2 ปีเต็มที่หายหน้าไปจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต วันนี้เธอตัดสินใจหวนคืนสู่ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ที่เคยสร้างชื่อให้กับเธอมาแล้ว
6 ปีที่แล้ว ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ได้ร่วมกับศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน
มองเห็น "โอกาส" จากการมาของอินเทอร์เน็ตก่อนใคร ร่วมกันบุกเบิกบริษัทเคเอสซี
อินเทอร์เน็ต จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ใช้กันอยู่ เฉพาะในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
หรือ ABAC จนกลายเป็น ISP ที่รู้จักแพร่หลายอยู่ทั่วไป
ก่อนธุรกิจดอทคอมล่มสลาย เธอตัดสินใจขายกิจการให้กับเอ็มเว็บ ประเทศ ไทย
และยังอยู่ร่วมงานช่วงสั้นๆ ก่อนจะโบกมืออำลาไปอย่างถาวร เพื่อกลับไปดูแล
กิจการบริษัทน้ำตาลกาญจนบุรีของครอบครัว และใช้เวลาไปกับการปลูกสวนดอกไม้ที่อำเภอปากช่อง
จังหวัดนครราชสีมา
หลังจากห่างหายไปถึง 2 ปีเต็มเธอตัดสินใจหวนคืนสู่ธุรกิจไอเอสพีอีกครั้ง
และคราวนี้เธอเลือกเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอินเทอร์เน็ต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส
โพรไวเดอร์ หรือ ISSP ตามคำชักชวนของบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน น้องชายคนรองที่ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นเมื่อ
2 ปีที่แล้ว
"พอดีน้องชายที่ทำงานบริษัทไฟแนนซ์ที่สิงคโปร์ กลับมาดูแลธุรกิจน้ำตาลให้
ทางบัณฑิตเขาชวนให้มาช่วยทำงาน เพราะเมื่อก่อนก็เคยชวนเขามาช่วย เคเอสซี"
ดร.กนกวรรณบอกถึงเหตุผล
และนี่เองที่ทำให้เธอกลายเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ISSP ด้วยการถือหุ้น 20%
ในบริษัท ซึ่งได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 75 ล้านบาท เป็น 150 ล้านบาท และเธอยังนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารควบด้วยอีกตำแหน่ง
การหวนสู่ธุรกิจไอเอสพีครั้งนี้ แม้จะไม่เหมือนกับเมื่อครั้งบุกเบิกเคเอสซี
ที่อาศัยโอกาสจากการเป็นรายแรกของตลาด และกลยุทธ์ที่มาถูกทาง แตกต่างไปจาก
ISSP ในห้วงเวลานี้ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งมากหน้าในตลาดไอเอสพี แต่เธอยังพบว่ามี
2 เรื่องที่เป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจ
เรื่องแรกคือ "เทคโนโลยี" อินเทอร์ เน็ตไร้สายความเร็วสูง ราคาอุปกรณ์ที่ใช้กับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
และอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ หรือ Wi-Fi ส่งผลให้การใช้งานขยายไปสู่ระดับ
mass
โครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรและโครงการอินเทอร์เน็ตชั่วโมงละ 1 บาท ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการสื่อสาร หรือไอซีที ล้วนแต่เกื้อกูลให้ การใช้อินเทอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น
นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จ ในการสร้างแบรนด์ "ego" จนเป็นรู้จักใน ตลาดที่มีจุดเด่นเรื่องการออกแบบแพ็กเกจ
ให้หลากหลายทำให้เธอค่อนข้างเชื่อมั่นกับการลงทุนครั้งใหม่
แม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจไอเอสพีรอบ ใหม่นี้จะแตกต่างไปจากสมัยเคเอสซี ทั้งสภาพการแข่งขันที่มากขึ้น
และการใช้เงินลงทุนเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บริการบรอดแบนด์
เธอเชื่อว่าเทคโนโลยีบรอดแบนด์ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำมาทั้งเนื้อหาใหม่ๆ
ที่หลากหลาย รวมทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า
การหวนคืนสู่ตลาดครั้งนี้แตกต่างไปยุคบุกเบิกมาสู่ตลาดระดับ mass ที่มีผู้ใช้บริการ
4-5 ล้านคน ในแง่ธุรกิจต้องปรับตัวจากบริการ access อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมุ่งไปที่เรื่องของ
application และบริการพิเศษ
บริการ ego album บริการที่รองรับกับการบูมของเทคโนโลยีกล้องดิจิตอล เก็บอัลบัมส่วนตัวบนเว็บไซต์ก็เป็น
1 ในบริการที่ว่านี้
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เปลี่ยนรูปแบบการตลาดและบริการใหม่ๆ ก็เปิดกว้างขึ้น
อีกด้านของชีวิตการทำงาน นอก จากธุรกิจไอเอสพีแล้ว เธอยังเจียดเวลาไปดูแลไร่ดอกไม้
และถือหุ้นในบริษัทตือ ออแก ไนเซอร์ ที่เธอเชื่อว่า ในอนาคตจะเกื้อกูลต่อธุรกิจไอเอสพีได้เป็นอย่างดี
"ธุรกิจ organizer เป็น trend ของการทำตลาด หากต้องการสร้างสีสันให้กับตลาดและลูกค้าแล้ว
การจัดกิจกรรม เป็นเรื่องจำเป็น และต้องมีมากขึ้นโดยเฉพาะในภาวะที่บริการนี้กลายเป็น
mass"
การหวนกลับคืนสู่ตลาดไอเอสพี ของ ดร.กนกวรรณครั้งนี้จะใช้ประสบการณ์ ในอดีต
บวกกับการมองเห็นโอกาสใหม่ สร้างความสำเร็จให้กับบริษัท ISSP ได้เหมือนอย่างที่เคยประสบความสำเร็จหรือไม่
เป็นความท้าทายที่เธอเท่านั้นจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด