บง.รายเดียว ที่สามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆ นานา อันเกิดมาพร้อมวิกฤติเศรษฐกิจ
ได้อย่างสำเร็จงดงาม และถือว่าเป็นเรื่องของฝีมือผู้บริหาร และพนักงานอย่างแท้จริง
ในการแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้
การปรับโครงสร้างเงินทุนของบง.ทิสโก้ ได้สำเร็จ ถือเป็นกรณีศึกษาของไฟแนนซ์ไทย
ที่ปรับตัวรับมือวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่เริ่มได้กลิ่น โดยเฉพาะมาตรการบริหารความเสี่ยง
ที่สามารถรับมือความผันผวนครั้งนี้ ได้อย่างฉมัง วันนี้ TISCO แม้จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่
มาเป็นกลุ่มทุนไต้หวันแล้ว แต่คาดว่านโยบายการบริหารยังเหมือนเดิม
บง.ทิสโก้เป็นกิจการไฟแนนซ์เก่าแก่รายหนึ่ง ในตลาดทุนไทย มีอายุยาวนานถึง
30 ปีที่สามารถฝ่าด่านวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งรุนแรงของประเทศมาได้ ด้วยความยากลำบาก
แต่ก็น่าภูมิใจสำหรับผู้บริหาร และพนักงานทิสโก้ เนื่องจากการฝ่าด่านครั้งนี้
ถือเป็นฝีมือล้วนๆ ของคนทิสโก้ เพราะนอกจากผลกระทบ ที่ได้รับ ในเรื่องการดำเนินธุรกิจแล้ว
บริษัทยังเผชิญปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้น ที่ถือโอกาสปล่อยเกาะ ไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน
จนผู้บริหารต้องเสาะหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ และขอรับความช่วยเหลือจากทางการ
ปลิว มังกรกนก กรรมการอำนวยการ บง.ทิสโก้ จำกัด(มหาชน) เคยเล่าว่าทีมผู้บริหาร
(management team) ได้พยายามดำเนินการหาทางออกด้วยตัวเอง โดยการระดมสมองมาทบทวนบทบาท
ในธุรกิจไฟแนนซ์ ที่ดำเนินอยู่ ปลิวเล่าว่า นี่เป็นสิ่งที่คุยกันมากว่า อนาคตบริษัทเงินทุนมันอยู่รอดได้ไหม
ธุรกิจ ที่เราทำมันควรจะเป็นธุรกิจอะไร เพราะบริษัทเงินทุนในอดีตต้องยอมรับว่า
ไปทำธุรกิจหลายอย่างที่ไม่ควรจะทำ เช่นไปแข่งกับแบงก์ ทำตัวเหมือนกับ ที่เรียกว่า
เป็นธนาคารชั้นสอง ซึ่งในความเห็นของผมแล้วมองว่าไม่ควรทำ แม้กระทั่งแบงก์เอง
ยังไม่รอดเลย เราจะเอาเงิน ที่ไหนไปแข่งกับพวก universal banking ใหญ่ๆ cost
of fund มันต่างกันมาก
ถ้าเช่นนั้น แล้ว ทิสโก้จะทำอะไร ควรทำธุรกิจประเภทไหน ซึ่งทีมบริหารก็มองว่าควรทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นความชำนาญเฉพาะกิจ
ทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำ และเราทำได้ดี อย่างเรื่อง retail business เช่น
เช่าซื้อ ลิสซิ่ง หรือด้านหลักทรัพย์ ที่ทำได้ค่อนข้างดี (ทิสโก้มีบริษัทหลักทรัพย์ในเครือ ที่ถือไว้
100% ทำด้านซื้อขายหลักทรัพย์ อันเดอร์ไรต์ ซึ่งเป็นกิจกรรม ที่แบงก์ทำไม่ได้
และยังมีค่าธรรมเนียมที่ดีด้วย)
ในทัศนะของปลิว เขามองว่าการทำธุรกิจ ที่รอดได้ตอนนี้มี 2 อย่างคือ เป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์
หรือเป็นร้านเล็กๆ ร้านดีพาร์ทเมนท์สโตร์นั้น หมายความว่าจะต้องมีทุนมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นดอยช์แบงก์ เอบีเอ็นแอมโร ซิตี้แบงก์ พวกนี้มีเงินทุนมาก ทำทุกอย่างเรียกว่าเป็น
capital intensive ซึ่งปลิวยอมรับทิสโก้ไม่มีเงินขนาดนั้น
"เราต้องทำตัวเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ เป็น
niche market ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากไม่ได้ เพราะหากมีขนาดใหญ่ คนอื่นก็เข้ามาแข่งหมด
แต่ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่อร่อยนั้น แม้อยู่ในซอกในซอย คนก็เข้าไปกิน แสดงว่าต้องมีอะไรดี"
ปลิวเชื่อมั่นว่าทิสโก้มีอะไรดีๆ แน่ !!
ทิสโก้มีธุรกิจหลายๆ อย่างที่ทำได้ดีมีความชำนาญ เช่น เช่าซื้อ เป็นธุรกิจ ที่ทิสโก้ทำมานาน
ตั้งแต่เริ่มๆ กิจการเกือบ 30 ปี แม้ในช่วง ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
ก็ยังสามารถรอดได้ มีขาดทุนบ้างในช่วง 6 เดือนแรก ที่เกิดวิกฤติเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็กำไรตลอด
ธุรกิจบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทฯ ก็มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด
ธุรกิจวาณิชธนกิจได้รับการยกย่องจากนิตยสารเอเชียมันนี่ ว่าเป็นที่หนึ่งตลอด
นี่คือ ธุรกิจ ที่บริษัททำได้ดี และจะทำต่อไป
ทิสโก้ได้ดำเนินการเพิ่มทุน โดยขอรับความช่วยเหลือจากทางการควบคู่ไป จังหวะ ที่ทิสโก้เพิ่มทุนนี้
แม้จะเป็นรายหลังๆ แต่ก็มีข้อดีคือ เพิ่มในจังหวะ ที่ NPL พ้นจากจุดสูงสุดไปแล้ว
ขณะที่รายที่เพิ่มทุนไปก่อนหน้า ก็ต้องมาเพิ่มใหม่ เพราะทุนไม่พอกับ NPL
ที่ยังพุ่งไม่ถึงจุดสูงสุดในขณะเพิ่มทุน
ทิสโก้สามารถกำหนดวงเงินเพิ่มทุน และทำได้ม้วนเดียวจบ หลังจาก ที่ทิสโก้จบเรื่องการเพิ่มทุนได้แล้ว
ปรากฏว่าราคาหุ้นทิสโก้ พุ่งขึ้นในอัตรา ที่สูงมาก เท่ากับตลาดตอบรับได้ดี
นักลงทุนได้ market return ไปแล้วรอบหนึ่ง (ในช่วง 3 เดือน ได้ไป 700%!!)
ขณะที่ในส่วน real return นั้น ก็คือ earning ของบริษัท และความสามารถในการทำกำไรในช่วง
5 ปีถัดจากนี้ ซึ่งปลิวมีคำเฉลย ที่ได้เอาไปเสนอให้กลุ่มนักลงทุน และพวกเขาก็เชื่อมั่นในคำเฉลยนี้แล้ว
real return คาดว่าจะเริ่มเกิดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทิสโก้ทำการคาดหมายไว้ว่าบริษัทฯน่าจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนในปีนี้กับปีหน้า
(1999-2000) แต่ถ้าเหตุการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ปี 2000 ก็อาจจะมีกำไรได้ แต่ปี
1999 คงจะไม่ เพราะ ต้องมีการตั้งสำรองเต็ม ไม่มีทาง ที่จะกำไรได้
อย่างไรก็ดี คาดหมายว่าสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้น ตัวเลข NPL ที่มีอยู่ 43%
น่าจะลดลงได้มาก เพราะมีการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายใหญ่ได้มากขึ้น "ปลายปีคาดว่าจะเหลือ
NPL สัก 30% กว่า แล้วหลังจากนั้น ไปคงยากขึ้น ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะลดได้อีก"
มองไปอนาคตข้างหน้า ทิสโก้เริ่มขยับขยายการทำธุรกิจ ที่เป็น niche ที่ทำอยู่เดิมแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม สายอินเวสเมนท์แบงก์ การทำ
retail โดยเฉพาะ ที่เป็น treasury product ในเรื่องอันเดอร์ไรต์ตลาดแรก ซึ่งทิสโก้มีฐานลูกค้าใหญ่ๆมาก
ด้านคอร์ปอเรทโลนตอนนี้ยังไม่ขยาย มีสัดส่วน 65% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยมีประมาณ
35% ในคอร์ปอเรทโลนยังมีสินเชื่อ ที่มีปัญหาค้างอยู่มาก ขณะที่รายย่อยนั้น เติบโตดีขึ้นมาก
แม้ทิสโก้จะผ่านเปลาะสำคัญมาแล้ว ในการปรับโครงสร้างทุน และเพิ่มทุนสำเร็จ
แต่ก็ยังมีโจทย์ใหญ่ รอให้ทีมผู้บริหารแก้อยู่ข้างหน้าอีกคือ การดำเนินงาน เพื่อให้ได้
return ตาม ที่สัญญาไว้กับนักลงทุน เพราะการแข่งขันในธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น
ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หมูๆ แบบ ที่ผ่านมา เพราะตอนนี้ต้องแข่งกับกิจการระดับโลก
ที่ขยายฐานเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เมอร์ริลลินช์ภัทร โกลด์แมน เลห์แมน
ในด้าน retail ก็ต้องแข่งกับกลุ่มจีอีแคปิตอล ซึ่งพวกนี้เป็น world class
ทั้งนั้น "ตอนนี้มันคนละ war game แล้ว ผมก็เร่งปรับพวกพนักงานเต็มที่
ในเรื่อง mentality thinking ต่างๆ ซึ่งเท่า ที่ผ่านมาค่อนข้างดี เพราะเราอยู่ในไทยมานานกว่าเขา
และจังหวะนี้เป็นช่วง ที่ ได้ผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ค่าธรรมเนียมเราจึงพุ่งสูงมาก"