การขายหุ้นใหญ่นิสสันในไทยของกลุ่มสยามกลการ ถือเป็นบริษัทรถยนต์รายล่าสุดที่ถูกซื้อกิจการกลับไปเป็นของบริษัทแม่ จึงไม่แปลกหากจะถูกมองด้วยสายตาไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะแพ้หากมองในอีกแง่มุม
กลับถือเป็นชัยชนะของตระกูล "พรประภา" มากกว่า ซึ่ง "พรเทพ พรประภา"
เองก็พยายาม พูดอยู่เสมอ.....การขายหุ้นครั้งนี้เป็นนโยบาย WIN-WIN
"สยามกลการภูมิใจในความสัมพันธ์กับนิสสันมากว่า 50 ปี โดยถือเป็นผู้จัดจำหน่ายของนิสสันรายแรกในตลาดต่างประเทศ
และด้วย การสนับสนุนอย่างดีของนิสสัน สยามกลการจึงสามารถเพิ่มธุรกิจจาก การจัดจำหน่ายไปสู่การประกอบรถยนต์
ในปี 2503 และการส่งออกในปี 2542 แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมการแข่งขันในธุรกิจนี้เปลี่ยนแปลงไป
สยามกลการจึงมีความยินดีเข้าร่วมกระบวนการโลกาภิวัตน์ โดยมีนิสสันเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ภายใต้นโยบาย
WIN-WIN"
นั่นคือคำกล่าวของพรเทพ พรประภา กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด
ในงานเซ็น สัญญาขายหุ้นของสยามกลการในบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด (SNA)
ผู้ผลิตปิกอัพ และจำหน่าย รถยนต์นิสสันในไทย และบริษัท สยามกลการ และนิสสัน จำกัด
(SMN) ผู้ประกอบรถยนต์นั่งให้กับ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ จำกัดจำนวน 50% ของสัดส่วน
หุ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.64 พันล้านบาทและเมื่อรวม กับหุ้นเดิม 25% ทำให้นิสสันมอเตอร์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
75% ขณะที่สยามกลการเหลือหุ้นเพียง 25%
การเปลี่ยนจากเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาเป็น ผู้ถือหุ้นรายเล็ก และไม่มีอำนาจในการบริหารจัด
การบริษัทที่อยู่ในอุ้งมือสยามกลการของตระกูล "พรประภา" มานานกว่า 50 ปี หรือมากกว่าครึ่งศตวรรษ
ทำให้แทบทุกคนรวมถึงสื่อมวลชนต่างมอง เห็นเหมือนกันว่า......หมดยุค "พรประภา"
แล้ว!
สาเหตุที่ทำให้ถูกมองเช่นนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ คล้ายๆ กันได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ใน
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็น เดมเลอร์ ไครสเลอร์ บริษัทแม่ของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์
ที่เข้ามาซื้อกิจการจากตระกูล "วิริยะพันธุ์" , บีเอ็มดับเบิลยู ซื้อกิจการจากกลุ่มยนตรกิจของตระกูล
"ลีนุตพงษ์" หรือมิตซูบิชิ ที่เข้ามาซื้อกิจการจากตระกูล "พรรณเชษฐ์"
ที่สำคัญ การที่เจ้าของแบรนด์ต่างๆ เข้ามาซื้อกิจการกลับคืน จากกลุ่มนักธุรกิจตระกูลใหญ่ของไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ล้วนเหมือนถูกหักคอ เอากิจการไปต่อหน้าต่อตาทั้ง ที่ยังพอเหลือเยื่อใยอยู่บ้างจากการเป็นพันธมิตรมายาวนาน
อย่างดีก็เป็นเพียงรับจ้างประกอบ อย่างตระกูลวิริยะพันธุ์ที่รับจ้างประกอบรถให้กับเมอร์เซเดสเบนซ์
หรือรับจ้างผลิตเฉพาะบางขั้นตอนของรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูของตระกูลลีนุตพงษ์ ที่ยังพอมีหุ้นเหลืออยู่
บ้างอย่าง ตระกูลพรรณเชษฐ์ก็แทบจะไม่ถือว่าเป็นหุ้น ส่วน เพราะมีไม่ถึง 1% เลยในปัจจุบัน
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม? คนถึงมอง............"พรประภา" ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ทุนข้ามชาติจนได้!
แต่ภายใต้ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนสยามกลการ ของตระกูลพรประภาพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง หากมอง
อย่างลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่ง...... มันอาจจะกลายเป็น ชัยชนะของ "พรประภา"
ก็ได้!!
สิ่งแรกที่ทำให้การเข้ามากุมอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จของนิสสัน มอเตอร์ ครั้งนี้
ดูจะมีความแตกต่าง ไปจากรายอื่นๆ ประเด็นแรก คือ นิสสัน มอเตอร์ ได้ พยายามเข้ามาถือหุ้นนับตั้งแต่ปี
1999 ตั้งแต่ไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และหลายยี่ห้อเริ่มเข้า มาชอปซื้อกิจการในไทยอย่างคึกคัก
แต่กว่านิสสันมอเตอร์ประสบความสำเร็จต้องใช้เวลาล่วงเลยมานาน ถึง 5 ปี ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปลี่ยนไปแล้ว โดยหวนกลับมาอยู่ในสภาวะขาขึ้นอีกครั้ง
นั่นแสดงให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองของ "พรเทพ พรประภา" นายใหญ่ผู้กุมบังเหียนสยามกลการและนิสสันในไทย
และที่สำคัญแม้สยามกลการจะขายหุ้นในเอสเอ็นเอ และเอสเอ็มเอ แต่ก็ยังเหลือสัดส่วนหุ้นมากถึง
25% พร้อมกับมีเงินสดในมือทันทีเกือบ 8 พันล้านบาท
นี่คือความแตกต่างที่เห็นอย่างชัดเจน ระหว่าง "พรประภา" กับตระกูลต่างๆ
ที่กล่าวมาข้างต้น แม้การถือหุ้นแค่นี้จะไม่ทำให้มีอำนาจอะไรในการบริหารจัดการนิสสันในไทยอีกต่อไป
แต่ดูเหมือน พรเทพ พรประภา จะพอใจในจุดนี้อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตลอดช่วง
2-3 ปีที่ผ่านมาว่า...
"สยามกลการต้องการที่จะขายหุ้นให้แก่นิสสัน มอเตอร์ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
เพราะตลาดรถยนต์ไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น นับวันนิสสันมีแต่จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งล้วนเป็นเจ้าของ
แบรนด์ เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีทุนในการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต
การตลาดการส่งเสริมการขาย รวมถึงการสนับสนุนในการ ส่งออก การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของนิสสัน
มอเตอร์ จึงน่าจะส่งผลดีต่อทั้งตัวสยามกลการและนิสสันในไทย"
จากการให้สัมภาษณ์ของพรเทพยืนยันได้ชัดเจนว่าเขาเป็นผู้ที่ต้องการขาย ไม่ใช่ถูกบีบให้ขายเหมือนกับหลายยี่ห้อ
และหากการดำเนินงานที่เป็นมืออาชีพของนิสสัน มอเตอร์ ช่วยทำให้ยอดขายของนิสสันในไทยเติบโตได้
การขายหุ้นใหญ่ไปครั้งนี้ "พรประภา" ย่อมนั่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
แค่นี้ก็อาจจะทำให้ได้รับผลกำไรมาก กว่า "พรประภา" ลงมาทำเองตลอดช่วงหลายสิบปีเสียอีก
แต่ถ้าหากนิสสันไม่สามารถเข็นให้กลับมาเฟื่องฟูได้อีก สัดส่วนหุ้น 25% ที่เหลืออยู่คงไม่ได้ทำให้
"พรประภา" บาดเจ็บมากมายนัก ที่สำคัญเงิน ก้อนโตเกือบ 8 พันล้านบาท ได้ถูกเก็บใส่ไว้ในบัญชีธนาคารไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับเม็ดเงินจำนวนเกือบ 8 พันล้านบาท ที่สยามกลการได้รับย่อมต้องนำไปเสริมความแข็งแกร่ง
บริษัทลูกกว่า 40 บริษัท ซึ่งในจำนวนบริษัทเหล่านี้กว่า 60% ล้วนเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ซึ่งถือเป็น อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรัฐบาลประกาศผลักดันให้ไทยเป็น
"ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" และยกให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของประเทศ
นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้อย่างดี
ฉะนั้นเมื่อไทยกลายเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย บริษัทผลิตชิ้นส่วนในเครือสยามกลการ
ย่อมได้รับประโยชน์เต็มๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
ดังนั้นยิ่งรถยนต์นิสสันภายใต้การบริหารของนิสสันมอเตอร์ขายดี และส่งออกมากเท่าไหร่
ชิ้นส่วนที่ผลิตจากบริษัทลูกของสยามกลการก็ยิ่งมีออเดอร์มากขึ้นเท่านั้น
นี่จึงเป็นเหตุผล....ทำไม? "พรเทพ พรประภา" ถึงพยายามบอกผ่านสื่อมวลชนเสมอว่าการขายหุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย
WIN-WIN!!