ตลาดหุ้นกลับมาเฟื่องฟูทั่วโลก แม้จะไม่มากเท่าเมื่อ 7-8 ปีก่อน แต่ก็ถือว่าสดใสในรอบทศวรรษนี้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดฟองสบู่ดอตคอมแตกในวอลล์สตรีทเมื่อ 4
ปีก่อน เป็นเรื่องที่ทำให้มีคนหวนกลับคืนสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง แม้จะมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
สถานการณ์อย่างนี้เป็นจังหวะทองของหนังสือ และสื่อคอนเทนต์ทางด้านตลาดทุนและไฟแนนซ์ส่วนบุคคล
กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งด้วยความวาดหวัง และคุยเขื่องว่าจะสามารถ มอบสาระที่มีคุณภาพมากกว่าเดิมเพื่อนักลงทุน
หนังสือและเว็บไซต์ค่ายไทม์-วอร์เนอร์ อย่าง Money ถือเป็นต้นกำเนิดของแนวทางสาระแบบนี้แต่ปัจจุบันก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก
โดยเฉพาะค่ายเล็กๆ ที่ขยันขันแข็ง อย่าง Fool.com ของสองพี่น้องการ์ดเนอร์ที่มีสัญลักษณ์สื่อว่า
Fool เป็นการันตีกับค่าย Morningstar.com ที่คุยเขื่องว่ามีเนื้อหาสนองตอบพวกนักเล่นหุ้น
"ตลาดบน" คือ นักลงทุนเน้นคุณค่า (value investors) โดยตรง
ไม่ว่าการคุยเขื่องจะจริงหรือไม่ แต่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของคนอ้างอิงก็โด่งดังและทำรายได้ไม่น้อยตามมา
คุ้มค่าสมราคาคุยกันเลยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้ของค่าย Morningstar.com ก็ออกมาเพื่อรองรับความตื่นตัวของนักลงทุน
ที่เบื่อจะ "เจ๊งหุ้นเอง" แต่ต้องการแสวงหาทางเลือกจากการ "เอาเงินให้คนอื่นไปทำรวย"
ในกองทุนรวม ซึ่งเข้ากับภาวะตลาดหุ้นโดยรวมไม่น้อย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่
ทั่วโลกกำลังแสวงหาช่องทางสำหรับการเพิ่มบทบาทของกองทุนรวมในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้
เพื่อลดความผันผวนของตลาด
นักลงทุนในตลาดหุ้นนั้น หากไม่ใช่นักลงทุนรายบุคคล ก็มีสองส่วนเท่านั้นคือ
นักลงทุน สถาบันในรูปกองทุนรวมในประเทศ และกองทุนต่างประเทศ แต่บทบาทของกองทุนรวมในตลาดทุนที่พัฒนาแล้วจะแข็งขันอย่างมากเหนือกองทุนรวมต่างประเทศ
เนื่องจากความนิยมของนักลงทุนมีมากกว่า
ในขณะที่กองทุนรวมต่างประเทศนั้น มักจะไปเฟื่องฟูและมีอิทธิพลล้นฟ้าในตลาดทุน
เกิดใหม่ที่กองทุนรวมในประเทศยังไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนรายย่อย
หนังสือเล่มนี้ก็ตามประสาของหนังสือประเภท How To ทั้งหลายนั่นแหละ เป็นหนังสือ
ที่หนักไปทางสอน และให้รายละเอียดของหลักสูตรการสอน เพียงแต่มีการปรับปรุงตามช่วงเวลาด้วยการเพิ่มเนื้อหาส่วนที่ทันสมัยมากขึ้น
เพราะมีการเปลี่ยนกติกา เปลี่ยนเงื่อนเวลาและเปลี่ยนสภาพของธุรกิจ โดยมีเนื้อหาทั้งหมด
6 ภาค เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงกระบวน การลงทุน ข้อสังเกต และเกณฑ์พิจารณาแบบเรียงไปจากเริ่มต้นไปหาตอนจบ
โดยทิ้งท้ายในภาคสุดท้ายถึงคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดในตลาดหุ้น (อเมริกา)
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้ 2 ประการที่ถือว่าโดดเด่น ได้แก่ ข้อแรก การทำให้
"ย่อยง่าย" สำหรับผู้อ่าน โดยการแบ่งหมวดความรู้ซึ่งเหมาะสำหรับคนเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดทุน
ที่ต้องการศึกษาด้วยตัวเอง นับแต่การพิเคราะห์ "บุคลิกภาพ" ของกองทุนรวม
การสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุน และเข้าหรือออกจากตลาด เรียกว่า ผู้อ่านสามารถอ่านแบบ
"บูรณาการ" ด้วยตนเอง จากหนังสือเล่มนี้
