สงครามชาพร้อมดื่มมูลค่า 3,500 ล้านบาท ระอุในหน้าร้อนนี้ ยังมียูนิฟเป็นแบรนด์นำชิงดำกับโออิชิ
ที่มาแรงแซงหน้าทิปโก้ไปด้วยกลยุทธ์ปูพรมทุกช่องทางจำหน่ายจาก การเปิดเผยของโออิชิ
อ้างว่ายอดขายสูงถึงเดือนละ 7 ล้านขวด จนทำให้ต้องเพิ่มไลน์การผลิตด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนอีก
30 ล้านบาท ทำให้มีกำลังผลิตรวม 250,000 ลังต่อเดือน
น่าสังเกตว่าจุดขายของโออิชิที่เพิ่งวางตลาดชาเขียวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
สามารถกระจายช่องทางจำหน่ายไปสู่มือผู้บริโภคได้ทั่วถึงด้วยฝีมือของดีทแฮล์มที่มีร้านค้าย่อยในมือถึง
2 แสนราย
ยิ่งตามแหล่งตลาดนัดเช่นจตุจักร และตามสุสานในวันเช้งเม้ง และสงกรานต์ที่มีคนหนาแน่น
จะพบเห็นสินค้าชาเขียวโออิชิวางจำหน่ายเกลื่อนแข่งกับยูนิฟ
ขณะที่ทิปโก้กรีนที ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่ใช้กลยุทธ์เพิ่มสินค้าชาเขียวรสใหม่
เช่น ทิปโก้ กรีนทีกลิ่นเก๊กฮวยชาเขียวไร้น้ำตาล จากเดิมที่มี จัสมิน กรีนที
และไอซ์ กรีนที
"ตอนเราเปิดตัวชา เราโฆษณามากเลย เพราะเราแน่ใจในคุณภาพของพันธุ์ชาของเราดี
ไม่มีรสฝาดและหวานน้อยกว่าคู่แข่ง ซึ่งดีต่อสุขภาพ" อนุรัตน์เล่าให้ฟัง
แต่แพ็กเกจจิ้งของทิปโก้กรีนที ที่มีแต่กล่องกระดาษขนาด 225 ซีซี และ 1,000
ซีซี นั้นกลายเป็นจุดอ่อนไป ในขณะที่คู่แข่งอย่างยูนิฟและโออิชิบรรจุขวดขนาด
500 ซีซี ที่ร้านค้าสามารถวางแช่ในกระบะน้ำแข็งได้โดยยังคงสภาพดีไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนกล่องกระดาษ
นอกจากนี้ตำแหน่งของสินค้าทิปโก้กรีนทีจึงสะท้อนว่า ทิปโก้ไม่จับตลาดร้านค้าย่อยทั่วไป
แต่จะวางอยู่ในช่องทางจำหน่ายแบบโมเดิร์นเทรด เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN
ซึ่งต้องแย่งซื้อพื้นที่กับขาใหญ่ยูนิฟ, ตามไฮเปอร์มาร์ท, ซูเปอร์ มาร์เก็ต
เป็นต้น ทำให้โอกาสทางการตลาดจำกัดเฉพาะกลุ่มกว่า mass market
ตลาดรวมของชาพร้อมดื่มที่มีมูลค่าโตเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาท ในปี 2546
นี้ ปรากฏว่า ยูนิฟของบริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ เป็นผู้นำตลาดมีส่วนแบ่ง 52%
ลิปตัน 24% ทิปโก้ 6% เท่ากับพอคค่า และมาลีฟรุตที 1-2%
ขณะที่ตลาดชาเขียวที่มีส่วนแบ่งถึง 70% ของตลาดชาโดยรวมปีนี้ ยูนิฟ ส่วนแบ่งตลาดเหลือ
40% จากเดิม 80% โออิชิ มีส่วนแบ่ง 35%
ล่าสุดตลาดชาเขียวได้คนเล่นเพิ่มอีกแบรนด์คือเซนชะ ผลิตโดยบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ
เซลส์ (ประเทศไทย) รสต้นตำรับวางขายตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมานี้
งานนี้ทิปโก้กรีนทีคงต้องคิดหากลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตนเองให้ได้
ด้วยการกำจัดจุดอ่อนทางการตลาดให้หมดไป