SCC โชว์กำไรไตรมาสแรก ปีนี้ 33% ผลจากธุรกิจปิโตรเคมีและซีเมนต์ราคา สูง ยันปีนี้ยอดขายโตตามเป้าที่
10% พร้อมใช้เงินทุน 4 พันล้านบาท สร้างโรงงานกระเบื้องคอนกรีตและปรับปรุงเครื่องจักรในทุกสายธุรกิจ
ขณะที่ยังไม่มีแผนขยับขึ้นราคาปูนซีเมนต์เพราะ ผลิตวัตถุดิบใช้เอง ยังแบกรับต้นทุนไหว
นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูน ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC)
เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร จากการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 47 มีกำไร 7,355.31 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 5,532.90 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มจาก
4.61 บาทเป็น 6.13 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 33% และมียอดขายรวม 43,717 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยมีกำไรก่อนรายการพิเศษ 7,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีผลประกอบการดีขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง
ยังมียอดขายในประเทศสูง
โดยธุรกิจปิโตรเคมี มียอดขายรวม 15,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อน
เนื่อง จากราคาขายสูงขึ้นมาก อันเป็นผลจากความต้องการของภูมิภาคและทั่วโลกสูงขึ้นมากเช่นกัน
นอกจากนี้ยังไม่มีกำลังผลิตใหม่ๆ เข้ามาในตลาด
ส่วนธุรกิจซีเมนต์ มียอดขายรวม 9,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศสูงขึ้น
ตามภาวการณ์ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตต่อเนื่อง และธุรกิจวัสดุก่อสร้างมียอดขายรวม
5,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง
โดยเฉพาะกระเบื้องหลังคาและกระเบื้องเซรามิก
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์มียอดขายรวม 9,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ
16 จากปีก่อน เนื่องจากมียอดขายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการเติบโตของธุรกิจการพิมพ์และการโฆษณา
ซึ่งผลประกอบการในปีนี้ไม่ต่างจากปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบคือเศษกระดาษ และเยื่อกระดาษแพงขึ้นมาก
นายชุมพลกล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังตั้งเป้าที่จะเติบโตประมาณ 10% จากปี 2546 ที่มีรายได้
148,865 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มมีแนว โน้มว่าจะโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
และยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตเนื่องจากจำหน่ายในประเทศเพียง 50% ของกำลังการผลิตเท่านั้น
แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวปีละ 10% แต่ปูนซิเมนต์ยังสามารถรองรับความต้องการได้อีกเกือบ
10 ปี
สำหรับราคาปูนซีเมนต์นั้น บริษัทยังไม่มีแผนที่จะปรับเพิ่มราคา แม้ว่าต้นทุนการผลิตปูน
ซีเมนต์ในปัจจุบันจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะซีเมนต์ของ บริษัทไม่ได้ซื้อวัตถุดิบ แต่ใช้หินปูนที่มีอยู่ภายใน
บริษัท ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า หากมีการปรับราคา ขึ้นซีเมนต์ บริษัทจะต้องแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยว
ข้องรับทราบก่อน
นายชุมพลกล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตได้ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องฝนแล้ง
และอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจทำให้อุตสาหกรรมภาคการ เกษตรชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ผลการดำเนินงานทั้งปียังมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับปี 46 ซึ่งในระยะสั้นการขยายตัวของที่อยู่อาศัยอยู่ในอัตราเหมาะสม
เชื่อว่าธุรกิจในกลุ่มยังดีอยู่ แต่หากการขยายตัวของ ที่อยู่อาศัยมีมากเกินไปจะทำให้ถึงจุดอิ่มตัวเร็ว
เพราะกำลังซื้อมีจำกัด ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจก่อ สร้างด้วย
สำหรับปีนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 พันล้านบาท โดยนำไปใช้ในการปรับปรุงเครื่อง
จักรในแต่ละโรงงาน และก่อสร้างโรงงานคือผลิต กระเบื้องซีแพคมุงหลังคา ประมาณ 700
ล้านบาท ด้วยกำลังการการผลิต 5 ล้านตารางเมตร ส่วนที่เหลือจะใช้ปรับปรุงเครื่องจักรทุกสายธุรกิจ
การก่อสร้างโรงงานผลิตกระเบื้องซีแพคมุงหลังคานี้ จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิต
ทั้งสิ้น 25 ล้านตารางเมตร โดยโรงงานแห่งนี้ จะแล้วเสร็จ ประมาณปลายปี48 และเดินเครื่องผลิตประมาณ
2 ล้านตารางเมตร และจะเต็มกำลังการผลิตภาย ในปี 2550 คาดว่าบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ทันที
หลังจากเริ่มเดินเครื่องการผลิตโดยในปีแรกคาดว่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 400 ล้านบาท
สำหรับยอดขายกระเบื้องซีแพคคอนกรีตในปีนี้ โตประมาณ 40% คิดเป็นเงินประมาณ 3
พันล้านบาทในขณะที่ธุรกิจกระเบื้องเซรามิกจะโต เพียง 5% เนื่องจากธุรกิจกระเบื้องคอนกรีตมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เพราะสามารถใช้ ทดแทนกระเบื้องตราช้างหรือกระเบื้องอื่นๆ ได้ ในขณะที่กระเบื้องเซรามิกในตลาดต่างจังหวัดเริ่มอิ่มตัวแล้ว
ส่วนเรื่อง การเจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจา
ซึ่งเป็น เรื่องที่ต้องพูดคุยในรายละเอียดให้เข้าใจ คาดว่า ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่จะลงเอยได้
จึงยังไม่อาจเปิดเผยในเวลานี้ได้ว่าธุรกิจที่จะเข้าไปลงนั้นเป็นธุรกิจใด โดยประเทศแถบประเทศตะวันออกกลางนั้น
ยอมรับว่าน่าสนใจที่จะเข้าไป ลงทุนประเทศแหล่งน้ำมันที่จะช่วยในด้านต้นทุน วัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมี
เพราะประเทศแถบนี้หากทำการผลิตปิโตรเคมีใช้เอง จะได้เปรียบมาก เพราะต้นทุนวัตถุดิบจะถูกกว่า
ปัจจุบัน SCC มีหนี้สินสุทธิจำนวน 107,500 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 46 ที่มีหนี้สินสุทธิอยู่
115,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 47 หนี้สินสุทธิน่าจะเหลือเพียง 100,000 ล้านบาท
โดยบริษัทจะนำกำไรจากการดำเนินงานมาใช้ชำระหนี้ และปีนี้จะต้องออกหุ้นกู้อีก 2
ล็อตในปลายปีนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมารีไฟแนนซ์หนี้เก่าด้วย