เจาะกลยุทธ์การตลาดเอไอเอส ให้ความสำคัญ 4 พื้นที่ยุทธศาสตร์ เปิดมิติใหม่การแข่งขัน
ใช้หมากเด็ดกว่า 2,000 บริการล่อใจลูกค้ามากกว่าตัดราคาแบบเก่าๆ มั่นใจระบบบิลลิ่งยืดหยุ่นได้ทุกความต้องการใช้งาน
ย้ำเอไอเอสวันนี้มีฐานลูกค้ามากพอผลิตสินค้าและบริการที่เหนือชั้นกว่าโอเปเรเตอร์รายอื่น
ปีที่ผ่านมาเอไอเอสให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการภายในองค์กรให้เข้าสู่ระบบงานที่มีประสิทธิภาพ
มาในปีนี้จึงเป็นปีแห่งการบุกไปข้างหน้าอย่างจริงจังของเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมการตลาด
เปิดตัวบริการใหม่ๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหลักที่วางไว้ในปีนี้ว่าต้องการเปิดตัวให้กับตลาดภายนอกซึ่งรวมถึงตลาดต่างประเทศรู้จักเอไอเอสมากยิ่งขึ้น
นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์
เซอร์วิสหรือ เอไอเอส กล่าวว่าจากการแข่งขันของเหล่าโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันส่งผลให้สภาพตลาดใกล้ถึงจุดอิ่มตัว
เอไอเอสจึงจำเป็นต้องมองกิจกรรมทางการตลาดใหม่ๆที่จะเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
เพื่อไม่ให้ยอดรายได้ลดลงหรือหยุดอยู่กับที่ ด้วยเป้าหมายหลัก 4 ด้าน
ด้านแรกคือการทำตลาดลูกค้าองค์กรธุรกิจซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของการทำตลาดในปีนี้
องค์กรธุรกิจจะเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสในการเข้าไปสร้างรายได้อีกมาก จากเดิมที่ผ่านมาเป็นการใช้บริการด้านเสียงเป็นส่วนใหญ่
ขณะที่การนำเสนอแอปพลิเคชั่นโซลูชั่นที่เหมาะกับแต่ละองค์กรยังไม่มีโอเปอเรเตอร์รายไหนเปิดตลาดอย่างจริงจัง
มาวันนี้ เอไอเอสจับช่องว่างจุดนี้มาทำตลาดอย่างเข้มข้น
ด้านที่ 2 บริการที่เป็นนอนวอยซ์ ในลักษณะไวร์เลสเซอร์วิสที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็น Mobile Advertising เอไอเอสมีความคิดที่จะกระตุ้นบริการที่เป็นนอนวอยซ์เพื่อต่อยอดการให้บริการ
เพิ่มยอดรายได้นอกจากมาจากบริการด้านเสียง
"ปัจจุบันตลาดใกล้ถึงจุดอิ่มตัว โจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือ ทำอย่างไรที่จะให้ลูกค้ามีการใช้เพิ่มมากขึ้น
เพื่อไม่ให้ตลาดนิ่ง เราจำเป็นต้องการบริการใหม่ๆที่จะเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดเกิดการเคลื่อนไหวด้วยบริการใหม่ๆเข้ามาเสริม"
ด้านที่ 3 เอไอเอสให้ความสำคัญคือการแบ่งเซ็กเมนต์ ที่ผ่านมาเอไอเอสมีการจัดแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้าเป็นกลุ่มต่างๆ
จัดกิจกรรมการตลาดเสริมในแต่ละกลุ่มส่งผลให้ยอดลูกค้าที่หนีออกจากระบบลดลงอย่างมาก
ทั้งยังมีลูกค้าที่หนีจากระบบอื่นเข้ามามากอีกอย่างเห็นได้ชัด
"เราสามารถตอบโจทย์ให้กับความต้องการของลูกค้าได้ จัดบริการที่เข้ากับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน"
สิ่งสุดท้ายที่เอไอเอสให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้คือการให้บริการข้ามแดนอัตโนมัติหรือ
อินเตอร์เนชั่นแนล โรมมิ่ง ด้วยการเปิดบริการซิมทูโก
นายกฤษณัน กล่าวว่า ทั้ง4ด้านนี้จะเป็นตัวกระตุ้นตลาดให้กับเอไอเอส โดยในปีนี้จะไม่เห็นการแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อกระตุ้นการเพิ่มยอดลูกค้าจากเอไอเอส
ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบราคาหรือการแจกซิม การ์ดฟรี
" เราไม่ลงไปเล่นแบบนี้เพราะสิ่งที่จะตามมาคือเรื่องคุณภาพการให้บริการกับคุณภาพลูกค้า
จากปัจจุบันประชากรมือถืออยู่ที่ 35% ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็น 38 ในเร็ววันนี้ แต่เอไอเอสไม่อยากกระตุ้นตลาดมากนัก
อยากให้อัตราการเติบโตเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจจริงๆมากกว่า แทนที่จะสร้างบรรยากาศจำลองขึ้นมาแล้วตามมาด้วยหนี้สูญ
เกิดการบาดเจ็บต้องมานั่งแก้ไขกันที่หลังเป็นเรื่องไม่ดีแน่นอนจึงเป็นนโยบายของเอไอเอสที่ว่าการได้มาของจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นเพราะคุณภาพและความต้องการใช้งานจริงมากกว่า"
นายกฤษณัน กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอสเริ่มให้แต่ละภูมิภาคออกแบบโครงสร้างอัตราค่าบริการได้เองผ่านช่องทางร้านเทเลวิซ
เช่นจ่าย 800 บาท โทรในเครือข่ายราคาเท่าไร โทรนอกเครือข่ายได้ราคาเท่าไร โดยต้องมีการติดตามดูว่าอัตราค่าบริการอย่างไรที่เหมาะสม
เมื่อระบบ C-Care มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่แล้ว จะแสดงให้เห็นความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น
เช่นระบบบิล จะแยกว่าโทรช่วงเวลานี้ชาร์จเข้าบริษัท หลังจากเวลานี้จ่ายเอง หรือโทรเวลานี้ราคาหนึ่ง
อีกพื้นที่ราคาหนึ่งสามารถแยกให้เห็นได้ ทำให้เราทำงานได้สบายมากยิ่งขึ้น
"ทุกอย่างทำเสร็จหมดแล้วเพียงแต่ว่าต้องรอเวลาและปล่อยออกมา"
ทุกวันนี้เอไอเอสมีความพร้อมอย่างมาก มีการวางแผนการตลาดไว้ไกลถึงเดือน ก.ค. แล้วแค่รอหลังบ้านผลิตผลงานให้ทันกับแผนการตลาดที่วางไว้เท่านั้น
รวมทั้งยังมีแผนสำรองเผื่อตลาดเกิดปรากฏการณ์แข่งขันที่รุนแรงก็จะมีแผนฉุกเฉินรองรับทันที
" ไดเร็กชั่นเรามีการวางไว้ถึงปี 2006 แล้ว ปัจจุบันก็เตรียมเรื่องเน็ตเวิร์กให้พร้อม
เพื่อเตรียมออกบริการใหม่ๆออกมา"
เขาย้ำว่าเอไอเอสมีบริการมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งบางบริการถือว่านำหน้าโอเปอเรเตอร์ชั้นนำในโลกด้วยซ้ำ
ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของเอไอเอสที่ต้องออกมาพูดให้นักลงทุนหรือลูกค้าเข้าใจถึงบริการที่มี
"ก่อนหน้านี้เอไอเอสเคยพูดเรื่อง Spy Cam เป็นการถ่ายรูปจากโทรศัพท์มือถือและจะไปขึ้นเครื่องพีซีทันที
แต่ไม่มีคนสนใจ ต่อมาเอ็นทีที โดโคโมเอาเทคนิคนี้ไปใส่ในหุ่นยนต์กลับได้รับความสนใจอย่างมาก"
เอไอเอสเริ่มจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างชาติเพราะต้องการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาเสริม
โดยมองการรับจ้างผลิต หรือ OEM เป็นทางลัด ที่จะช่วยให้เอไอเอสทำตลาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้เร็วกว่าการนั่งรอให้โรงงานผลิตผลิตสินค้าออกมาก่อนแล้วมานำเสนอ
แต่กลับกัน นับจากนี้ต่อไปเอไอเอสจะเป็นคนบอกความต้องการและสั่งให้โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าให้แทน
"ทุกวันนี้สินค้าที่เป็นOEM ครองตลาดในจีนกว่า 50% ส่วนที่เหลืออีก50%เป็นสินค้าที่เป็นแบรนด์อยู่แล้ว
เราก็แค่เดินเลือกว่าต้องการอะไร เมื่อไร จำนวนเท่าไร หลังจากนี้ก็แค่สั่งให้เขาผลิตให้
ทำให้ทุกวันนี้เอไอเอสเดินได้เร็วกว่าเมื่อก่อน"