน โดยบริษัทฯได้ยื่น เรื่องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว 4
ขั้นตอน จาก 11 ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จ การที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จะต้องเร่งแก้ไข
แผนฟื้นฟูกิจการนี้เนื่องจากต้องการ ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต่อไป และเพื่อผลทางภาษี
และดอกเบี้ยที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้
โดยหลักการในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ MGR ประกอบด้วย
การควบรวมกิจการด้านโทรทัศน์ วิทยุ สื่ออิเล็กทรอนิกส์กับกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ธุรกิจเป็นMULTI-MEDIA
ครบวงจร โดยการ swap หุ้นกับ บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด
นอกจากนี้ MGR ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้เจ้าหนี้มีประกัน
และเป็นทุนหมุนเวียนกิจการ พร้อมกับเดิน หน้าดำเนินการออกจากกลุ่มแก้ไขการดำเนินกิจการ
(REHABCO) โดยการทำให้ผลประกอบการกิจการรวมทั้งกิจการ มี NET-WORTH เป็นบวก และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน
3 ไตรมาสติดต่อ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
เชื่อ 15 บริษัทในหมวดฟื้นฟูกิจการ (Rehabco) รวมถึงแมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป (MGR)
มีสิทธิ์ย้ายกลับหมวดปกติ คือหมวดสิ่งพิมพ์ ได้ภายในปีนี้ คาดไตรมาสแรกปี 2549
ไม่เหลือบริษัทใน Rehabco อีก
เขากล่าวว่า ตลท. เชื่อมั่นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในหมวด Rehabco สถานการณ์ดีขึ้นมาก
เผยผลสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้มูลค่าตลาดรวม (Market
Capitalization) บริษัทที่ย้ายไปหมวดปกติ และที่เปิดซื้อขายใน Rehabco สูงกว่า
176,000 ล้านบาท ณ 2 เม.ย.
นายกิตติรัตน์เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ตั้ง บจ.หมวด Rehabco ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.
2541 เป็นต้นมาเพื่อให้ บจ.ที่ประสบภาวะวิกฤติ และส่งผลกระทบสถานะการเงิน บจ.รุนแรง
จนเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจาก ตลท.มีโอกาสฟื้นฟูกิจการ เพื่อแก้ไขปัญหาบริษัท มีบริษัทย้ายมาอยู่หมวด
Rehabco รวม 95 บริษัท
ช่วงปี 2541-2545 กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในระบบล่าช้า จนเป็นเหตุให้ บจ.
หมวด Rehabco 29 บริษัทถูกเพิกถอน บางส่วน ขอเพิกถอนโดยสมัครใจ มีเพียง 9 บริษัท
ในเวลา 5 ปี ที่สามารถฟื้นฟูกิจการสำเร็จ และย้ายกลับหมวดเดิมได้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์บริษัทหมวด Rehabco แนวโน้มดีขึ้นมาก ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
เฉพาะช่วงปี 2546 บริษัทย้ายกลับหมวดปกติถึง 10 แห่ง ทำให้ปัจจุบัน มีบริษัทหมวด
Rehabco เหลือ 44 บริษัท
สถานการณ์ที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ดังกล่าว เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ประกอบกับการใช้มาตรการเชิงรุกของ
ตลท. ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2545 เพื่อช่วย บจ.ปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูกิจการ
เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ถือหุ้นสาธารณชน พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์ และนโยบายของ
ตลท.ชัดเจนต่อแนวทางฟื้นฟูกิจการบริษัทหมวด Rehabco โดยเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เห็นประโยชน์จากการใช้ตลาด ทุนเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา
"ตลท.ได้กำหนดแนวทางดำเนินการกับบริษัทในหมวด Rehabco โดยเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้
ที่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทในหมวด Rehabco ซึ่งมีอยู่กว่า
120,000 ราย ที่เคยได้รับความเสียหายจากการลงทุนในบริษัทดังกล่าว ได้มีโอกาสได้มูลค่ากลับคืนตามสมควร"
นายกิตติรัตน์กล่าว
ด้านนายศรายุทธ บุญเจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลท. ดูแลงานการปรับโครงสร้างหนี้
บจ. กล่าวว่า "นับตั้งแต่ เม.ย.นี้ ตลท. มีเป้าหมายว่า จะมีบริษัทที่ย้ายกลับไปซื้อขายในหมวดปกติได้ประมาณ
15 บริษัท จาก 44 บริษัทในปัจจุบัน ทำให้บริษัทในหมวด Rehabco จะเหลือ 29 บริษัท
จำนวนนี้มีบริษัทที่จัดทำแผนฟื้นฟูที่เหมาะสมแล้ว และรอผลการดำเนินงานให้เป็นไป
ตามเกณฑ์ที่ ตลท. กำหนดเพื่อย้ายกลับหมวดเดิม 12 บริษัท คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณ
5-6 บริษัท ภายในไตรมาส 2 ปี 2547"
นายศรายุทธกล่าวต่อว่า ความสำเร็จการเพิ่มทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างหนี้จะเห็นได้จากความสามารถของบริษัทหมวด Rehabco ที่สามารถระดมเงินทุนเพิ่มได้ถึง 116,724 ล้านบาท แบ่งเป็นแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ
97,592 ล้านบาท