ไอเอฟซีที ตีรวน ผู้ถือหุ้นออกเสียงเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ครบ
75% "สมหมาย ภาษี" ระบุแผนควบรวมไม่สะดุด ทหารไทย-ดีบีเอสไทยทนุ-ไอเอฟซีที ดำเนินการควบรวมกิจการตามแผนแน่ เตรียมให้ทหารไทยตั้งโต๊ะแลกหุ้น ด้านทหารไทยกำหนดแผนล้างขาดทุน สะสม 56,000 ล้านบาท
ภายใน 1 ปี นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นยังอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับควบรวมกับ 2 สถาบันการเงิน
วานนี้ (29 เม.ย.) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน)
และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ได้ประชุมผู้ถือหุ้นและขอมติควบรวมกิจการกันตามแนวทางที่ได้ลงนามควบกิจการ ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ทั้ง 3 แห่ง มีมติให้ดำเนินการได้ตามที่เสนอ
นายสมหมาย ภาษี ประธาน กรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟ ซีที)
เปิดเผยภายหลังการประชุม ผู้ถือหุ้นว่า ในการประชุมเมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมจำนวน
66.17% ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยไอเอฟซีทีได้ขออนุมัติให้เพิกถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นอนุมัติด้วยความสมัครใจจำนวน 64.67% คิดเป็น 468 ราย หรือคิดเป็น
98% ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด ที่มาประชุม ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหุ้นของกระทรวงการคลัง
ธนาคาร ออมสิน และธนาคารกรุงไทย 44.2% ไม่อนุมัติ 1.15% คิดเป็น 33 ราย ไม่ออกเสียง
0.15% คิดเป็น 26 ราย และมีผู้ถือหุ้นอีก 3 รายเป็นบัตรเสีย
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปธนาคาร ทหารไทยจะต้องดำเนินการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด
(Tender Offer) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2547
หากสามารถ รับซื้อหุ้นได้เกินสัดส่วน 75% จะมีการจัดประชุมวิสามัญของ IFCT อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอมติโอนกิจการ
ทรัพย์สิน และพนักงานทั้งหมดให้กับธนาคารทหารไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเรียกประชุมได้ประมาณต้นเดือน
สิงหาคม 2547
"จำนวนหุ้นที่ไม่ครบ 75% เนื่องจากหุ้นกว่า 18% อยู่ในธุรกิจ รับฝากหลักทรัพย์
หรือคัสโตเดียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ โดยปกติผู้ถือหุ้นเหล่านี้จะไม่เข้ามาประชุม
และอีกกว่า 10% เป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง แต่เชื่อมั่นว่าการรับซื้อหุ้นคืนของทหารไทยจะสามารถทำได้เกิน
75% อย่างแน่นอน เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปแล้ว หุ้นที่เหลือราคาก็จะลดค่า ลง"
นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมายกล่าวต่อว่า หาก IFCT ไม่ได้มีนโยบายในการควบรวมกิจการ หรือเพิ่มทุน
ภายในไตรมาสที่ 2 จะไม่สามารถ ดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจาก เงินกองทุนอยู่ในอัตราต่ำกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ซึ่งจะไม่สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อได้ แต่เมื่อควบรวมกับ 2 สถาบันแล้วจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ระดับ 9% กว่า ก็สามารถจะดำเนินกิจการต่อไปได้
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นใหญ่ประจำปีว่าธนาคารจะพิจารณา แผนการล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 56,000 ล้าน บาท ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาแนวทางประมาณ 1 ปี แต่ในระยะนี้ธนาคารยังคงดำเนินการเกี่ยวกับการควบรวมกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ
และไอเอฟซีทีไปก่อน
"การล้างขาดทุนสะสมจะไม่ใช้วิธีการนำกำไรสุทธิของแต่ละปีมาล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่
เพราะหากใช้กำไรในส่วนนี้แล้ว ธนาคารจะต้องใช้เวลาในการล้างขาดทุนสะสมประมาณ 7-8
ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปสำหรับผู้ถือหุ้น แต่ธนาคารพยายามจะหาแนวทางอื่นมาล้างขาดทุนสะสม
ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาและภายหลังจากการควบรวมกิจการแล้วจะทำให้ยอดขาดทุนสะสมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับเดิม
สำหรับยอดการสำรองของธนาคารในปัจจุบันมีประมาณ 10,000 ล้านบาท อาจจะเป็นส่วน หนึ่งที่จะนำมาใช้ในแผนการล้างขาดทุนสะสม" นายสุภัค กล่าว
นายสุภัค กล่าวอีกว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้นำ 2 สถาบันการเงินดังกล่าวเข้ามาควบรวมด้วย
พร้อมกับมีมติเพิ่ม ทุนจดทะเบียนของธนาคารจาก 104,000 ล้านบาท เป็น 181,000 ล้านบาท
โดยการออกหุ้นใหม่จำนวน 7,700 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นที่รองรับการแปลงสภาพของธนาคารดีบีเอสไทยทนุและไอเอฟซีทีจำนวน 4,900 ล้านหุ้น ที่เหลืออีก 2,800 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต หากภาวะตลาดเอื้ออำนวย
โดยจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนหลังรวมกิจการอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ภายหลังการควบรวม กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนหุ้นจากเดิมร้อยละ
40 เหลือร้อยละ 30 ธนาคารดีบีเอสสิงคโปร์จะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 16 กองทัพไทยถือหุ้นลดลงจากร้อยละ
13-14 เหลือร้อยละ 7 กลุ่มไทยประกันชีวิตถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 3 และนายพานทองแท้
ชินวัตร ลดสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยะ 4 เหลือร้อยละ 2.68 และจากการหารือกับดีบีเอส
สิงคโปร์ ยังไม่มีนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นร้อยละ 20 ตามที่เป็นข่าว