ส่วนข้อที่สองนั้น แต่ละบทจะมี investor's checklist ซึ่งสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าถึงเรื่องรายละเอียดอย่างย่นย่อและตรงประเด็น
เพื่อจะได้สรุปความคิดรวบยอดป้องกันการเข้าใจผิดได้ดี
เนื้อหาที่ถือว่าโดดเด่นในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ใน chapter 5 ซึ่งเป็นการจำแนกความเสี่ยง
ในการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเหมาะสำหรับบรรดา "แมงเม่า" ทั้งหลายอย่างยิ่ง
ทั้งในเรื่องการประเมินความเสี่ยง ประเภทความเสี่ยง และความเบี่ยงเบนของการลงทุนในอนาคต
นอกจากนั้น ก็มี chapter 6 ประเภทของผู้จัดการหรือผู้บริหารกองทุนรวม และบุคลิกของกองทุนรวม
(ในเรื่องเป้าหมายการลงทุน การทำกำไร การจ่ายผลตอบแทน และการเปิดเผยข้อมูลแก่นักลงทุน
ซึ่งก็จะพบว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้จัดการกองทุนรวม ก็ไม่ได้ต่างจากนักลงทุนปัจเจกมากมายนัก
ความแตกต่างก็เพียงแค่เงินหน้าตักเท่านั้นเอง
ใน chapter 13 มีเรื่องกลยุทธ์การถอยออกจากตลาดในเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญเนื่องจากนักลงทุนที่ขาดทุนส่วนใหญ่
ไม่สนใจกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการลงทุนมากที่สุด นั่นคือ จังหวะขายออก
ใน part six เป็นเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งว่าด้วยคำถามที่นักลงทุนรายย่อยมักจะถามมากที่สุด
16 คำถาม ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ทุกรายที่
"ต้องอ่าน" ให้ได้ ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นด้วยตัวเอง หรือผ่านกองทุนรวม
แม้เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะไม่ลึกซึ้ง หรือไม่มีสูตรคำนวณที่ "น่าทึ่งและท้าทาย"
สติปัญญาที่นักวิเคราะห์หุ้น (ถูกบังคับว่า) ต้องเรียนรู้ ก็ถือว่าเหมาะสำหรับนักลงทุนที่เจ็บตัวมาด้วยตัวเอง
และเชื่อว่า "ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ" จะเหนือกว่าตนเอง ถือเป็นการอ่านฉลองนโยบายของรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันของไทย
ที่มุ่งมั่นทำให้ตลาดหุ้นเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จทางการเมืองของรัฐบาลอย่างเอาเป็นเอาตาย
และเปิดช่องทางใหม่ให้กับกองทุนรวมล่าสุดด้วยมาตรการทางการคลังหลายประการ
ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร
อย่างน้อยที่สุด หนังสือนี้ก็น่าจะช่วยขัดเกลานิสัยของนักลงทุนที่ได้อ่านให้พ้นจากสภาพ
"นักการพนัน" ที่ไร้เดียงสาและเพ้อฝันในตลาดหุ้นได้มากพอสมควรทีเดียว
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้
Part One: How To Pick Mutual Funds
Chapter 1: Know What Your fund Owns การเรียนรู้ว่ากองทุนที่คุณเข้าไปนั้นมีนิสัยการลงทุนอย่างไร
ด้วยเกณฑ์วัดหลายประการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
Chapter 2: Put Performance in Perspective เป็นการแนะแนวทางประเมินผลตอบแทนการลงทุน
ซึ่งบริษัทบริหารกองทุนรวมมักจะแสดงประวัติยาวเหยียดของตนในหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์
เพื่อให้นักลงทุนได้ศึกษาข้อดี ข้อด้อย และข้อสังเกตบางประการ
Chapter 3: Understanding the Risks พยายามสร้างวินัยเพื่อเตือนสตินักลงทุนว่า
การเข้าตลาดหุ้นนั้น มิได้ต้องการแค่อาวุธ 2 ประการเท่านั้นคือ ความละโมบ
(ตอนซื้อ) และความกลัว (ตอนขายทิ้ง)
Chapter 4: Get to Know Your Fund Manager กุญแจแห่งความล้มเหลวหรือสำเร็จของกองทุนรวม
อยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดของกองทุน ดังนั้น การศึกษาให้ถ่องแท้ถึงบุคลิกภาพ
