การเจรจาเรื่องผังรายการใหม่ของ ไอทีวียังไม่ได้ข้อยุติ สองฝ่ายเห็นกันไปคนละทาง
ไอทีวียืนยันเดินหน้าผังใหม่ เริ่ม 1 เมษายนนี้ พร้อมเจรจายื่นหมูยื่นแมวกับสปน.
วิษณุเผยเพิ่งหารือในประเด็นไพรม์ไทม์ ไอทีวีอ้างนิยามเปลี่ยนไป ขอความยืดหยุ่น
ขณะที่ สปน.ขอกางตำราศึกษารายละเอียดก่อน ขู่ยกเลิกสัญญาพร้อมเรียกค่าเสียหาย หากได้ความชัดเจนว่าไอทีวีปรับผังโดยทำผิดสัญญา
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติงานตามกฎหมายร่วมทุนเอกชนกับรัฐ
กรณีการปรับผังรายการของไอทีวี โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
และมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
ร่วมหารือ โดยใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง
นายวิษณุ แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว
โดยทางไอทีวีได้ทำหนังสือแจ้งมายังสำนักปลัดฯเมื่อวันที่ 22 มีนาคม เพื่อขอเจรจาหารือยุติปัญหาเรื่องผังรายการใหม่ของไอทีวีที่จะเริ่มวันที่
1 เมษายนนี้ โดยผู้บริหารไอทีวีได้ชี้แจงประเด็นที่จะขอหารือเร่งด่วนที่สุด 1 ประเด็น
คือ เรื่องผังรายการ จากที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้บริษัทไอทีวีได้ประโยชน์
4 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งผังรายการได้เขียนไว้ในสัญญา ที่รัฐทำกับไอทีวีในข้อ 11 ระบุว่า
คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามผังรายการที่แจ้งไว้เมื่อตอนทำสัญญา แต่ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงผังรายการก็สามารถทำได้โดยได้รับความเห็นชอบจาก
สปน. ทั้งนี้ ไอทีวีจะต้องออกรายการที่เป็นสารประโยชน์ ข่าว สารคดี ในช่วงเวลาตั้งแต่
19.00 น. ถึง 21.30 น. ซึ่งทางไอทีวีต้องการให้มีการปรับผังรายการตรงนี้
"ไอทีวีแจ้งว่า แม้อนุญาโตฯ จะวินิจฉัยให้รัฐต้องปรับสัดส่วนข่าวและสาระกับบันเทิงเป็น
50-50% แต่ทางไอทีวียังอยากจะรักษาสัดส่วน 70-30% เอาไว้ เพียงแต่ขอปรับผังรายการ
นั่นคือการปรับผังเวลา แทนที่จะเป็นช่วงเวลา 19.00 - 21.30 น. ตามสัญญา ให้เป็นช่วงเวลาก่อนหน้า
19.00 น. และสิ้นสุดหลัง 21.00 น. หรืออาจเป็นเวลา 18.00 - 23.00 น. สรุปแล้วเป็นการยืดเวลาที่จะต้องเสนอรายการข่าวและสาระในจำนวนที่กำหนด"
นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้ฝ่ายรัฐได้สอบถามว่า ทำไมจึงต้องมีการปรับผังให้เปลี่ยนไปตามเวลา
ซึ่งทาง ไอทีวีชี้แจงว่า ปัจจุบันความคิดเรื่องเวลาไพรม์ไทม์เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยตกลงกันไว้เมื่อปี
2538 เห็นได้ชัดจากครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 46 กำหนดให้โทรทัศน์นำเสนอรายการเด็ก
เยาวชน และครอบครัวในช่วงไพรม์ไทม์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก่อนที่จะมีมติ
ครม.ได้สอบถามไพรม์ไทม์คืออะไร คำตอบคือตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงเวลา 22.00 น.
ตรงนี้เท่ากับเป็นการรับรองบรรทัดฐานของประเทศไทยว่าเวลาไพรม์ไทม์ ตามมติ ครม.
