ผมยอมรับว่าการมองภาพรวมของ "ผู้จัดการ 100" คราวนี้ แทบไม่มีสัญญาณพิเศษเอาเสียเลย
มันอาจจะสอดคล้องกับ "ความจริงประเทศไทย" ของทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นได้
การเปลี่ยนแปลงเชิง "ตัวเลข" หรือ "ดัชนี "ของ บริษัทในตลาดหุ้นไทยในปีที่ผ่านมา
เป็นไปอย่างไม่สร้างสรรค์เท่าที่ควร โดยรวมมีความเคลื่อนไหวในทาง เติบโตขึ้นจากเดิมเล็กน้อย
ผลประกอบการโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อย แต่แทบไม่มีนัยสำคัญที่จะบ่งบอกถึงแนวโน้มที่จับต้องได้
ดังนั้น "ผู้จัดการ 100" ปีนี้ ซึ่งจะตีพิมพ์ รายละเอียดอย่างครบถ้วนในฉบับหน้า
(มิถุนายน) จะเพิ่มข้อมูลของบริษัทในตลาดหุ้นไทยสำหรับไตรมาส แรกปี 2544
เอาไว้ด้วย เพื่อให้เห็นภาพที่กระจ่างเป็นจริง และทันสถานการณ์มากขึ้น ส่วนแนวโน้มจากตัวเลขของทั้งปี
2543 และไตรมาสแรกปี 2544 จะเป็นอย่างไร ขออุบไว้ก่อน ไว้ขยายภาพและโฟกัสให้เห็นกันในฉบับหน้า
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างชัดเจนในเรื่องหนึ่งเศรษฐกิจก็ถดถอย
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวในการเติบโต หลังจากวิกฤติการณ์ ค่อนข้างยาวนานช่วงหนึ่งก็ตาม
แนวโน้มใหญ่ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ การเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของสังคมสมัยใหม่
ยังดำเนินต่อ ไปอย่างแข็งขันทีเดียว
ภาพสะท้อนนี้มาแสดงให้เห็นอย่างกระจ่างในผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก
ทรัพย์ไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจหลายประเภท ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค
ซึ่งสะท้อนการดำเนินชีวิตที่มุ่งไปสู่กระแสโลก สู่ความทันสมัยมากขึ้น แม้ว่าความ
ทันสมัยนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ หรือความสามารถในการผลิตของสังคมที่เพิ่มขึ้นแต่ประการใด
ธุรกิจสื่อสารซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสังคม ยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการตอบสนองตลาดระดับผู้บริโภค
นับเป็นดัชนีที่น่าสนใจมาก ทีเดียว
ธุรกิจบริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
เริ่มจากเทเลคอมเอเซีย (TA) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รายได้เพิ่มขึ้น จากประมาณ
13,500 ล้านบาท ทะลุ 20,750 ล้านบาท อันเนื่องมาจากความพยายามขายหมายเลขโทรศัพท์ที่เหลือได้มาก
พร้อมกับมีบริการเสริมโทรศัพท์พีซีทีซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย
ของระบบโทรศัพท์พื้นฐานเดิม เข้าสู่กระแสความยิ่งใหญ่ของโทรศัพท์มือถือด้วย
เป็นกิจกรรมการตลาดที่คึกคักมาก อย่างไรก็ตาม แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่กิจการยังประสบการขาดทุนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
ขณะเดียวกันผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างกลุ่มชิน ก็เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน
AIS ยอด ขายเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 25,000 ล้านบาท ไปสู่เกือบๆ 40,000 ล้านบาท
ไม่เท่านั้นกำไรของ AIS ยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากระดับ 2,700 ล้านบาทไปสู่ประมาณ
6,600 ล้านบาท แม้ว่า TAC ของกลุ่ม UCOM จะมียอดขายลดลงไป เนื่องจากอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างธุรกิจและหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม ตลาดโดยรวมของโทรศัพท์มือถือ ก็เติบโตขึ้นอย่าง มาก ท่ามกลางการพัฒนาสินค้าให้เข้ากับชีวิตสมัย
ใหม่อย่างหลากหลาย ที่สัมพันธ์กับการเติบโตของชุมชนเมือง
"ไม่มีใครคาดคิดว่า สัมปทานให้บริการโทรศัพท์ มือถือจากคลื่นความถี่
Microwave ซึ่งค้นพบมาแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีค่ามากมายเมื่อประยุกต์
ใช้อย่างถูกจังหวะและเวลา
การขยายตัวของธุรกิจนี้เติบโตพร้อมกับการเติบโตของสังคมเมืองหลวงและหัวเมือง
พร้อมกับการวางเครือข่ายสื่อสารทั่วโลกในยุคการค้าเสรีดำเนินไปอย่างเข้มข้น
เครือข่ายการสื่อสารมีความหมายมากมาย ในการดำรงชีวิตของผู้คนยุคใหม่
จากนั้นไม่ถึง 10 ปี ธุรกิจโทรศัพท์มือถือก็กลาย เป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดในธุรกิจสื่อสาร
และที่สำคัญกว่านี้ application ของธุรกิจนี้ มีความยืดหยุ่น และพลิกแพลง
อย่างมาก ในปี 2544 จากนี้ไป หลังจากผ่านมรสุมครั้ง ใหญ่มาอย่างราบรื่น มันเป็นภาพของสังคมที่มีบุคลิกอย่างโดดเด่นและมีสีสันอย่างมาก"
ข้างต้นคือ เนื้อหาส่วนหนึ่ง "จากโต๊ะบรรณาธิการ" ในฉบับมกราคม
2544 ซึ่งคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ จากนั้นธุรกิจนี้ก็คึกคักเป็นอันมาก
อีกมิติหนึ่งของการดำเนินชีวิตในการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากขึ้นจากเดิม
ทำให้กิจการค้าปลีก 2 แห่งที่อยู่ในตลาดหุ้นเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่า MAKRO
หรือ BIGC ซึ่ง เป็นกิจการค้าปลีกของต่างชาติ 2 รายในจำนวนหลาย รายที่ยึดครองธุรกิจค้าปลีกของไทยอย่างสิ้นเชิง
พร้อมๆ กับการผลักให้ผู้บริโภคตั้งแต่หัวเมืองจนถึงเมืองใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคครั้งใหญ่
ภายใต้การค้า ขายในระบบเครือข่ายดั้งเดิมไปสู่เครือข่ายของธุรกิจยักษ์ใหญ่
ซึ่งเรียกกันว่า Modern Trade
อีกมิติหนึ่งของการพัฒนาชีวิตสมัยใหม่ของชุมชนเมือง จะสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตการบริโภค
สินค้า ความบันเทิง ในรูปต่างๆ ซึ่งมีกระแสและแฟชั่นผสมอยู่ จึงทำให้ธุรกิจบริการความบันเทิงต่างๆ
เติบโตอย่าง ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
GRAMMY เจ้าของค่ายเทป ธุรกิจบันเทิง รายการทีวี ก็เติบโตอย่างชัดเจน จากรายได้
3,500 ล้านบาท ในปี 2542 ไปสู่ 3,900 ล้านบาท ในปี 2543
BEC world หรือเจ้าของทีวีช่อง 3 ก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 3,800 ล้านบาทขึ้นสู่ระดับ
5,200 ล้านบาท เช่นเดียวกับ pay TV ของ UBC ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็เติบโตขึ้นทางยอดขายอย่างมาก
เช่นเดียวกัน จาก 4,200 ล้านบาท ไปสู่ 4,900 ล้านบาท
การเติบโตขึ้นและแนวโน้มเช่นนี้ กำลังขยายวงออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง