ปารีสที่พยายามรักษาความเป็นตัวตน พร้อมกับการเปิดรับสิ่งใหม่อย่างไม่ไหลไปตามกระแส ทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรม และวิถีการดำเนินชีวิต ภาพภัตตาคารแบบดั้งเดิม ผับ ร้านขนม ที่มีอยู่มากมาย กระจายตัวอยู่ตามท้องถนน สอดแทรกด้วย Starbucks และ McDonald's ที่แฝงตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ทำให้ปารีสเป็น "สวรรค์บนดินของนักกินดื่ม" ของใครหลายคน
หลังจากหลับๆ ตื่นๆ เป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง การเดินทางจากกรุงเทพฯ
ถึงปารีสก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อรุ่งเช้าของวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม ช่วงเวลาสั้นๆ
นับจากนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เก็บเล็กผสมน้อยเรื่องราวเกี่ยวกับมหานครแห่งนี้
เพื่อนำไปปะติดปะต่อกับคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟัง
ก่อนออกเดินทาง ผมมีความรู้เกี่ยวกับปารีสเท่าหางอึ่ง รู้ว่ามีหอไอเฟลเป็น
landmark เป็นเมืองแฟชั่นที่สำคัญเมืองหนึ่ง ผู้คนค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับรู้จากคำบอกเล่า เพราะฉะนั้นน่าจะมีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง
ที่น่าจะได้เรียนรู้จากมุมมองของตนเอง หรืออย่างน้อยก็เก็บไปเป็นคำถามที่ต้องตามหาคำตอบ
หลังจากการเดินทางครั้งนี้ได้สิ้นสุดลง
หลายสิ่งหลายอย่างที่เห็น ถึงแม้ว่าจะเป็นไปอย่างฉาบฉวย แต่ก็ทำให้เกิดสมมุติฐานขึ้นมาในใจว่า
ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างปารีสนั้น ค่อนข้างจะเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ความสุขเล็กๆ
น้อยๆ จากกิจกรรมที่คนเมืองจะทำได้ เช่น การเดินเล่นตามท้องถนน หรือนั่งจิบชา
กาแฟคลุกเคล้าแสงแดดยามบ่าย เป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป
พวกเราเข้าพักที่โรงแรม Baltimore Sofitel ซึ่งเป็นโรงแรมประเภท townhouse
hotel สูง 6 ชั้น ตั้งอยู่ในระยะที่สามารถเดินเท้าไปยังประตูชัย และหอไอเฟลได้
เป็นโรงแรมที่ดัดแปลงมาจากทาวน์เฮาส์ ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 110 ปีที่แล้ว
ก่อนที่จะดัดแปลงเป็นโรงแรมในปี 1920 และเพิ่งจะได้รับการปรับปรุงเมื่อปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าอากาศภายนอกจะหนาวเหน็บ อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 5 องศาเซลเซียส
บวกกับกระแสลมที่พัดโชย การได้มานั่งที่ม้านั่งบริเวณประตูชัย มองดูรถที่แล่นผ่านไปผ่านมาในช่วงเริ่มต้นของวันใหม่
ก็ทำให้เพลิดเพลินไปกับเวลาที่ผ่านไปพร้อมกับสายลม
ที่บริเวณประตูชัยแห่งนี้ เป็นที่ที่พระเจ้านโปเลียนสัญญากับทหารของตนว่า
จะมาลอดส่วนโค้งหลังจากทำสงครามชนะกลับมา มีลักษณะเป็นวงเวียนเชื่อมถนนประมาณ
20 สายเข้าด้วยกัน รวมทั้ง Champs Elessee ที่ขึ้นชื่อ
ช่วงเย็นของวันหนึ่ง มีโอกาสไปที่โบสถ์ Notre Dame ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ
บนแม่น้ำ Seine ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงปารีส เสมือนที่แม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ
เมื่อเดินเท้าไปถึงบริเวณด้านหน้าของโบสถ์เมื่อเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มเอาแผงเหล็กมากั้น
เพื่อกีดกันไม่ให้เข้าไปภายในตัวโบสถ์ รถตรวจระเบิดที่จอดอยู่ด้านหน้าก็ทำงานตามหน้าที่ของมันไป
พร้อมรถถ่ายทอดสัญญาณที่จอด stand by อีก 2-3 คัน ถึงแม้ว่าจะเข้าไปด้านในไม่ได้
แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเต็มใจที่จะเฝ้ารออยู่ด้านนอก พร้อมกับชมความงามของด้านนอกตัวโบสถ์ไปพลางๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้บอกอะไรมากนัก บอกเพียงให้รอ จนกระทั่งประมาณหนึ่งชั่วโมง
หลังจากนั้นจึงได้รับแจ้งว่าจะมีพิธีกรรมทางศาสนา ที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดขึ้นให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดรถไฟในกรุง
Madrid เมื่อ 2 วันก่อนหน้านี้
ระยะนี้ ที่ปารีสเข้มงวดกับเรื่องระเบิดก่อการร้ายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีมากกว่า
10 สาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วตัวเมือง เพราะเหตุการณ์ระเบิดสถานีรถไฟฟ้าใจกลางมหานครปารีส
เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน และขณะนี้ก็มีการคาดคะเนกันว่า ฝรั่งเศสอาจจะเป็นเป้าหมายรายต่อไป
ภาพตำรวจออกตรวจตราโดยมีอาวุธในมือพร้อม ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นใจและกังวลใจไปในเวลาเดียวกัน
ช่วงเวลาที่ต้องรออย่างไร้จุดหมาย กิจกรรมที่น่าจะทำให้เวลาผ่านล่วงเลยไปได้ดี
คือการนั่งดื่มช็อกโกแลตร้อนที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในย่านนั้น คาเฟ่ส่วนใหญ่จะจัดที่นั่งส่วนหนึ่งอยู่ด้านนอก
เพื่อให้ลูกค้าได้นั่งรับลม และมองดูผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา ซึ่งจัดว่าเป็นโซนที่ดีที่สุดของร้าน
ถึงแม้ว่าเก้าอี้นั่งจะตั้งอยู่บนบาทวิถี ซึ่งถัดไปประมาณ 3 ก้าวเดิน ก็คือท้องถนนที่พลุกพล่านไปด้วยรถ
แต่มลภาวะก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกใดๆ อาจเป็นเพราะอากาศที่เย็นชื้น
ช่วยดูดซับควันพิษ และอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล
ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะที่น้อยกว่าเครื่องเบนซิน กอปรกับรถส่วนใหญ่ก็มีขนาดของเครื่องยนต์ที่ไม่ใหญ่นัก
ทำให้นึกถึงชาวอังกฤษในวัย 28 ปี คนหนึ่งที่เคยถามผมว่า เหตุใดผู้คนในกรุงเทพฯ
ถึงนิยมใช้รถคันใหญ่ๆ เครื่องซีซี สูงๆ ทั้งๆ ที่การจราจรในกรุงเทพฯ ก็ติดขัดยิ่งนัก
เขาเล่าให้ฟังว่าเขาอาศัยอยู่ในลอนดอน ใช้รถขนาด 1,400 ซีซี ใช้สารพัดประโยชน์
ทั้งขับในเมืองและออกไปยังชนบท
รถยนต์ในปารีสส่วนใหญ่เป็นรถขนาดเล็ก ประเภท compact car ท้ายตัดๆ อย่างเช่น
Mini Audi A3 หรืออย่าง Peugeot 206 หรือ 306 รถขนาดใหญ่กว่านี้ก็มีให้เห็นบ้าง
แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า การจอดริมถนนตามแนวถนนของคนที่นี่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
กระแทกคันหลังที คันหน้าที พอมีที่ว่างให้กับรถของตัวเอง เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ
บางทีอาจจะมีเส้นบางๆ แบ่งระหว่างความเรียบง่ายกับความมักง่าย? แต่จากคำบอกเล่าของคุณต้น
คนไทยคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ปารีสเป็นเวลากว่า 10 ปี "ถือเป็นเรื่องปกติ
เขามองว่ารถเป็นพาหนะ ก็ต้องมีเฉี่ยวชน มีรอยบุบบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ"
หลังจากที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเข้าชมสถานที่สำคัญๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
กำหนดการต่อมา ถูกกำหนดให้มีขึ้นในช่วงเช้าของวันจันทร์ เป็นงานแถลงข่าวระหว่าง
Natural Park และกลุ่มโรงแรม Accor ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของการเดินทางมาปารีสในครั้งนี้
เป็นงานเปิดตัวโรงแรม "Sofitel Sukhumvit" ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งใหม่ของกลุ่ม
Natural Park ที่ได้ร่วมกับกลุ่ม Accor ในฐานะผู้บริหารโรงแรม ภายใต้แบรนด์
"Sofitel" โดยมี Executive Senior Vice President ของ Accor และ Director
of Communications ของ Sofitel แถลงร่วมกับเสริมสิน สมะลาภา CEO ของ Natural
Park
ธุรกิจโรงแรมในยุโรป ถือว่ามีความสลับซับซ้อนกว่าธุรกิจโรงแรมในเมืองไทยอยู่มากโข
มีการแบ่งประเภทของโรงแรมตามกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีการเดินทางที่แตกต่าง
หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือโรงแรมประเภท airport hotel ที่มีอยู่จำนวนมากในระยะไม่ไกลจากสนามบิน
Charles De Gaulle แทบจะเรียกได้ว่าขนมาเกือบทุก chain ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม
ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความพลุกพล่านจากการเป็น hub ของ CDG เอง ในขณะที่สนามบินดอนเมืองของไทยจะมีโรงแรมที่เรียกได้ว่าเป็น
airport hotel เพียง 2 แห่ง คือ Amari Airport และ Asia Airport ที่อยู่ไกลออกไป
ส่วนโรงแรม Miracle Grand ถือเป็น convention hotel ที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน
Accor จัดได้ว่าเป็น chain ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ
4 ของโลกรองจาก Cendant InterContinental และ Marriott โดยมีแบรนด์โรงแรมตั้งแต่
1 ดาวไปจนถึงระดับ 5 ดาว แต่ที่เข้ามามีตัวตนในธุรกิจโรงแรมในเมืองไทยคือ
Mercure Novotel และ Sofitel ซึ่ง Sofitel นี้จัดเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวของกลุ่ม
แหล่งกำเนิดของ Sofitel เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส ย้อนกลับไปเมื่อปี 1964 หลังจากนั้น
50 ปี Sofitel ก็เปรียบเสมือน "ทูตศิลปะฝรั่งเศส" (world ambassador for
the French art de vivre) ให้กับชาวโลก ผ่านสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน เครื่องแบบพนักงาน
อาหารและของว่าง หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ จำพวก ครีมอาบน้ำและเครื่องบำรุงผิว
แต่ที่จะเข้ามาอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ของ Natural Park พร้อมๆ กับ Sofitel ก็คือ
Lenotre ผู้นำด้านธุรกิจอาหารและบริการที่มีชื่อเสียงที่สุดในฝรั่งเศส ซึ่งเปรียบได้กับ
S&P ของไทยในด้านการทำธุรกิจที่มีตั้งแต่ร้านขายขนมและเบเกอรี่ ในรูปแบบของ
Gourmet Shop มีร้านอาหารในรูปแบบ Cafe ทำ catering นอกสถานที่ ขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศ
และยังมีโรงเรียนสอนทำอาหาร ซึ่งสิ่งหลังนี้ S&P ยังไม่มี
ธุรกิจด้านอาหารของฝรั่งเศส ทั้งที่อยู่ในรูปของการจัดเลี้ยงและร้านอาหาร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะยากลำบาก เนื่องมาจากกำลังซื้อที่หดหายจากภาวะสงครามที่แพร่ไปทั่ว
กอปรกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับธุรกิจจัดเลี้ยงซึ่งหมุนเวียนด้วยยอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ
690 ล้านยูโร หรือประมาณ 34,500 ล้านบาท โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ตกอยู่กับผู้เล่นเพียง
50 รายเท่านั้น ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Lenotre อยู่ที่ประมาณ 5.4%
หรือคิดเป็น 37 ล้านยูโร LeNotre จึงจัดได้ว่าเป็นผู้นำในธุรกิจนี้โดยตัวอย่างของผลงานชิ้นโบแดง
คือการจัดอาหารเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ
ช่วงบ่าย หลังจากงานแถลงข่าวเสร็จสิ้น LeNotre ได้เปิดโอกาสให้เข้าชม Le
Cafe LeNotre บนถนน Champs Elysee และเข้าชิมผลผลิตที่มีทั้งแซนวิช เค้ก
ช็อกโกแลต และไอสกรีม โดยมี Gaston Lenotre ผู้ก่อตั้ง Lenotre ซึ่งได้เดินทางมาไกลกว่า
200 ไมล์เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับงานเลี้ยงและสะท้อนความเป็น Lenotre ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
Gaston ในวัย 84 ปี นับว่าเป็นผู้สูงอายุที่ young at heart เช่นเดียวกับร้านในโทนสีส้มสดใส
เมื่อถึงเวลาที่ต้องลาจาก Le Cafe LeNotre แห่งนี้ ภาพในความทรงจำอาจจะลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลา
แต่กลิ่นและรสชาติของขนมอันหอมกรุ่นจะกลับมาอีกครั้งในไม่ช้า เมื่อร้านอาหารในรูปแบบ
Cafe LeNotre จะมาเปิดเป็นแห่งแรกที่ Natural Ville ซอยหลังสวน ภายในปีนี้
หลังจากที่ไปเปิดที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 1979 และ 1991 ตามลำดับ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เชื่อมาตลอดว่า คนฝรั่งเศสไม่พูดภาษาอังกฤษ และไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไรนัก
การไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสจะก่อให้เกิดปัญหา แต่จากที่พบเห็นก็ไม่ค่อยจะเป็นจริงนัก
ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่ทั่วไป ที่ไม่ใช่สำหรับนักท่องเที่ยว อย่างเช่น cafe
เล็กๆ ใกล้กับโรงแรมที่พัก หญิงสาวเจ้าของร้าน ถึงแม้เธอจะดูเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการดูแลกลุ่มลูกค้าจำนวนหนึ่งที่เข้ามาดื่มในร้าน
แต่เธอก็ไม่ได้สร้างความรู้สึก "ไม่เป็นมิตร" ให้เห็นแม้แต่น้อย
เป็นไปได้ว่า คนฝรั่งเศสต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวมากกว่าแต่ก่อน
และนั่นจะยิ่งทำให้สถานะความเป็น tourist destination ที่ดึงดูดคนได้มากที่สุดในโลกในแต่ละปี
ยิ่งเข้มแข็งขึ้นไปอีก