กระทรวงพาณิชย์เบรกพ่อค้าฉวยโอกาส ยันขึ้น ราคาน้ำมันเบนซินไม่มีผลต่อราคาสินค้า
แต่ยอมรับปรับราคาก๊าซกระทบเงินในกระเป๋าประชาชนจ่ายเพิ่มอีกวันละ 50 สต. หอการค้าขานรับเป็นทางออกที่ดีที่สุดเชื่อไม่กระทบค่าครองชีพคนส่วนใหญ่ ผู้จัดการตลาดหุ้นชี้ต้นทุนผลิตบริษัทจดทะเบียนกระทบไม่มาก ด้านคลังระบุภาระของรัฐบาลลดลง ขณะที่แบงก์ชาติให้จับตาค่าน้ำ-ค่าไฟพาเหรดขึ้นช่วงกลางปี
จากการปรับเพดานการตรึงราคาน้ำมันเบนซินของรัฐบาลพร้อมกับการประกาศปรับราคาก๊าซหุงต้ม
อีกกิโลกรัมละ 1 บาท วานนี้ (6 พ.ค.)
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าเพราะน้ำมันเบนซินไม่ได้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า
ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใดที่อ้างเรื่องน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นและขอปรับราคาสินค้า
กรมฯจะไม่รับพิจารณา เพราะถือว่าไม่มีเหตุผล
ส่วนการปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นอีกกก.ละ 1 บาท ยอมรับว่า มีผลกระทบต่อครัวเรือนที่ใช้ก๊าซหุงต้มขนาดบรรจุ
15 กก. โดยจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกวันละ 50 สตางค์ อาหารสำเร็จรูป ข้าวราดแกง
ก๋วยเตี๋ยว ราคาเพิ่มขึ้นจานละ 3 สตางค์ และรถแท็กซี่ ซึ่งเฉลี่ยใช้ก๊าซวันละ 40
กก. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นวันละ 40 บาท สามารถวิ่งได้ 600 กม. จึงมีผลกระทบ 67
สตางค์ต่อกม.
นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
กล่าวว่า ก่อนมีการปรับราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้มีการหารือ กับสำนักดัชนีฯ
แล้วว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราเงิน เฟ้อมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการพิจารณาการปรับขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซินอีกลิตรละ 60 สตางค์มีผลกระทบ ต่อเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย เพราะน้ำมันเบนซิน
จะกระทบกับคนที่ใช้รถยนต์เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าขึ้นน้ำมันดีเซล แน่นอนว่าจะกระทบกับราคาสินค้า
และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซล ผลกระทบตรงนี้เลยไม่เกิด
ส่วนการปรับราคาก๊าซหุงต้มอีก กก.ละ 1 บาท จากการพิจารณาจะกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้ก๊าซในครัวเรือน
และกระทบโดยอ้อมต่อผู้ใช้ก๊าซ ในการปรุง อาหาร ซึ่งอาจจะมีผลต่อเงินเฟ้อบ้าง แต่ไม่มาก
เพราะน้ำหนักของก๊าซในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อมีแค่ 0.48% เท่านั้น
ด้านนายวิโรจน์ อมตกุลชัย รองประธานกรรม การหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับราคาน้ำมันเบนซิน
ขึ้นอีกลิตรละ 60 สตางค์ คงไม่มีผลกระทบมากนักต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพ เพราะปรับขึ้นแล้วก็ยังต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นซึ่งเกือบลิตรละ
20 บาท และขณะนี้รัฐบาลก็ยังตรึงราคาไว้
"เป็นทางออกที่ดีและเหมาะที่สุด เพราะไม่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นวัตถุดิบในการผลิต
แต่น่าจะกระทบกับชนชั้นกลาง คนใช้รถ ผู้บริหารธุรกิจที่มีอันจะกินมากกว่า"
นายวิโรจน์กล่าว
คาดกระทบบจ.เล็กน้อย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลัก ทรัพย์ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุน
และ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่มาก เนื่องจากภาคการผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับ
สูงถึง 80% สะท้อนว่า บจ.มีอัตรารายได้ที่สูงขึ้นมากกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำมันจึงไม่น่าจะทำให้ผลการ
ดำเนินงานของบริษัทของ บจ.เพิ่มขึ้นมากนัก
นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ในส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นที่ซบเซาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยเดิม
แต่เมื่อราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยต่างๆ แล้ว และรับรู้ปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่ค่อนข้างดี
จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจ ตลาดผู้ลงทุนควรลงทุนใช้ดุลยพินิจในการลงทุนให้มากขึ้น
และไม่ควรให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ระยะสั้นมากนัก และควรพิจารณาตลาดหุ้นเพื่อนบ้านด้วย
ทั้งนี้ดัชนีตลาดก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 3
คลังชี้ลดภาระรัฐบาล
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
กล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน 60 สตางค์ คือจากเดิม 16.99 บาทต่อลิตร เป็น
17.59 บาทต่อลิตรนั้น ถือว่าเป็นกลไกของตลาดน้ำมันในประเทศ ที่จะต้องมีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันตลาดโลก
ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลได้มีการตรึงราคามานานพอสมควรแล้ว และเมื่อรัฐบาลยอมขยายเพดานราคา
ถือว่าเป็นการบริหารงานอย่างหนึ่งของรัฐบาล ซึ่งช่วยลดภาระในการใช้จ่ายของรัฐบาลได้มากพอสมควร
สำหรับผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจนั้น นายสมชัยกล่าวว่า โดยปกติในการคาดการณ์การขึ้นราคา
น้ำมันของทุกสำนักวิจัย จะมีการคาดการณ์คร่าวๆ ว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล จะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)
0.02% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยและไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ไม่น่าจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ
ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับน้ำมันมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซิน
"ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้น กรณีที่เกรงกันว่า
ราคาสินค้าในท้องตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นนั้น คิดว่าคงไม่เพิ่ม สูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นคนละส่วนกัน
ซึ่งในส่วนนี้ผู้ใช้รถส่วนบุคคลจะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ก็ถือว่าไม่เสียหายมากนัก"
นายสมชัย กล่าว
แบงก์ชาติให้จับตาค่าน้ำ-ค่าไฟ
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเป็นสัญญาณที่อาจกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ
เพราะแรงกดดันด้านราคาของไทยในช่วง 2547 นี้จะเป็นช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน เพราะได้รับแรงกดดันด้านต้นทุนจากต่างประเทศ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงสูงเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้สินค้าและบริการที่ทางการควบคุมราคาจะปรับตัวเพิ่ม
ขึ้นตามในระยะต่อไปโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาใน กลางปี 2547 ส่วนราคาสินค้าประเทศ
อาหารสดก็ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งราคาอาหารสดและพลังงานที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป
และต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป
แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้าน ราคาดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานน่าจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 0-3.5 % ต่อปี