Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2547
ประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร เจ้าพ่อแห่งทิปโก้             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

   
related stories

ทิปโก้ฟูดส์เปลี่ยนไป Foods > Fruit
สงครามชาเขียว ทิปโก้ยังเป็นรอง
กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในทิปโก้ฟูดส์ (ณ 31 ธ.ค. 2546)
อาณาจักรทิปโก้กรุ๊ป
ผลดำเนินงานของทิปโก้ฟูดส์ (ระหว่างปี 2000-2003)

   
www resources

Tipco Homepage

   
search resources

ทิปโก้ฟูดส์, บมจ.-TIPCO
แอสฟัลต์บริการ
ชาญ อิสสระ
ประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร
อนุรัตน์ เทียมทัน
ถนอมวงศ์ สิงหเสนี
Food and Beverage




ทิปโก้จะไม่มีวันนี้เลยถ้าขาดวิสัยทัศน์ของประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร แต่เบื้องลึกไปกว่านั้นคือ ประสิทธิ์มีทิปโก้วันนี้ได้เพราะคุณครูถนอมวงศ์ สิงหเสนี หรือ "นาย" ให้ทุนรอนแรกเริ่มสร้างฐานะธุรกิจได้เป็นปึกแผ่น และยังให้สายสัมพันธ์ล้ำค่าที่นำประสิทธิ์ไปสู่ธุรกิจการเมืองอันมีมูลค่ามหาศาลได้ แม้เมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ประสิทธิ์และลูกๆ ยังนำภาพ "นาย" ติดตั้งไว้ที่บ้านและห้องทำงานชั้นที่ 28 ของอาคารทิปโก้บนถนนพระรามหก

หากพิเคราะห์จากประวัติ "จอมยุทธธุรกิจ ประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร" ที่นาวี รังสิวรารักษ์ เขียนไว้ในโอกาสครบรอบ 72 ปีของประสิทธิ์ ในปี 2542 จะพบว่า โอกาสชีวิตและธุรกิจของประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร เกิดขึ้นจากการเดินทางตลอด และสั่งสมสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจการเมืองการทหารรุ่นเก่าระดับแกนนำอำนาจที่เกื้อกูลกันมานาน เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์, บัญญัติ บรรทัดฐาน, บุญชู โรจนเสถียร, สมัคร สุนทรเวช และ พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ

จากเศรษฐีภูธรหัวหินที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากสิงห์รถบรรทุก เจ้าของกิจการรับจ้างขนส่งและค้าเหล้าบนเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ชุมพร จนถึงเจ้าของปั๊มน้ำมันสามทหาร "ถนอมวงศ์บริการ" ที่สั่งสมทุนจนแข็งแรง เข้าสู่อุตสาหกรรมโรงงานสับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้พร้อมดื่ม "ทิปโก้ ฟูดส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน), โรงงานยางมะตอยน้ำ เช่น "ทิปโก้ แอสฟัลต์", ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "ทิปโก้แลนด์" และธุรกิจบริการขนส่ง เช่น เอกชัย คอนเทนเนอร์

ตำนานธุรกิจการเมืองบทหนึ่งต้องมีชื่อของประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร อยู่ด้วยเสมอ เพราะในยุคต้นของทิปโก้ ธุรกิจน้ำมัน, ยางมะตอย ล้วนเป็นธุรกิจการเมืองที่พ่อค้ายังต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์ในวงราชการสูงมาก จนในที่สุด แรงกดดันทางการเมืองจากระบบเผด็จการสู่ระบบทุนนิยมได้คลี่คลายสู่การค้าเสรี

ประสิทธิ์เดิมชื่อ กิมจั๊ว แซ่เบ๊ เกิดบนเรือนแพที่คลองบางกอกน้อย เขาเติบโตในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นพ่อที่อพยพจากซัวเถามาไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ จนสามารถปักหลักสร้างตัวเป็นเถ้าแก่รับจ้างขนส่งสินค้า ขึ้นล่องจากภาคใต้มาสถานีรถไฟบางกอกน้อยได้

เมื่อวัยเด็ก ประสิทธิ์ถูกเตี่ยส่งไปเรียนต่อที่ประเทศจีน เพราะยุคนั้นจอมพล ป.พิบูลสงครามสั่งปิดโรงเรียนจีนทุกแห่งโดยอ้างเหตุผลเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ

