ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่ Allianz เฟื่องฟูสุดขีดในเยอรมนีนั้น
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งนี้ได้ทุ่มซื้อหุ้นของบริษัทระดับ bluechip มากมายในดัชนี
DAX 30 ของเยอรมนี ทั้ง BMW ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ KarstadtQuelle บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่
และ Linde ยักษ์ใหญ่ด้านเคมี
แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2001 เป็นต้นมา Allianz ได้เริ่มขายหุ้นของบริษัทต่างๆ
ที่ถืออยู่ออกไปเป็นมูลค่ารวมถึง 3 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงหุ้นของบริษัทสาธารณูปโภค
RWE และ E.ON และยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์อย่าง BASF รวมทั้งหุ้นในบริษัทเครื่องสำอางชื่อดังอย่าง
Beiersdorf เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Nivea ซึ่งการลดการถือครองหุ้นใน
Beiersdorf ลงจาก 47% เหลือ 3.6% (ก่อนจะซื้อกลับมาเป็น 7%) ทำให้ Allianz
ได้เงินสดกลับมาถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์ และไม่เว้นแม้แต่หุ้นในบริษัท Munich
Re Group ซึ่งเป็นพันธมิตรและเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการประกันภัยด้วยกัน ที่ Allianz
ได้ลดการถือครองหุ้นลงจาก 33% เหลือ 9%
การปลดพันธนาการจากบริษัทอื่นๆ ทำให้ Allianz นำเงินสดที่ได้มาลงทุนใหม่ในธุรกิจหลัก
และสามารถเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินได้ เนื่องจากเท่ากับ Allianz
ได้ลดความเสี่ยงในการถือทรัพย์สินที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้นลงไปได้ โดยในขณะนี้
ทรัพย์สินที่อยู่ในรูปหุ้นในบริษัทต่างๆ ของ Allianz มีสัดส่วนเพียง 16%
ของบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของ Allianz เท่านั้น เทียบกับที่เคยมีสัดส่วนถึง
36% ในปี 2000