สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี กลับมามีกำไรอีกครั้ง แต่ยังต้องเหนื่อยอีกนาน
เมื่อ Michael Diekmann ขึ้นรับตำแหน่ง CEO ของ Allianz ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีแห่งนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤติที่สุด
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ธุรกิจหลักของ Allianz คือธุรกิจประกันภัยกำลังจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมหาศาล
เนื่องจากลูกค้าจำนวนมากประสบความเสียหายจากการก่อการร้ายและภัยธรรมชาติ
ทรัพย์สินของบริษัทก็กำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว จากการที่ตลาดหุ้นตกต่ำ
ส่วนธนาคาร Dresdner Bank ซึ่งอยู่ในเครือก็กำลังขาดทุนมหาศาล
Allianz ถูกตั้งคำถามถึงเสถียรภาพทางการเงินของตนทันที หลังจากประกาศผลขาดทุนมหาศาลถึง 1.45 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2002
กว่า 1 ปีให้หลัง Allianz ยังคงเผชิญกับปัญหามากมาย แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า
Allianz กำลังจะกลับมาใหม่ด้วยความแข็งแกร่งมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง
Groupe AXA ของฝรั่งเศส และ American International Group ของสหรัฐฯ บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดและทำกำไรมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ Allianz เพิ่งประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยมีรายได้สุทธิเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2003 จากยอดขาย
1 แสน 1 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นถึง 77% ในรอบ 12
เดือน ที่ผ่านมา
Allianz สามารถปีนขึ้นมาอยู่บนปากหลุมแห่งการขาดทุนได้ ก็เพราะ Diekmann
สามารถตัดลดค่าใช้จ่ายลงได้ 2.3 พันล้านดอลลาร์ ด้วยการลดจำนวนพนักงาน และขายทิ้งสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นได้แก่หุ้นในบริษัทประกันภัย
M.I. ของอังกฤษ และ AGF Life & Pension ของบราซิล รวมทั้งการปรับปรุงบริษัทในเครือที่สำคัญอย่าง
Fireman's Fund Insurance บริษัทประกันวินาศภัยและอุบัติเหตุในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม Diekmann ยังมีปัญหาให้ต้องแก้กันเหนื่อยอีกหลายอย่าง กว่าที่เขาจะสามารถประกาศชัยชนะได้
Dresdner ซึ่ง Allianz ซื้อมาในปี 2001 ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี
2003 ขาดทุนมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากที่ขาดทุน 1.7 พัน ล้านดอลลาร์ในปี
2002
นอกจากนี้ Allianz ยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดีกับ Dresdner Kleinwort Wasserstein
วาณิชธนกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน หลังจากที่ธุรกิจนี้เริ่มกลับมาทำกำไรอีกครั้ง
แต่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของ Allianz
Allianz เริ่มแก้ไขปัญหามาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยได้เสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นจำนวน
5.4 พันล้านดอลลาร์ และสามารถระดมทุนเพิ่มได้อีก 1.8 พันล้านจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ ผลก็คือ Allianz สามารถรักษาอันดับเครดิตของตนไว้ที่ระดับ AA- สำหรับตราสารหนี้
และ A+ สำหรับความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้ และยังสามารถทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากระดับที่ตกต่ำถึงขีดสุด
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องทุนได้แล้ว Diekmann ก็พร้อมที่จะปรับโครงสร้างบริษัทได้
โดยเป้าหมายแรกที่เขาเล็งคือการยกเครื่องวัฒนธรรมองค์กรของ Allianz ที่ผ่านมา
Allianz ใช้จ่ายเงินมากเกินไปกับธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจธนาคาร นอกจากนี้ยังทำเรื่องที่เสี่ยงสูงอย่างการขยายธุรกิจประกันภัยอย่างรวดเร็วเกินไป
โดยขยายไปถึง 70 ประเทศทั่วโลก โดยขาดการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม ในขณะที่โครงสร้างการตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่ใช้มติเอกฉันท์ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ทันท่วงที
Diekmann เริ่มเปลี่ยนสไตล์การบริหารเป็นเชิงรุกมากขึ้น และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับบริษัทในเครือ
โดยให้แข่งขันกันว่าเสนอแผนธุรกิจ และบริษัทที่สามารถยืนยันได้ว่า จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจได้มากที่สุดเท่านั้น จึงจะได้เงินทุนเพิ่มจากบริษัทแม่
การปรับโครงสร้างบริษัทของ Diekmann ดังกล่าวเริ่มเห็นผลแล้ว เมื่อบริษัทในเครือที่ขาดทุนมากที่สุด
2 แห่งคือ Fireman's Fund กับ Allianz Global Risks ซึ่งมีลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติ
เริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้ง
Diekmann ยังขายทิ้งธุรกิจที่ไม่จำเป็นและได้เงินสดกลับมาถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
และยังจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น
แต่เครื่องหมายคำถามอันโตของ Allianz ยังคงเป็น Dresdner ซึ่งยังมีปัญหาหนี้เน่าจำนวนมหาศาล
แม้การกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญของ Dresdner ในขณะนี้จะลดลงเหลือเพียง 1.2
พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่เคยต้องกันสำรองถึง
2.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2002 แต่ Dresdner จะต้องแก้ปัญหาหนี้เน่าต่อไป ซึ่งไม่ใช่งาน
ที่ง่ายเลย โดยเฉพาะในขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ และในขณะเดียวกัน
Dresdner จะต้องริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
Diekmann หวังว่าจะสามารถทำให้ Allianz เกื้อกูล Dresdner ได้มากขึ้น โดยการชักจูงให้บรรดาลูกค้าของตัวแทนประกันซึ่งมีอยู่
10,000 รายของ Allianz มาเปิดบัญชีกับ Dresdner หรือสมัครบัตรเครดิต หรือเปิดบัญชีกระแสรายงานที่เบิกเกินบัญชีได้
รวมทั้งซื้อหรือขายกองทุนรวมผ่าน Dresdner ซึ่งโครงการเกื้อกูล Dresdner
นี้นับว่าได้ผลดีพอสมควร เพราะสามารถสร้างลูกค้าใหม่ให้แก่ Dresdner ได้ถึง
10,000 รายในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ Dresdner ยังกลับช่วยเกื้อกูล Allianz ด้วย เมื่อ Allianz สามารถขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่าน
Dresdner ได้ถึง 92,000 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันวินาศภัยและอุบัติเหตุได้อีก
84,000 กรมธรรม์ในปีที่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ Diekmann จึงกล้าแสดงความมั่นใจว่า เขาจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของ
Dresdner ในเยอรมนีได้อีก 10% แต่นักวิเคราะห์ก็ทักท้วงว่า ถ้าหาก Dresdner
ยังขืนไม่สามารถทำกำไรได้ภายในปี 2005 ผู้ถือหุ้นคงจะกดดันให้ต้องปล่อยมือจากธนาคารแห่งนี้ไป
แปลและเรียบเรียงจาก
BusinessWeek, April 5, 2004
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์