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า แนวความคิดเรื่องไพรม์ไทม์ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากวันลงนามตามสัญญา
ซึ่งไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ถ้าจะอนุญาตให้ไอทีวีปรับผังได้ทันที ก็ยังเป็นปัญหาเพราะจะต้องไปแก้สัญญา
และการแก้สัญญาถ้าไม่แก้ในจุดที่เสียหายรุนแรงจนฝ่ายรัฐเสียประโยชน์หรือขัดต่อปรัชญา
ทีวีเสรีจนเกินไป หากจำเป็นและแก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์ก็สามารถทำได้ จึงได้มอบหมายให้คณะ
อนุกรรมการพิจารณาสัญญาทั้งระบบ ซึ่งมีนายรองพล เจริญพันธุ์ รองปลัดฯ เป็นประธาน
ไปศึกษา เรื่องผังรายการและไพรม์ไทม์เป็นการเร่งด่วน ส่วนประเด็นอื่นต้องมีการเจรจากับไอทีวีอีก
โดยให้พิจารณาว่าสมควรจะปรับผังรายการโดยการแก้ไขสัญญาหรือโดยวิธีการใด และให้เสนอผลการศึกษากลับมายังคณะกรรมการฯ
อีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ก็จะสามารถหาข้อสรุปได้ หากมีการแก้ไขสัญญาก็ต้องเสนอ
ครม.ต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หากถามว่าไอทีวี สามารถปรับผังรายการวันที่ 1 เม.ย.ได้หรือไม่
ตอบในแง่ของรัฐถือว่าต้องปฏิบัติตามสัญญา ส่วนไอทีวีจะตัดสินใจเดินหน้าตามผังใหม่หรือไม่เป็นเรื่องของไอทีวี
หากคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าสมควรให้มีการแก้ไขสัญญาเฉพาะเรื่องผังรายการได้
ก็ให้ลงมือแก้สัญญาและนำเข้า ครม. ตามกระบวนการ ทั้งนี้มีผลย้อนหลังวันที่ 1 เมษายน
แต่ถ้าอนุกรรมการฯ ไม่อนุมัติให้ปรับผังเพราะไพรม์ไทม์ยังเป็นไพรม์ไทม์เหมือนเดิม
ส่วนไพรม์ไทม์ที่ไอทีวียกมาอ้างเป็นไพรม์ไทม์ปลอมก็จะไม่มีการแก้สัญญา และจะไม่มีการย้อนหลังอะไร
นอกจากนี้จะนำไปสู่การดำเนินการตามสัญญาคือเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากไอทีวี
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ได้ถามทางไอทีวีว่าถ้ารัฐยอมแก้ไขสัญญา จะแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐ
เพราะเรื่องนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งจะได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งไอทีวียินดีจะให้แก้ไขสัญญา
ข้อ 5 วรรค 4 ข้อ 9 วรรค 2 และข้อ 15 เพื่อให้รัฐยืดหยุ่นในส่วนนี้ได้ เพราะข้อสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของรัฐในเรื่องที่รัฐให้โทรทัศน์ต่างๆมีโฆษณา
ฉะนั้น ไอทีวียอมแลกเปลี่ยนตรงนี้
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า ไอทีวียินดีจะเจรจาแก้ไขสัญญาเดิมตามที่สปน. ต้องการ ในส่วนที่ภาครัฐมองว่าเสียเปรียบไอทีวี
3 ข้อ คือ 1) สัญญาข้อ 5 วรรค 4 ที่กำหนดห้ามสปน. หรือหน่วยงานรัฐให้สัมปทาน อนุญาตหรือทำสัญญา
ใดกับบุคคลอื่น ให้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ โดยมีโฆษณาหรืออนุญาตให้โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก
มีโฆษณา 2) สัญญาข้อ 9 วรรค 2 ในกรณีที่ไอทีวีดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. กฎข้อบังคับและระเบียบต่างๆ
ของระบบราชการเป็นเหตุให้ไอทีวีได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง ให้เรียกร้องต่อสปน.หามาตรการแก้ไข
3) สัญญาข้อ 15 กำหนดให้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
"ไอทีวีไม่ต้องการดำเนินการใดๆที่เอาเปรียบรัฐ แต่ว่าไอทีวีต้องได้รับความเป็นธรรมในแง่การแข่งขันทางธุรกิจด้วยเช่นกัน
หลังจากที่เจรจากันแล้ว รัฐยอมที่จะพิจารณาแก้ไขยืดระยะเวลาไพรม์ไทม์ออกไป ซึ่งจะส่งผลให้ไอทีวีใช้ผังใหม่ได้
ทางไอทีวียินดีที่จะเจรจาเงื่อนไข 3 ข้อนั้น"
อย่างไรก็ตาม แผนการปรับผังรายการใหม่ของ ไอทีวีวันที่ 1 เมษายนนี้ จะเดินหน้าใช้ผังใหม่ที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วแน่นอน
เพราะคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ไอทีวีสามารถผลิตรายการ ทำรายการบันเทิงในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ได้
ทั้งนี้ไอทีวีจะยึดหลักเวลาไพรม์ไทม์ ตั้งแต่เวลา 18.00-23.00 น. โดยจะกระจายรายการสารประโยชน์
ข่าวสาร สารคดี 2 ชั่วโมงครึ่ง ให้อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์