2 สไตล์ของการสร้างธุรกิจ
วิธีพิชิตยอดเขา Everest ซึ่งสูงที่สุดในโลกมี 2 วิธีหลักๆ วิธีแรกเรียกว่า
siege style ซึ่งใช้ทั้งคนและเครื่องไม้เครื่องมือเป็นจำนวนมาก และปีนขึ้นไปอย่างช้าๆ
โดยมีการตั้งค่ายเป็นระยะๆ ตลอดรายทาง โดยที่จำนวนคนและเครื่องมือจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ
จนในที่สุด จะมีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ และเหลือสัมภาระเพียงน้อยนิดเท่านั้น ที่จะสามารถพิชิต
Everest ได้สำเร็จ ส่วนอีกวิธีหนึ่งซึ่งเรียกว่า alpine style จะประกอบด้วยนักปีนเขาเพียงกลุ่มเล็กๆ
ซึ่งต่างคนต่างปีนขึ้นไปให้เร็วที่สุดด้วยตัวเอง
วิธีปีนเขาทั้ง 2 แบบสามารถนำไปเปรียบเทียบกับวิธีการสร้างธุรกิจ 2 แบบกล่าวคือ
วิธี siege style เปรียบเหมือนวิธีการสร้างธุรกิจอย่างช้าๆ และปลอดภัย โดยเน้นการสนับสนุนด้านทรัพยากรและการทำงานเป็นทีม
รวมทั้งต้องการผู้นำในสไตล์สั่งการและควบคุม ในขณะที่วิธี alpine เปรียบเหมือนกับการบุกเบิกธุรกิจโดยผู้ประกอบการเพียงคนเดียว
ที่เน้นความรวดเร็ว ความยืดหยุ่นและการริเริ่มสร้างสรรค์
ทั้ง 2 วิธีต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ถ้าหากอากาศดี นักปีนเขาด้วยวิธี alpine
อาจสามารถฉวยโอกาสดีที่หาได้ยากยิ่งนี้พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดได้สำเร็จ
ในขณะที่นักปีนเขาแบบ siege ได้เตรียมตัวมาพร้อมสำหรับรับสภาพอากาศที่เลวร้ายได้อย่างยาวนาน
ความเป็นไปได้ VS สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
Upward Bound เป็นหนังสือรวมบทความที่เขียนโดยนักธุรกิจและนักวิชาการ 9
คน ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความหลงใหลในการปีนเขา พวกเขาได้เปรียบเทียบความสำเร็จในโลกธุรกิจของพวกเขา
กับความสำเร็จในกีฬาปีนเขาได้อย่างน่าสนใจ
ในบทความบทแรกที่มีชื่อว่า "Hitting the Wall: Learning That Vertical
Limits Aren't," ซึ่งเขียนโดย Jim Collins ผู้เขียนหนังสือ Built to Last
และ Good to Great เขาได้กระตุ้นให้นักปีนเขาอย่ายอมล้มเลิกเป้าหมายแต่กลางคัน
และอย่ายอมพ่ายแพ้ต่อความล้มเหลว เช่นเดียวกับในโลกธุรกิจ Collins กระตุ้นให้ผู้นำธุรกิจอย่ายอมละความพยายามใดๆ
เพียงครึ่งทาง ซึ่งเหมือนกับการล้มเลิกการปีนเขาเพียงแค่เจออุปสรรคครั้งแรก
Collins ยังสอนว่า เราต้องแยกให้ออกระหว่างความเป็นไปได้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
เรื่องบางเรื่องอาจมีอันตรายอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีค่าควรแก่การลองทำ
ถ้าหากวิเคราะห์แล้วว่าความเสี่ยงที่จะล้มเหลวอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ถ้าหากคุณแยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่เป็นเพียงความเป็นไปได้
กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คุณจะไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมว่า เมื่อใดจึงควรจะเสี่ยง
และเมื่อใดที่ควรหลีกเลี่ยง
อันตรายของความสำเร็จ
Collins ยังกระตุ้นให้นักธุรกิจเร่งหา "หุ้นส่วน" ที่ดี กล่าวคือ ให้ความสำคัญมากที่สุดกับคุณสมบัติของคนที่คุณต้องการให้มาอยู่ในบริษัท
ก่อนที่จะคิดเรื่องการวางแผนด้านยุทธศาสตร์ เขายังเตือนว่าความสำเร็จก็มีอันตราย
เหมือนที่นักปีนเขาที่เก่งมากคนหนึ่ง กลับเสียชีวิตในการปีนเขาลูกที่ปีนง่ายกว่าลูกอื่นๆ
Collins ชี้ว่าความสำเร็จที่ได้มาง่ายเกินไปจะ ทำให้คุณพ่ายแพ้เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากที่แท้จริง