"เตี่ยก็บอกผมว่าให้ผมไปเรียนที่เมืองจีน หลังจากโรงเรียนที่เรียนอยู่ถูกสั่งปิด..ในขณะเดียวกันก็บอกผมว่า เวลากลับเมืองไทยให้เราบอกว่าเกิดเมืองจีน..คือกลัวว่าผมจะถูกเกณฑ์ทหาร ต้องไปเป็นทหาร..ก็เลยพยายามบอกว่า ลูกเป็นคนต่างด้าว.." จากคำบอกเล่าที่บันทึกไว้ในหนังสือฯ

สองปีในซัวเถา ประสิทธิ์ได้ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของจีน ที่กลายเป็นพื้นฐานสายสัมพันธ์ต่อเนื่องถึงการทำธุรกิจยางมะตอย และโรงงานน้ำผลไม้และเกษตรของทิปโก้ในจีนในเวลาต่อมา และประสิทธิ์สามารถเข้าถึงระดับผู้นำของจีน เช่น ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน, อดีตนายกฯ หลี่เผิงและจูหรงจี ดังภาพถ่ายที่ปรากฏในห้องทำงานของเขา

จากคนหนุ่มที่ใช้ชีวิตโลดโผนกับการเดินทาง เคยค้าเหล้าขายของขึ้นล่องตามเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หัวหิน-ปราณบุรี จนได้สมรักสมรสกับเสมียนแขวงการทางฯ คนสวย เรียม พกมณี มีบุตรธิดารวม 5 คน ที่ประสิทธิ์ส่งเสริมให้ลูกๆ เรียนที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็ก

ลูกสาวคนโตชื่อ อนุรัตน์ เทียมทัน หรือ "คุณนุ" จบเกียรตินิยมเคมีจากเกษตรและจบปริญญาโทด้านเคมีจาก The American University

คนที่สองเป็นบุตรชายคนเดียวชื่อ สิทธิลาภ ทรัพย์สาคร หรือ "ดำ" ตั้งแต่อายุ 13 ได้รับการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียน Millfield ของอังกฤษ เป็นพระสหายในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาดำได้ศึกษาต่อสาขาบริหารธุรกิจจาก Babson College ที่สหรัฐอเมริกา

"ผมนะมีสุขภาพดีมาก...เพราะลูกคนนี้ได้เสียสละไตให้ข้างหนึ่ง" นี่คือไตของดำที่อยู่ในร่างของพ่อจนชีวิตหาไม่

ลูกคนที่สามคือ ลักษณา "ลักษณ์" จบเกียรตินิยมบัญชี จุฬาฯ และจบเอ็มบีเอจาก Wharton School, University of Pennsylvania

ลูกคนที่สี่ คือรวมสิน หรือ "สิน" และคนสุดท้องชื่อ ปิยะรัตน์ หรือ "น้อง" ที่เดินทางไปเรียนอเมริกาตั้งแต่อายุ 13 จนจบปริญญาโทเอ็มบีเอจาก The American University และ George Washington University

ในฐานะผู้นำครอบครัว ประสิทธิ์ทำงานหนักเริ่มปักหลักจากทำโป๊ะรวยเป็น 3-4 แสนบาทใน 2-3 ปี สามารถสร้างบ้านหลังแรกเป็นตึกแถวในตลาดหัวหินได้ แต่ต่อมาทางการกวดขันป่าไม้ ทำให้ไม้หายากขึ้นจึงหันมาจับอาชีพทำเรือตังเก ก็ดีตอนต้น แต่ภายหลังขาดทุนและถูกฟ้อง ล้มละลายโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ "ประมงไทย" ที่คอร์รัปชั่น กันเองแล้วโกงใส่บัญชีลูกหนี้ด้ายอวนให้ประสิทธิ์รับไป

ที่พึ่งยามยากของประสิทธิ์ขณะนั้น คือคุณนายถนอมวงศ์ ซึ่งให้เงินยืม 50,000 บาทไปซื้อรถบรรทุกหกล้อเชฟโรเลตแบบใช้น้ำมันเบนซิน ปัจจุบันรถคู่ทุกข์คู่ยากคันนี้นำไปจอดไว้เป็นอนุสรณ์หน้าปั๊มน้ำมันหัวหิน

อาชีพสิงห์รถบรรทุกที่วิ่งส่งปลาจากหัวหินไปกรุงเทพฯ และขากลับบ้านหัวหินก็บรรทุกสินค้าของชำพิเศษ ตามรายการที่ร้านค้าฝากซื้อไว้ ปรากฏว่าวิ่งรถเดือนหนึ่งมีกำไรสูงถึง 25,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว

แต่เงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย โอกาสทางธุรกิจน้ำมัน อันเป็นธุรกิจการเมืองแรกต่างหาก ที่ประสิทธิ์ได้มันมาจากการเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-หัวหิน เพราะทุกครั้งประสิทธิ์จะซื้อน้ำมันราคาถูกที่ปั๊มสามทหารแถวหลักเมือง ซื้อครั้งหนึ่ง 10-20 ถัง ถังละ 200 ลิตร ซึ่งราคาถูกกว่าเชลล์และเอสโซ่ถึงลิตรละ 10 สตางค์

"ผมวิ่งรถอยู่สัก 2 ปี วันที่เอาเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ไปส่งนาย คือลูกเรียกนาย ผมก็เรียกนายด้วย เอาเงินไปส่งประจำเดือน มีโอกาสได้คุยกันว่า แหม! ถ้าผมได้ตั้งปั๊มสามทหารคงจะรวย เพราะราคาถูกดี..ท่านก็ถามว่าจะเอาจริงหรือเอาเล่น ผมก็เรียนว่า ที่พูดนี้จะเอาจริง ท่านเลยเขียนจดหมายให้ผมถือไปหาหม่อมลาภ พล.ท.ลาภ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม"

ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทยยุคนั้น ประสิทธิ์ได้รับโอกาสทองจากสิทธิพิเศษขององค์การเชื้อเพลิงนี้ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้นคือจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ครูถนอมวงศ์ ที่โรงเรียนนายร้อย จปร.มาก่อน

ดังนั้น ปั๊มน้ำมันสามทหารแห่งแรกในต่างจังหวัดจึงมีชื่อว่า "ถนอมวงศ์บริการ" ที่หัวหินด้วยเงินทุน 3 แสนบาท มาจากเงินสะสมของตัวเอง 2 แสนและขอยืมคุณนายถนอมวงศ์อีก 1 แสน ตั้งในรูปบริษัทถนอมวงศ์บริการจนถึงทุกวันนี้

ด้วยชื่อปั๊มที่พ้องกับจอมพลถนอม ทำให้ถูกมองว่าเป็นปั๊มทรราชทำธุรกิจผูกขาดเพราะสัญญาที่ทำเมื่อปี 2513 ระบุว่า ให้บริษัทถนอมวงศ์บริการได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทุกชนิด ภาพพจน์ธุรกิจการเมืองนี้ทำให้ปั๊มเกือบถูกเผาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจน้ำมันสามทหารของบริษัทถนอมวงศ์บริการ มีรายได้หลักสำคัญมาจากการได้สิทธิ์พิเศษบริการป้อนน้ำมันแก่หน่วยราชการ โดยเฉพาะกรมทางหลวงและกรมชลประทาน ซึ่งเครื่องจักรกลต้องใช้น้ำมันจำนวนนับหมื่นๆ ลิตรในแต่ละวันบนเส้นทางก่อสร้างทาง เช่น สายระนอง-ตะกั่วป่า และบางโครงการถึงขั้นสร้างปั๊มสามทหารในไซต์งาน เช่น การสร้างเขื่อนดินแก่งกระจานและเขื่อนปราณบุรี นอกจากนี้ยังเข้าไปในเส้นทางยุทธศาสตร์ เช่น สายตาก-แม่สอด, ภูหินร่องกล้า-เขาค้อ

ประสิทธิ์เคยเผยถึงรายได้ช่วงนั้นว่า ขายน้ำมันวันละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นลิตร ขณะที่ต้นทุนลิตรละ 65 สตางค์ กำไรอีก 35 สตางค์/ลิตร บวกค่าขนส่งอีกลิตรละ 10 สตางค์ทำให้วันหนึ่งๆ ประสิทธิ์มีกำไร 2 หมื่นบาท หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท เมื่อปี 2503-2504

ความเป็น King of Cash มีเงินสดในแบงก์ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทขณะนั้น ทำให้ฐานเงินทุนที่จะเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่เกิดขึ้น โดยในปี 2519 ประสิทธิ์ได้ตั้งโรงงานสับปะรดไทย (Tipco) โดยกู้แบงก์กรุงไทยด้วยแต่ในฐานะมือใหม่ที่ไม่เคยทำอุตสาหกรรม เคยแต่ซื้อมาขายไป ทำให้ต้องเรียนรู้ไปแก้ปัญหาไป เล่นเอาย่ำแย่จนประสิทธิ์ถึงกับเคยบ่นว่า "กว่าผมจะแก้สำเร็จ เรียกว่าผมสู้แทบตาย.."

