เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว คนไทยที่รู้จัก Spaghetti มีแต่ชนชั้นสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจและกระบวนการโลกานุวัตร
ช่วยให้ชนชั้นล่างในสังคมไทยในบัดนี้รู้จัก Spaghetti กระบวนการโลกานุวัตรมิได้มีเฉพาะแต่เรื่องของการค้า
การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังมีมิติด้านวัฒนธรรมด้วย
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาหารนานาชาติถูกขับเคลื่อน โดยกระแสโลกานุวัตร
ผู้คนในสังคมเปิดล้วนรู้จักและมีโอกาสลิ้มรสอาหารของชาติอื่นๆ
สปาเกตตีเป็นบะหมี่อิตาเลียน วงวิชาการประวัติศาสตร์ถกเถียงกันว่า ชาติใดเป็นชาติแรกที่ผลิตบะหมี่
ชาติที่คนอาเซียรู้จักมักคุ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนอิตาลีเป็นตัวเลือกของชาวยุโรป
กระนั้นก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอิตาลีอาจรู้จักบะหมี่เพราะมาร์โคโปโล
(Marco Polo) ไปเรียนรู้จากประเทศจีน
เหตุใด Spaghetti จึงข้องเกี่ยวกับ Regionalism?
Regionalism แปลว่าภูมิภาคนิยม อันเป็นแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค
ทั้งในรูปเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือสหภาพศุลกากร (Custom Union)
เขตเศรษฐกิจภูมิภาคมีสมาชิกมากกว่า 2 ประเทศ หากข้อตกลงการค้าเสรีทำกันระหว่างประเทศคู่สัญญาเพียง
2 ประเทศ ข้อตกลงนั้นเป็นข้อตกลงทวิภาคี (Bilateral Agreement)
การตกลงในการทำสัญญาการค้าทวิภาคี เป็นการตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศคู่สัญญา
ส่วนข้อตกลงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค เป็นการตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในหมู่ภาคีสมาชิกมากกว่า
2 ประเทศ
พหุภาคีนิยม (Multilateralism) แตกต่างจากภูมิภาคนิยม (Regionalism) และทวิภาคีนิยม
(Bilateralism) เพราะพหุภาคีนิยมเป็นการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ครอบคลุมสังคมเศรษฐกิจโลกทั้งหมด
GATT 1947 และ GATT 1994 ภายใต้การกำกับและดูแลขององค์การการค้าโลกในปัจจุบันเป็นระเบียบการค้าพหุภาคีดังกล่าวนี้
องค์การการค้าโลกมีสมาชิกมากถึง 148 ประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศจะให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลก
ก็ต่อเมื่อเป็นการเปิดเสรีภายใต้ระบบการค้าพหุภาคี เพราะภาคีองค์การการค้าโลกทุกประเทศสามารถเข้าถึงตลาดของกันและกัน
ในขณะที่การเปิดตลาดภายใต้ระบบภูมิภาคนิยมก็ดี และระบบทวิภาคีนิยมก็ดีแม้จะให้ประโยชน์แก่ภาคีคู่สัญญา
แต่ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะประเทศที่มิได้เป็นภาคีมิอาจได้ประโยชน์เสมอด้วยประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก
บางครั้งอาจต้องพานพบ 'ลูกหลง' หรือ 'หางเครื่อง' ชนิดมิอาจหลีกหนีได้
การค้าระหว่างประเทศภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมมีพื้นฐานจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
(Comparative Advantage) และการใช้ความชำนัญพิเศษ (Specialization) แต่ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศต่างๆ
มิได้อยู่คงที่ หากแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
และการเปลี่ยนแปลงราคาสัมพัทธ์ของปัจจัยการผลิต นานาประเทศพยายามเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
แรงผลักดันในการจัดระเบียบใหม่ยิ่งมีมากขึ้น
แต่การเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นเรื่องยากยิ่ง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องได้รับฉันทมติ (Consensus) จากภาคีทุกประเทศ เนื่องจากองค์การการค้าโลกยึดกฎคะแนนเสียงเอกฉันท์
อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเมืองภายในองค์การการค้าโลก ซึ่งประกอบด้วยขั้วอำนาจ
3 ขั้ว อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และโลกที่สาม ซึ่งรวมพลังเสริมอำนาจต่อรอง
เพื่อกันมิให้ประเทศมหาอำนาจเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศตามอำเภอใจ
เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจัดระเบียบการค้าพหุภาคีใหม่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่สหรัฐอเมริกามากขึ้น
สหรัฐอเมริกาจึงหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ ครอบคลุมทุกภาคภูมิศาสตร์
และครอบคลุมทั้งข้อตกลงเศรษฐกิจภูมิภาคและข้อตกลงการค้าทวิภาคี
ในด้านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค สหรัฐอเมริกาผนึกตัวเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโก
เป็นเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) มาตั้งแต่ปี 2536 และขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคกับ
Central America Free Trade Area (CAFTA) ตั้งแต่ ปี 2546 โดยมีแผน การจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา
(Free Trade Area of the Americas : FTAA) ให้แล้วเสร็จในปี 2548 ทั้งนี้
FTAA จะเป็นเขต เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ (Super Bloc) แห่งทวีปอเมริกา เพราะครอบคลุมตั้งแต่จุดเหนือสุดของทวีปอเมริกาเหนือจนจรดจุดใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้
สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในเขตความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียแปซิฟิก (APEC) ตั้งแต่ยุคสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน
หลังจากที่สหรัฐอเมริกา ยึดครองอิรักได้ในปี 2545 สหรัฐอเมริกามีแผนที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีตะวันออก
กลาง (Middle East Free Trade Area : MEFTA)
ในแอฟริกา สหรัฐอเมริกากำลังเดินเครื่องในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี กับกลุ่มประเทศสหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้
(South Africa Custom Union : SACU) ตั้งแต่ปี 2547
สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่สยายปีกจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเท่านั้น หากยังขับเคลื่อนในการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีอีกด้วย
ในอาเซีย สหรัฐอเมริกาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2528
จอร์แดน ปี 2544 สิงคโปร์ ปี 2546 ออสเตรเลีย ปี 2547 โดยมีแผนที่จะสรุปข้อตกลงกับบาห์เรน
ปี 2548
ในละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลีตั้งแต่ปี 2546
ในแอฟริกา สหรัฐอเมริกาเจรจา กับโมร็อกโค ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี
อียิปต์เป็นเป้าหมายต่อไป ซึ่งกำหนดที่จะสรุปข้อตกลงในปี 2548
ดังนี้จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกา กำลังสร้างเครือข่ายการค้าเสรีในขอบข่ายทั่วโลก
และเครือข่ายนี้นับวันมีแต่จะขยายต่อไป
คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตการค้าเสรี?
สหรัฐอเมริกาต้องการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในประเด็นใหม่ๆ ที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์
ดังเช่นประเด็นเรื่องการค้าบริการ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา การค้าสินค้า
GMOs การเปิดเสรีด้านการลงทุน นโยบายการแข่งขัน การจัดจ้างจัดซื้อของรัฐบาล
เป็นต้น เมื่อไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกได้
สหรัฐอเมริกาจึงหันมาใช้ยุทธวิธีการทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี
ซึ่งสหรัฐอเมริกามีอำนาจต่อรองเหนือกว่าและสามารถจัดระเบียบการค้าใหม่ได้โดยง่าย
เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบการค้าใหม่ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี
สหรัฐอเมริกาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยน แปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกจะทำได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากจำนวนประเทศที่ยอมรับระเบียบใหม่มีมากขึ้น อันเป็นผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกานั่นเอง
หากแม้นสหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีดังปรารถนา
สหรัฐอเมริกายังสามารถเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีต่อไป
ในท้ายที่สุด ระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง
อาจเข้าไปมีบทบาทคู่ขนานกับระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกได้
สหรัฐอเมริกามิได้หวังประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีเท่านั้น
หากยังหวังประโยชน์ด้านการเมืองด้วย โดยที่ประโยชน์ด้านการเมืองอาจเหนือกว่าประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ
บรรดาประเทศที่สหรัฐอเมริกาเลือกทำข้อตกลงการค้าเสรีจักต้องมีจุดยืนทางการเมืองนี้ชัดเจนว่า
ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา และสังกัดค่ายอเมริกัน สหรัฐอเมริกาใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือในการโดดเดี่ยวประเทศ
ที่มิได้เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา
ด้วยเหตุที่สังคมเศรษฐกิจอเมริกันเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีอำนาจซื้อสูงและมีขนาดใหญ่
ประเทศโลกที่สามจำนวนมากจึงพากันวิ่งแข่งกันทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา
เพราะเกรงว่า การตกรถไฟขบวนที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขับเคลื่อน จะทำให้สูญเสียประโยชน์และก่อต้นทุนที่เรียกว่า
Cost of Non-Participation เนื่องจากมิได้อยู่ในฐานะเสมอด้วยประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาแล้ว
แต่การทำข้อตกลงการค้าเสรีใช่ว่าจะให้ประโยชน์สุทธิเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อตกลง
มิหนำซ้ำยังมีต้นทุนการบริหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากจำนวนสัญญายิ่งมีมากเพียงใด
ต้นทุนและความสับสนในการบริหารจะยิ่งเพิ่มพูนมากเพียงนั้น ทั้งนี้เนื่องจากรายละเอียดของสัญญาแต่ละสัญญาแตกต่างกัน
อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรแตกต่างกัน กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
(Rules of Origin) แตกต่างกัน ฯลฯ ประเทศที่เป็นภาคีข้อตกลงการค้าเสรีมากกว่าหนึ่งข้อตกลง
ย่อมมีปัญหายุ่งยากในการบริหาร และก่อผลกระทบที่ศาสตราจารย์จักดิช ภควตี
(Jagdish Bhaywati) เรียกว่า Spagetti-Bowl Effect เพราะความซับซ้อนและยุ่งเหยิงของข้อตกลง
มีสภาพไม่แตกต่างจากสปาเกตตีที่พันกันในชามสปาเกตตี
การเติบโตของ Spaghetti Regionalism เป็นปรากฏการณ์ของทศวรรษ 2540