Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน30 เมษายน 2547
"สยามกลการ"ลุยอสังหาฯ ชูภาพลักษณ์สถาบันดนตรี             
 


   
search resources

สยามกลการ, บจก.
นิสสัน มอเตอร์
สยามนิสสัน ออโต้โมบิล, บจก.
สยามกลการและนิสสัน
พรเทพ พรประภา
Automotive




สยามกลการ เตรียมสยายปีกรุกธุรกิจอื่นๆ หลังขายหุ้นใหญ่นิสสัน เล็งรุกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง และได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นเชนสนามกอล์ฟระดับโลกแล้ว เพื่อพัฒนาสยามคันทรีคลับ พัทยา คาดจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ประกาศชูภาพลักษณ์เป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านดนตรีครบวงจรแทนนิสสัน เหตุทิศทางสดใส สามารถเจาะเข้าถึงคนไทยได้เป็นรูปธรรมชัดเจน แม้รายได้หลักกว่าหมื่นล้านบาทยังเป็นกลุ่มอุตฯยานยนต์

หลังจากกลุ่มสยามกลการได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ใน บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด และบริษัท สยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ให้กับนิสสัน มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น ไปด้วยมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านบาท และเหลือสัดส่วนหุ้นเพียง 25% ทำให้ภาพลักษณ์เดิมของสยามกลการกับนิสสัน ที่แทบจะแยกกันไม่ออก ตลอดช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา น่าสนใจว่าต่อไปนี้ทิศทางใด ในเมื่อไม่ได้คุมอำนาจการบริหารรถยนต์นิสสันอีกแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพรเทพ พรประภา ประธาน บริษัท สยามกลการ จำกัด หรือ SM (SIAM MOTORS) เปิดเผยว่า เงินจำนวนเกือบ 7,000 ล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นส่วนใหญ่ในรถยนต์นิสสัน ขณะนี้ยังไม่ได้เจาะจงว่าจะนำไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจใด เพราะปัจจุบันบริษัทในเครือแต่ละแห่งกว่า 50 บริษัท ล้วนสามารถลงทุนขยายธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนจากบริษัทแม่สยามกลการ แต่ทั้งนี้ก็จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้เน้นหนักที่กลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

"หากจะถาม ณ วันนี้ สนใจธุรกิจอะไร ต้องบอกว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก และสยามกลการกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ แม้ช่วงนี้อาจจะลดความร้อนแรงลง แต่หากมีสินทรัพย์อย่างที่ดินอยู่แล้ว ไม่ได้ไปกู้เงินเพื่อมาลงทุนพัฒนา เหมือนผู้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป โอกาสทางธุรกิจจึงมีสูงกว่ามาก และขณะนี้สยามกลการมุ่งไป ที่ธุรกิจพัฒนาสนามกอล์ฟมากที่สุด"

สำหรับเรื่องการพัฒนาธุรกิจสนามกอล์ฟ ในปัจจุบันสยามกลการดำเนินการในนามของ สยามคันทรีคลับ ที่พัทยา เป็นสนามกอล์ฟมาตรฐาน 18 หลุม แต่หากจะทำจริงจังต้องมีการขยายมากกว่านี้ และจะต้องมีการจัดการบริหารอย่างมืออาชีพ เพื่อให้เป็นสนามกอล์ฟมาตรฐานระดับโลก

โดยสยามกลการกำลังศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะทำหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากทำคงจะไม่ลงทุนเอง เพราะต้องการใช้มืออาชีพด้านนี้มาดำเนินงาน โดยจะเป็นการร่วมทุนเพื่อใช้เชนสนามกอล์ฟระดับโลกมาบริหาร และขณะนี้ได้มีการเจรจากับตัวแทนของกลุ่มธุรกิจสนามกอล์ฟจาก ต่างประเทศบ้างแล้ว และมีการพูดคุยกันหลายรอบ แล้ว ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนจะทำหรือไม่

ส่วนที่ผ่านมาสยามกลการมีการดำเนินกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องอยู่บ้างแล้ว อาทิ รถยกโคมัตสุ ลิฟต์ฮิตาชิ หรือแอร์ไดกิ้น ซึ่งขณะนี้ล้วนมีอัตราการเติบโตสูงมาก เป็นผู้นำของแต่ละตลาด แต่ไม่ได้เข้าไปบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรงและจริงจัง

นายพรเทพกล่าวอีกว่าในส่วนของภาพลักษณ์ ของสยามกลการต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร เพราะตลอด กว่า 50 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คนไทยรับรู้สยามกลการคือนิสสัน และนิสสันคือสยามกลการ แต่จากนี้ไปในเมื่อไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คงจะต้องมีภาพลักษณ์อย่างอื่นมาทดแทน เพราะสยามกลการมีบทบาทเป็นโฮลดิ้งคัมปานี มีบริษัทในเครือมากถึงกว่า 50 บริษัท

"ขณะนี้สิ่งที่คนทั่วไปจะจับต้องและสัมผัส ได้ง่ายที่สุด คงจะเป็นสยามดนตรียามาฮ่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านดนตรีครบวงจร ทั้งเรื่องอุปกรณ์ดนตรี กลุ่มออดิโอโฮมเธียเตอร์ และโรงเรียนสอนดนตรี ที่มีกลุ่มลูกค้าทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จึงถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มดี และมีศักยภาพสูงในการทำรายได้ให้กับสยามกลการ ที่สำคัญเราทำธุรกิจดนตรียามาฮ่าเปิดดำเนินการมานานถึง 44 ปี ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับสยามกลการทีเดียว"

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสยามดนตรียามาฮ่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายได้เพียงปีละ 400-500 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีรายได้เกือบพันล้านบาทแล้ว โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ทั้งสิ้น 800 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการถึง 15% และในปี 2547 นี้ คาดว่าจะมียอดขายไว้ 920 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่รวมค่าเล่าเรียน เพราะแต่ละแห่งมีอัตราไม่เท่ากัน

นายพรเทพกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์ของสยามกลการ จะเป็นสยามดนตรี ยามาฮ่า แต่รายได้หลักกว่า 60% ของสยามกลการ ยังมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีอยู่กว่า 60% ของบริษัทในเครือทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักทั้งประเภทป้อนโรงงาน (OEM) และอะไหล่ทดแทน (REM) ไม่ว่าจะเป็นยีเอสแบตเตอรี่ โช้กอัพคายาบา เครื่องปรับอากาศเซ็กเซิล ตลับลูกปืนเอ็นเอสเค รวมถึงผู้ผลิตและจำหน่ายรถโคมัตสุ เป็นต้น

"รายได้ของแต่ละบริษัทเหล่านี้ เฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยอันดับหนึ่งเป็นกลุ่มรถโคมัตสุกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี รองลงมาจะเป็น ยีเอสแบตเตอรี่ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท และบริษัทที่เหลืออย่างโช้กอัพคายาบา หรือแอร์เซ็กเซิล มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รวมแล้ว กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของสยามกลการกว่า 20-30 บริษัท มีรายได้รวมกันมากกว่าหมื่นล้านบาทขึ้นไป"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us