และความสามารถของผู้บริหารสูงสุดของกองทุน จะชี้ทางสวรรค์ให้กับนักลงทุนได้มากตามประเภทของผู้บริหารในบทนี้
Chapter 5: Keep a Lid on Costs ต้นทุนการจัดการของกองทุนรวมหลายแห่ง มีลักษณะที่เรียกว่า
กับดักกระจกส่องหลัง (rearview-mirror trap) ซึ่งแอบแฝงอยู่ในความหวือหวาของบทบาทการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเร้าใจ
เนื่องจากแพงมาก จนกระทั่งทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนต่ำลงกว่าที่ควร การศึกษาต้นทุนนี้เป็นเรื่องสำคัญก่อนเข้าซื้อหุ้นกองทุนรวม
Part Two: How To Build a Portfolio
Chapter 6: Match Your Portfolio to Your Goals นักลงทุนต้องตั้งเป้าหมายของ
ตนเองเอาไว้ก่อนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง วางแผนผลตอบแทน และแผนรองรับในกรณี
ลงทุนผิดพลาดเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม หรือเชื่อว่าซื้อทุกครั้งต้องกำไร
Chapter 7: Put Your Portfolio Plan in Action เป็นบทต่อในภาคปฏิบัติในการลงทุนของนักลงทุน
พร้อมทั้งความสำเร็จ โอกาส ปัญหา และทางออก
Part Three: Finding Ideas For Your Portfolio
Chapter 8: Find the Right Core Stock Fund for You การพิจารณากองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น
(กองทุนหุ้น) การประเมินค่า และการเติบโต รวมทั้งสไตล์การลงทุน
Chapter 9: Move Beyond the Core การพิจารณากองทุนหุ้นรายธุรกิจ (ลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจ)
อันเป็นการแยกย่อยลงไปในรายละเอียด ซึ่งง่ายและชัดเจนสำหรับนักลงทุน ที่ไม่ชอบการลงทุนแบบเหวี่ยงแห
Chapter 10: Find the Right Bond Fund for You การพิจารณากองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้
(กองทุนตราสาร) การประเมินค่า และการเติบโต รวมทั้งสไตล์การลงทุน และความเสี่ยงกับผลตอบแทน
Chapter 11: Finding the Right Fund Companies for You ตัวอย่างและกรณีศึกษาของบริษัทบริหารกองทุนรวมที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาหลายแห่ง
ซึ่งมีพฤติกรรม ในการลงทุนที่โดดเด่น
Part Four: Monitoring Your Portfolio
Chapter 12: Schedule Regular Checkups กฎ 3 ข้อของนักลงทุนที่นำมาใช้กับ
คนซื้อหุ้นกองทุนรวมได้โดยตรงนั่นคือ อย่าซื้อหุ้นหวือหวาตามกระแส จ่ายต้นทุนแพงระยับ
สำหรับซื้อหุ้นยอดนิยม และไม่กระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะข้อหลัง ซึ่งจะต้องมีการติดตาม
เป็นระยะ ไม่ใช่ซื้อหุ้นแล้วทิ้งโดยไม่สนใจข้อมูล
Chapter 13: Know When to Sell กฎ หรือข้อสังเกตในการหาจังหวะขาย และกลยุทธ์ทั่วไปที่สำคัญซึ่งต้องเตือนตัวเองเอาไว้อยู่เสมอสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น
ไม่ว่าจะซื้อขายหุ้นหรือตราสารแบบไหน
Chapter 14: Keep a Cool Head in Turbulent Markets การทำใจเตรียมรับตลาดหุ้นขาลงหรือตลาดที่แกว่งไกวเพราะไม่มีเสถียรภาพ
มักจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนเมินเฉย และเจ็บตัวเสมอ กลยุทธ์ในบทนี้เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ
Part Five: Bringing It All Together
Chapter 15: Look Inside Morningstar's Portfolios ข้อเสนอแนะให้ใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทเจ้าของสำนักพิมพ์นี้ในการคำนวณบริหารพอร์ตลงทุนส่วนตัว
Part Six: More On Mutual Funds: Frequently Asked Questions
คำถาม 16 ข้อ ที่ถูกถามโดยนักลงทุนบ่อยครั้งที่สุดในเรื่องกองทุนรวม โดยเฉพาะคำถามข้อ
15 (How Do I Read a Fund's Propectus?) ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด