มรดกในเรื่องอาหาร ถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือดและความคิดของคน "รุ่นพ่อ" สู่ "รุ่นลูก" โดยมีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ จากแบรนด์ "เชลล์ชวนชิม" มาเป็นแบรนด์ "หมึกแดง"
โดยมี "ปิ่นโตเถาเล็ก" เดินตามรอยเท้าพ่อและพี่มาติด ๆ
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2504 สมัยที่น้ำมันพรีเมียม 95 ราคาลิตรละ 2.10 บาท
รัฐบาลกำลังตัดถนนสายใหม่ไปทั่วประเทศ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายและโฆษณาของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย
ในสมัยนั้น ได้มาปรึกษา ม.ร.ว.ถนัดศรี ว่า จะทำโฆษณาแบบ soft sale อย่างไรดี
คุณชายถนัดศรีก็ได้ยกตัวอย่างว่าที่ฝรั่งเศสมี Michelin Guide ซึ่งเป็นของบริษัทที่ผลิตยางมิชลิน
ได้แนะนำร้านอาหารในเส้นทางต่างๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งแนวคิดนี้น่าจะนำมาใช้กับเมืองไทย
ได้ เพราะคนไทยชอบหาของกินอร่อยๆ เช่นกัน
"เชลล์ชวนชิม" จึงได้เกิดขึ้นครั้งแรก โดยมีเชลล์แก๊สเป็นสปอนเซอร์ เพราะตอน
นั้นบริษัทเชลล์กำลังรณรงค์ให้หันมาใช้เตาแก๊สแทนเตาถ่าน ต่อมาในเดือนกันยายน
2525 จึงได้เปลี่ยนโลโกเป็นชามเบญจรงค์ "ลายผักกาด" แทน เพื่อสร้างความชัดเจนในการสนับสนุนในเรื่องอาหารของเชลล์
คุณชายถนัดศรีเรียนมาทางด้านกฎหมาย ส่วนความรู้ทางด้านอาหารได้มาจากหม่อมละมุน
สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้เป็นหม่อมย่า และผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม
ในขณะที่แม่แท้ๆ คือหม่อมเจริญ เป็นลูกมือของ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ทำเครื่องถวายสมเด็จพระพันปีหลวง
ทุกอย่างได้ซึมซับเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว ทั้งอาหารคาวหวานเลิศรส ตลอดจนกรรมวิธีการปรุงต่างๆ
ที่ผ่านตาผ่านลิ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก
ย่างเข้าวัยหนุ่ม ชีวิตที่เป็นอิสระ มีเพื่อนฝูงหลายกลุ่ม หลากหลายฐานะ
นอกวัง ชอบเที่ยวเตร่เฮฮา และชอบทำกับแกล้มในวงเหล้าให้กับเพื่อนฝูง รสมือเป็นที่ยอมรับจน
กระทั่งได้โอกาสจากเชลล์
นอกจากมีลิ้นที่สามารถรับรสชาติได้ครบทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม และรู้ลึกไปถึงสูตรและวิธีทำแล้ว
อาหารแต่ละจานยังถูกปรุงแต่งด้วยเรื่องราว อันสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นไปของผู้คนในบ้านเมือง
สร้างเสน่ห์ให้คอลัมน์ "เชลล์ชวนชิม" ได้รับ การยอมรับอย่างรวดเร็ว
ลูกชิ้นห้าหม้อ หรือเกาเหลาลูกชิ้นมันสมองหมู บนรถเข็นหน้าห้องแถวย่านแพร่งภูธร
ถูกแนะนำเป็นรายแรกในคอลัมน์นี้ ส่วนต่างจังหวัดคือเป็ดพะโล้ท่าเกวียนที่จังหวัดชลบุรี
ร้านค้าไหนที่คุณชายตามไปชิม ก็จะถูกนำมาเขียนถึงในหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์"
ซึ่งเริ่มเขียนตอนที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2504
ต่อมาย้ายหาบไปอยู่ที่ "ฟ้าเมืองไทย" ตั้งแต่ฉบับที่ 340 ในวันที่ 25 กันยายน
ปี 2518 ปัจจุบันปักหลักที่ "มติชน" และคอลัมน์ "ซันเดย์สเปเชียล" ในไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์
หลักเกณฑ์การได้ป้าย "เชลล์ชวนชิม" ง่ายมากคือ เจ้าของร้านต้องตัดคอลัมน์ที่เขียนถึงร้านตนเองไปขอป้ายจากเชลล์
ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการทำป้ายไม่กี่ร้อยบาท และสามารถนำไปใช้ได้ตลอดไป ไม่มีการยึดคืน
แม้ว่าบางร้านรสชาติอาหารจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
ด้วยวิธีนี้อาจทำให้ป้ายเชลล์ชวนชิม ขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่คุณชายถนัดศรียืนยันว่า
การให้ป้ายแล้วเอาคืน เป็นการสร้างศัตรู ซึ่งหากร้านไหนรสชาติเปลี่ยนไป ลูกค้าต้องตัดสินเลิกทานด้วยตนเอง
เป็นวิธีคิดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการให้ป้าย "หมึกแดง" ของ ม..ล.ศิริเฉลิม
สวัสดิวัตน์ ลูกชายคนโตที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน
ป้ายเชลล์ชวนชิมสร้างความร่ำรวยให้เจ้าของร้าน และสามารถขยายสาขาเป็นของลูกหลานต่อเนื่อง
ส่วนคุณชายจะได้ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน และค่าเรื่องจากบริษัทเชลล์ครั้งละ
1,000 บาท และเพิ่มเป็น 1,500 บาท เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ได้ตามมาคือ ชื่อเสียง และสัญลักษณ์แห่งความเอร็ดอร่อยในเรื่องการชิมและการทำรายการอาหาร
สร้าง "โอกาส" ให้ไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างๆ ด้านอาหารมากมายในเวลาต่อมา
เริ่มจากรายการ "พ่อบ้านเข้าครัว" ทางช่อง 5 ด้วยความคิดที่มองการณ์ไกลเกี่ยวกับปัญหาสังคม
ว่าต้องการให้พ่อแม่ลูกมีกิจกรรมทำร่วมกันในวันหยุด
หลังจากนั้นก็มีรายการของปลากระป๋องปุ้มปุ้ย รายการของซอสภูเขาทอง รายการหมึกแดงเวิลด์
ที่ทำกับลูกชายคนโต รวมทั้งเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สินค้าต่างๆ มากมาย
การชอบหาของแปลกใหม่รับประทาน ชอบเดินทางท่องเที่ยว และมีกลุ่มเพื่อนมากมาย
ทำให้คุณชายถนัดศรีมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย และยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มากด้วยอารมณ์ขัน
เต็มไปด้วยสาระและความบันเทิงครบครัน เรื่อง ราวเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรายการทีวี
รายการวิทยุ และข้อเขียนในหนังสือต่างๆ
เป็นที่รู้กันว่าถ้าเชิญไปออกรายการ ไหนไม่จำเป็นต้องมีสคริปต์ให้ เพราะสามารถพูดไปได้เรื่อยๆ
และพูดในสิ่งที่สามารถสะกดคนฟังได้ทุกครั้ง
นอกจากเป็นนักชิม นักเขียน นักแสดงระดับรางวัลเมขลา นักร้องแผ่นเสียงทองคำ
ยังเป็นพิธีกรรายการต่างๆ ในทีวีอีกมากมายหลายรายการ ในปัจจุบัน วิธีคิดมาจากการทำรายการของคุณชายในสมัยก่อน
เช่น ควิซโชว์ รายการ "การบิน ไทยไขจักรวาล" ซึ่งโด่งดังมากในอดีต
กระบวนการจัดการทางทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น หากได้รับการจัดการอย่างมีระบบตั้งแต่ต้น
น่าจะสร้างเม็ดเงินได้อย่างมากมายมหาศาล แต่เมื่อคุณชายถนัดศรีเป็นคนรุ่นเก่า
ถูกเลี้ยงมาแบบโบราณ คำว่า "บารมี" จึงมีความหมายมากกว่าเม็ดเงิน
"เรื่องราวต่างๆ ในรายการครอบจักรวาลหรือรายการอาหารทางทีวี ตั้งแต่เริ่มแรก
หาก คุณพ่อสามารถจัดเป็นระบบ แยกเป็นหมวดหมู่ แล้วจดเป็นลิขสิทธิ์ไว้ ก็สามารถเอามาทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ"
"หมึกแดง" เคยวิจารณ์การทำงานของผู้เป็นพ่อด้วยวิธีคิดของคนรุ่นใหม่
ผลงานอย่างอื่นอีกมากมายในวงการบันเทิง เช่น บทละคร เนื้อเพลง ซึ่งสูญหายไปมาก
และที่สำคัญ หากใครต้องการนำไปใช้ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ทุกวันนี้หากถาม
ถึงรางวัลที่ได้รับหรือเพลงเก่าๆ ว่าเก็บไว้หรือเปล่า คุณชายถนัดศรีจะตอบชัดเจนว่า
ไม่เคยเก็บ รางวัลอยู่ไหนไม่รู้
"ใครจะเอาไปใช้ก็ช่าง เป็นคนที่ไม่เก็บอะไรเลย ประหลาด มีคนเขาโทรมาขอก็จะบอกว่า
มึงจะเอาไป ก็เอาไปซี้ ไม่ยุ่งหรอกเรื่องลิขสิทธิ์อะไรนี่"
รายได้หลักตอนนี้มาจากรายการของหมึกแดงเวิลด์ทางช่องไอทีวี รายการครอบจักรวาล
ทางช่อง 5 รายการครอบจักรวาล ทางสถานีวิทยุ เงินปันผลจากบริษัทธรณีพิพัฒน์
ที่เป็นประธานกรรมการบริษัท และถือหุ้นอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากการ
เขียนคอลัมน์ เชลล์ชวนชิม ตอนละ 1,500 บาท ส่วนไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลนั้นคุณชายถนัดศรีบอกว่า
ได้ตอนละหลายพันบาทแต่ไม่ถึงหมื่นบาท รวมทั้งรายได้จากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สินค้าต่างๆ
คุณชายยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน และหน่วยงานของรัฐบาลอีกหลายแห่ง
เช่น ที่ปรึกษาสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรรมการที่ปรึกษาสถานีวิทยุ
กองทัพ บก กรรมการบริษัทประกิตโฮลดิ้ง กรรมการบริษัทกว้างไพศาล จำกัด คุณชายบอกว่า
บางแห่งก็จะให้เป็นเงินเดือนตอบแทนบ้าง ไม่มากนัก ส่วนบางแห่งก็ได้แค่ตำแหน่งอย่างเดียว
มีบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด ถนัดศรี บนถนนงามวงศ์วาน ที่มีพนักงานประมาณ
6-7 คน บริหารกันแบบง่ายๆ เหมือนครอบครัว
"ท่านรวยชื่อเสียงจริง แต่ไม่รวยเงินทอง ใครให้ช่วยทำอะไรก็ทำ ค่าตัวที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็น
ปากกา เสื้อผ้า หรือของกินเสียเป็นส่วนใหญ่ หน้าเทศกาลที พวกร้านอาหารต่างๆ
ที่ท่านเขียนถึงจะส่งของกินมาให้เต็มบ้าน ซึ่งท่านก็ดีใจที่ยังมีคนระลึกถึง
ถึงวันนี้แล้วทรัพย์สินก็มีบ้านหลังนี้หลังเดียว ออกจากวัง ท่านก็เช่าบ้านมาตลอด
ที่ทางต่างจังหวัดก็ไม่มี ท่านเป็นคนง่ายๆ ไม่ติดยึดอะไร"
โรจนา ภรรยาของคุณชายเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังในวันที่พบกันครั้งแรกที่บ้าน
ในซอยอารีย์สัมพันธ์ เธอยังไม่ทิ้งร่องรอยความสวยระดับดาวธรรมศาสตร์ และอดีต
พนักงานบริษัทเดินอากาศไทย
คำว่าความเป็นอยู่ง่ายๆ ของคุณชาย สอดคล้องกับภาพของความเป็นจริง เมื่อได้เห็นห้องนอนที่ใช้นั่งอัดรายการ
"ครอบจักรวาล" ทุกเช้าเต็มไปด้วยหนังสือ และที่นอนยัดนุ่นบนเตียงเล็กๆ ริมห้อง
หนังสือต่างๆ เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานอย่างจริงจังของคนยุคก่อน
ที่ต้องค้นคว้าอย่างจริงจังก่อนที่จะนำเอาข้อมูลไปอ้างอิง
มันยากกว่าการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ใช้นิ้วเดียวคลิกไปที่ google.com มากมายนัก
ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มีอายุครบ 78 ปีเต็ม
และยังเต็มไปด้วยพละกำลังในการเสาะหา ขุมทรัพย์แห่งความอร่อยใหม่ๆ เพื่อนำมาเสนอกับคนที่ติดตามรายการอย่างไม่ยอมหยุดพัก