Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2547
ชีวิตที่เกินคำบรรยาย             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

New Business Model Like Father Like Son
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ผู้สร้างตำนาน "นักชิมอาหาร"
หมึกแดงแผลงรส
ชีวิตเหมือนนิยาย "หมึกแดง"
ชีวิตที่เลือกแล้ว ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์
ปิ่นโตเถาเล็ก

   
search resources

ภาสันต์ สวัสดิวัตน์, ม.ล.
ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ม.ร.ว.




ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นหม่อมราชวงศ์ชายคนแรกของหม่อมเจ้าเฉลิมศรี สวัสดิวัตน์ และหม่อมเจริญ หม่อมเจ้าเฉลิมศรี เป็นโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ กับหม่อมละมุน และกรมพระสวัสดิวัตนวศิษฏ์ คือ พระโอรสองค์หนึ่งในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4

เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2470 ที่วังเพชรบูรณ์ (บริเวณที่ตั้งโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ ปัจจุบัน) ลืมตาได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ทำท่าจะลาโลก เพราะ แพ้นมมารดา จนต้องเตรียมหาโลงใส่ ร้อนถึงหม่อมย่า ต้องเดินข้ามสะพานเฉลิมเผ่า จาก วังสระปทุม มาอุ้มไปประคบประหงม หยอดยาต้มใบระกาแบบโบราณ และได้อาศัยน้ำนม จาก "แม่นมผ่อง" และ "กิมฮั้ว" เลี้ยงดูจนรอดชีวิต

กลายเป็นหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งที่มีชีวิตราวกับนิยาย เป็นทั้งนักแสดง นักร้อง นักเขียน นักจัดรายการ และนักชิมอาหาร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดของเมืองไทย

"เมื่อก่อนวังเพชรบูรณ์กับวังสระปทุม มีคลองอรชรคั่นกลาง แต่เดิมเป็นวังนอกของรัชกาลที่ 4 เมื่อขุดคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นทางเดินทัพ ยุงจะเยอะมาก ตกค่ำ จะแห่กันมาเป็นฝูงใหญ่เหมือนลูกมะพร้าวเลย กัดทีทั้งแสบทั้งคัน เลยได้ชื่อว่าคลองแสนแสบ"

คุณชายถนัดศรีเริ่มเล่าเรื่องย้อนหลังกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน ด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส ชัดเจน กว่า 3 ชั่วโมงของการสนทนาในครั้งแรกเต็มไปด้วยลูกเล่น ลูกฮา คำผวน คำแสลง พร้อมสรรพ และที่สำคัญ เป็นคนที่มีความจำดีมาก แต่ละเรื่องสามารถเชื่อมโยงอ้างอิงถึงสถานที่และตัวบุคคลอย่างน่าสนใจ เรื่องราวของคุณชายผ่านการถอดเทปสนุกสนานได้อรรถรสมากกว่าข้อมูลที่นำมาเขียนได้มากมายนัก

วันนั้นคุณชายมาพร้อมกับ "ปิ่นโตเถาเล็ก" ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ โดยใช้ร้านนิตยาไก่ย่างสาขา 2 บนถนนรัตนา ธิเบศร์ เป็นสถานที่นัดพบกับ "ผู้จัดการ"

"เกิดวังเพชรบูรณ์ โตวังสระปทุม มีลูกมีเมียวังศุโขทัย" คือประวัติชีวิตที่คุณชายถนัดศรี มักชอบสรุปให้ใครๆ ฟัง

วังสระปทุม เป็นวังของสมเด็จพระราชบิดาฯ และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

ในครั้งกระนั้น นอกจากคุณชายถนัดศรี ในวังสระปทุม มีเจ้านายเล็กๆ อยู่ 3 พระองค์ คือ "พระองค์หญิง" "พระองค์ ชาย" และ "พระองค์เล็ก" คือ สมเด็จพระพี่นางฯ, รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

"พอทั้ง 3 พระองค์เสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ ก็เหลือเราเป็นเจ้าอาละวาดอยู่คนเดียว" คุณชายเล่าพลางหัวเราะเสียงดัง เมื่อย้อนรำลึกถึงวีรกรรมความแก่นแก้วของตนเองในวัยเด็ก

ทุกคนในวังต้องยอมเจ้านายเล็กๆ คนนี้ เพราะสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้นเป็นถึงพี่สาวแท้ๆ ของสมเด็จปู่ของคุณชาย ชีวิตในวัยเด็กจึงถูกเลี้ยงอย่างเจ้านาย ความลำบากอดอยากไม่เคยพานพบ

"ร้องไห้ไม่ยอมไปเรียนประจำที่วชิราวุธ จำได้ว่า ตอนนั้นกลัวมากว่า แล้ว ใครจะอาบน้ำให้ให้กูล่ะ ใครจะใส่กางเกงให้ แล้วเวลานอนใครจะเกาหลังให้หลับ เลยอาละวาดเสียมากมาย จนสุดท้าย หม่อมย่า ต้องยอมส่งไปเรียนที่โรงเรียนราชินี"

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475 และการตัดสินใจสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูเหมือนว่ามีผลกระทบต่อการศึกษาต่อของคุณชายถนัดศรี และผู้ใช้สกุลสวัสดิวัตน์อย่างมากในเวลาต่อมา

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีจบจากโรงเรียนนายร้อย ประเทศรัสเซีย เลยมีความต้อง การให้บุตรชายคนโต ได้เรียนทหารเหมือน อย่างตน นักเรียนจากประเทศรัสเซียรุ่นเดียวกับท่านคือ หลวงยอดอาวุธ ฤทธาคนี ผู้แปลวรรณกรรมระดับโลกเรื่อง "สงคราม และสันติภาพ" ของ ลีโอ ตอลสตอย จากภาษารัสเซียเป็นภาษาไทย

"พ่ออยากให้เข้าทหาร แต่ในสมัยนั้นเป็นยุคที่เขาแอนตี้เจ้ากันแล้ว สกุลสวัสดิวัตน์ ผู้ใหญ่ในแผ่นดินยุคนั้นถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลให้อยู่ในนี้ไม่ได้ ต้องไปอยู่ข้างนอก เพราะขนาดเสด็จปู่ยังโดนเนรเทศให้ไปสิ้นที่ปีนังเลย ในปี พ.ศ.2484-2485 พวกเราโดนปลดหมดทุกคน ไม่มีใครเหลือ จะเข้า โรงเรียนนายร้อย นายเรือ อะไรไม่ได้ทั้งนั้น เขาไม่รับ ทั้งๆ ที่พ่อเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และจอมพลผิน ชุณหะวัณ อย่าลืมว่าสมัยนั้น ปู่ผมเป็นทั้งน้า และพ่อตาของรัชกาลที่ 7" (ดูตารางสาแหรกประกอบ)

เมื่อเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนธรรมศาสตร์และการเมือง ชีวิตของคุณชายก็ยิ่งมีรสชาติ ที่เข้มข้นขึ้น นิสัยสนุกสนาน เฮฮา และมนุษยสัมพันธ์ดี ทำให้เขามีเพื่อนมากมายหลายกลุ่มและเริ่มผูกพันลึกซึ้งมากขึ้นเมื่อเกิดสงครามโลก ในขณะเรียนธรรมศาสตร์ปี 3 เพราะ เพื่อนฝูงส่วนใหญ่เป็นชาวปักษ์ใต้ เริ่มลำบากเรื่องอาหารการกิน

"นักเรียนธรรมศาสตร์สมัยนั้น น่ารักอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครปิดบังความจน เพราะ ถือว่าความจนเป็นอาภรณ์ประดับชีวิต ใครจนแต่สามารถบากบั่นมาถึงนี่ คือวีรบุรุษ"

คุณชายถนัดศรีเริ่มร้องเพลง เพื่อหาเงินช่วยค่าอาหารให้เพื่อน ต่อมาได้เข้ามาอยู่วงสุนทราภรณ์ เพราะภรรยาของครูเอื้อคือ อาภรณ์ กรรณสูต เป็นนักเรียนห้องเดียวกัน หลังสงครามก็เรียนหนังสือไปด้วย พร้อมกับทำงานเป็นเสมียนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รู้จักกับเสนีย์ เสาวพงศ์ และได้เข้าชมรมนักเขียน "ตึกดิน" กับอิงอร ก็ตอนนั้น

ช่วงหนึ่งของชีวิต ตั้งใจจะไปเรียนต่อด้านกฎหมาย ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เป็นอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ที่คุณชายบอกว่า เต็มที่ทั้งสุรา ภาชี กีฬาบัตร ดังนั้นปริญญาที่ได้แทนที่จะเป็น "Barrister" ก็เป็น "บาร์เทนเดอร์" แทน

แต่การใช้ชีวิตดังกล่าว ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเข้าไปทำรายการ "Letter from London" สถานีวิทยุุบีบีซี ภาคภาษาไทย และรายได้จากตรงนั้นคือเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่สามารถเอาไปเที่ยวเตร่ นอกเหนือจากเงินส่วนหนึ่งที่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา คอยช่วยเหลือ

พระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา เป็นพระธิดา กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระพันปีหลวง และอยู่ในวังสระปทุมตั้งแต่เด็ก เป็นบุคคลเดียวที่ตอนหลังส่งเสีย ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือ "หมึกแดง" ให้เรียนต่อในต่างประเทศ

"เป็นสัญญาที่ใต้ต้นลิ้นจี่ในวังสระปทุม ตอนนั้นเรายังเด็ก แต่ท่านมีอายุ มากกว่าเรา 5 ปี ก็เหมือนพี่สาวคนหนึ่ง พอท่านจะออกไปเสกสมรสกับหม่อมเจ้าสุวินิต กิติยากร ก็ล่ำลากัน บอกว่าไปมีครอบครัวแล้วอย่าลืมน้องนะ ท่านก็ช่วยเหลือมาตลอด"

หลังกลับจากประเทศอังกฤษได้ยึดอาชีพบันเทิงเป็นหลัก รับเล่นเป็นพระเอกหลายเรื่อง ทางช่อง 9 บางขุนพรหม เช่น "ทับนาง" ของอุษณา เพลิงธรรม "สิ้นเพลงรัก" เป็นเรื่องที่แต่งเองมีประมูล อุณหธูป เป็นคนเขียนบท สุพรรณ บูรณ-พิมพ์ เป็นนางเอก

คุณชายถนัดศรีเคยเล่าไว้ในหนังสือไฮคลาสฉบับหนึ่งว่า "สิ้นเพลงรักเป็นเรื่องที่ชอบที่สุด พล็อตเรื่องเกิดขึ้นเพราะตอนนั้นหย่ากับเมียแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมลูก เพราะชีวิตไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย แล้วคิดถึงลูกมาก พ่อกับลูกได้ใกล้ชิดกันเพียงแค่เสียง เพราะแม่โกรธเกลียดพ่อมาก มีอยู่คราวหนึ่งลูกมองซ้ายมองขวา เปิดวิทยุเสียงพ่อก็เจื้อยแจ้วออกมาเลย ลูกก็พูดกับวิทยุว่า พ่อร้องดังๆ ก็ได้จ๊ะ แม่ไม่อยู่หรอก ประโยคนี้ทำเอาคนร้องไห้ทุกรอบเลย"

ภรรยาคนแรกของคุณชายถนัดศรีคือ ม.ล.ประอร นามสกุลเดิม มาลากุล เป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 มีบุตรชาย 2 คน คือ ม.ล.ศิริเฉลิม และ ม.ล.เพิ่มวุทธ์ ต่อมาภายหลัง ม.ล.ประอรได้ไปแต่งงานใหม่กับ ม.จ.การวิก จักรพันธุ์

ปี 2505 แต่งงานใหม่อีกครั้งกับโรจนา มีบุตรชายชื่อ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ใน ระยะหลังนี้แม้ไม่มีงานร้องเพลง และละคร แต่บทบาทนักชิม และนักจัดรายการอาหาร ทำให้ท่านยังเป็นที่รู้จักของคนเกือบทุกรุ่นทุกวัย

เป็นคนคนหนึ่งที่มีเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเกินคำบรรยาย และยากที่จะหาคำจำกัดความ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us