จากเศรษฐีภูธรสู่เมืองกรุง ประสิทธิ์เปิดปั๊มสามทหาร "ถนอมวงศ์บริการ" แห่งแรกที่สามแยกเตาปูน ที่ดำเนินการโดยเอกชนรายเดียว นอกเหนือจากองค์การเชื้อเพลิงที่หลักเมืองและกองช่างทหารอากาศแล้ว

ด้วยวิธีขอเครดิตจากบอร์ดคณะกรรมการองค์การเชื้อเพลิง ที่มีเงินสดเหลือเยอะจากส่วนต่างของเวลา 6 เดือนที่ต้องจ่ายหนี้แก่โรงกลั่น ทำให้ประสิทธิ์สามารถใช้กลไกเครดิตนี้ซื้อที่ดินขนาด 5-6 ไร่ สร้างขยายธุรกิจปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ที่สาขาสามแยกพิชัย, สาขาพระรามหก, สาขาพระรามสี่, สาขากรุงเทพฯ-นนทบุรี, สาขาประชาชื่น

เหตุผลที่ต้องซื้อพื้นที่ใหญ่ขนาด 5-6 ไร่ ประสิทธิ์เล่าว่าขณะนั้นที่ดินทำปั๊ม 1-2 ไร่ ขายในราคาใกล้เคียงกัน เพราะที่ดินจะแพงมากเฉพาะบริเวณที่ติดด้านหน้าถนน ส่วนที่ดินต่อไปแทบไม่มีราคา

แลนด์แบงก์เหล่านี้ได้กลายเป็นสินทรัพย์อันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ปั๊มสามทหารสาขาพระรามหก ขนาดกว่า 5 ไร่ ที่ทุบปั๊มทิ้งแล้วสร้างเป็นอาคารทิปโก้สูง 33 ชั้นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ใจกลางกรุงเทพฯ

น่าสังเกตว่าการเติบโตของทิปโก้นั้นมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ตั้งแต่ฉบับแรก อภิมหาโครงการของกรมทางหลวง มีส่วนสร้างธุรกิจมหาศาลเมื่อประสิทธิ์มีวิสัยทัศน์ถูกทาง, ถูกเวลา และถูกคนด้วย

สินค้าที่เป็นธุรกิจการเมืองตัวที่สองคือ แอสฟัลต์หลังจากวิกฤติน้ำมันปี 2522 องค์การเชื้อเพลิงมีปัญหาจัดหา ส่วนแบ่งน้ำมันขาดแคลน รายได้หดหาย ประสิทธิ์ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เมื่อต้องหาธุรกิจใหม่ทดแทน ก็พบว่าสัญญาปี 2513 ทางถนอมวงศ์บริการสามารถขายยางมะตอยได้เพราะคำว่า "ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม" ครอบคลุมถึง

แต่ตลาดยางมะตอยนี้มีบริษัทแอสฟัลต์บริการของ ชาญ อิสสระ เป็นผู้ผูกขาดสิทธิ์จำหน่ายในนามองค์การเชื้อเพลิงแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นประสิทธิ์จึงยื่นหนังสือขอให้เจ้ากรมพระธรรมนูญตีความ ก็ปรากฏว่าถนอมวงศ์บริการมีสิทธิ์เช่นกัน

แต่ทางชาญ อิสสระ ออกมาพูดขอร้องว่า เขาได้เตรียมการสั่งซื้อยางไว้แล้ว 45,000 ตัน ขอเวลาให้เขาขายอีกสักปี

"..ผมก็ถือว่าลูกผู้ชาย พูดกันได้ อีกปีก็อีกปี.." ประสิทธิ์เล่า

เมื่อยุบองค์การเชื้อเพลิง เกิด ปตท.ขึ้น ถนอมวงศ์บริการก็ได้สิทธิ์เดิมโดยชอบธรรม แต่ต้องประสบกับแรงกดดันทางการเมืองจากยุคเปรม 1-2 และในที่สุดประสิทธิ์ได้เสนอทางการเปิดเสรีการประมูลซื้อขายยางมะตอย โดยไม่ต้องให้ ปตท.กำหนดราคาผู้เดียว

เพราะทุกครั้งที่มีการเปิดประมูลราคายางมะตอย บริษัทถนอมวงศ์บริการจะต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง เนื่องจากต้องซื้อยางมะตอยจากเอสโซ่ เชลล์ หรือพีเอส แอสฟัลต์ ถูกกล่าวหาว่า ฮั้วราคากัน

ดังนั้นในปี 2524 โรงงานผลิตยางมะตอยแห่งแรก "ทิปโก้ อิมัลชั่น" (เปลี่ยนชื่อเป็นทิปโก้แอสฟัลต์ เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) จึงจัดตั้งขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บนเนื้อที่ 18 ไร่โดยประสิทธิ์สามารถหายใจด้วยจมูกตัวเองได้ และสามารถรุกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดค้ายางมะตอยน้ำ ซึ่งเคยถูกมรสุมแรกเริ่มที่กรมทางหลวงห้ามใช้ยางมะตอยน้ำ ทั้งๆ ที่โรงงานเพิ่งได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เป็นการตัดอนาคต ประสิทธิ์จึงสู้โดยเข้าร้องเรียนกับ พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ รมว.คมนาคมขณะนั้นว่า โครงการเงินกู้ธนาคารโลกให้ใช้ยางมะตอยน้ำได้ มีผลให้ทิปโก้เดินหน้าต่อไปได้จนปัจจุบันมีโรงงานผลิต 5 โรงรวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนตันต่อปี เป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ และทุกโรงงานได้มาตรฐาน ISO 9002 เป็นรายแรกของโลก

ปัจจุบัน Collas ยักษ์ใหญ่แอสฟัลต์ของฝรั่งเศสได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่หลังจากทิปโก้กรุ๊ปประสบปัญหาวิกฤติในช่วงปี 2540

จากยางมะตอยสู่กองเรือขนส่ง ที่บรรทุกวัตถุดิบยาง AC จากสิงคโปร์ที่มีคุณภาพสูง ประสิทธิ์ได้ส่งต่อเรือนี้ที่ญี่ปุ่น กองเรือนี้มีระบบรักษาอุณหภูมิที่ทำให้ยางอุ่นและเหลวในสภาพเดียวกับออกจากโรงกลั่น เป็นเรือขนาด 1,000-5,000 ตัน มีระบบสื่อสารทั่วโลก ถึงวันนี้กองเรือขนส่งยางของทิปโก้มีถึง 7 ลำ เช่น TASCO ALPHA, TASCO DELTA, DELTA 1-2-3 และ TASCO 1 และ 2 ซึ่งเรียม ทรัพย์สาคร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากได้เป็นคนปล่อยเรือที่ญี่ปุ่นด้วย

ในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทิปโก้กรุ๊ปต้องประสบปัญหาการเงินรุนแรง เพราะแผนพัฒนาและก่อสร้างถนนลดลงครึ่งหนึ่งของงบประมาณ ในฐานะผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ประสิทธิ์จึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสใหม่ แสวงหาตลาดใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว และจีน ยอดส่งออกยางมะตอยไปจีนสูงถึง 1 แสนตันในปี 2541 ซึ่งโครงการร่วมทุนของประสิทธิ์กับบริษัทในสังกัดกรมคมนาคมมณฑลต่างๆ เช่น เหอเป่ย, เจียงซู, ยูนนาน, คุนหมิง จึงเกิดขึ้นในรูปโรงงานยางมะตอยชนิด PMA หลายแห่ง

นอกจากนี้ยังตั้งโรงงานอาหารและน้ำผลไม้ "ซีอาน-ทิปโก้ฟู้ดส์" ที่นครซีอาน อดีตเมืองหลวงเก่า 13 ราชวงศ์ของกษัตริย์จีน ในมณฑลส่านซี ที่มีคนหนาแน่น 100 ล้านคนด้วย โรงงานแห่งนี้ผลิตน้ำผลไม้และเยลลี่ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

หลังจากฉลองครบรอบ 72 ปีของประสิทธิ์ ในวันเดียวกับพิธีเปิดอาคารทิปโก้อย่างเป็นทางการในปี 2542 ประสิทธิ์ยังคงดูแลธุรกิจในฐานะประธานกรรมการอย่างแข็งขัน เพื่อนำทิปโก้ฝ่าวิกฤติให้รอดและแข็งแรงขึ้นอีกในอีก 4 ปีต่อมา ประสิทธิ์ บิดาแห่งทิปโก้และตระกูลทรัพย์สาครได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันที่ชีวาศรม หัวหิน ขณะอายุได้ 76 ปี

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us