แบงก์เตรียมขยับเปิดศูนย์ฝาก-ถอนเงินแทนที่คลังจังหวัดจะยกเลิกในเดือนตุลาคมปีนี้
ด้านแบงก์กรุงศรีอยุธยา ทุ่มงบ 150 ล้านบาท เตรียมตั้งศูนย์รับฝากเงิน 28 แห่ง
รองรับการฝาก-ถอนเงินของสาขาต่างจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมแนะสมาคมธนาคารไทยลง ขันจัดตั้งศูนย์รับฝากเงินร่วมกันระหว่างสมาชิก เพื่อประหยัดต้นทุน เพราะสาขาของแบงก์ทุกแห่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลจะมีการยกเลิกคลังจังหวัดในการทำหน้าที่ฝาก-ถอนเงินสดของสาขาธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบว่า
ทางการต้องการที่จะเปลี่ยนบทบาทของคลังจังหวัดให้ทำหน้าที่ดูแลภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ
โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 นี้เป็นต้นไป ซึ่งสมาคมฯได้หารือกับธนาคารสมาชิกทุกแห่ง
และจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดในการศึกษาถึง การจัดตั้งศูนย์ฝาก-ถอนเงิน ที่จะทำหน้าที่แทนคลังจังหวัดในระยะต่อไป
ในเบื้องต้นธนาคารพาณิชย์แต่ ละแห่งได้จัดตั้งศูนย์ขึ้นเอง เพื่อใช้ในการสนับสนุนสาขาของแต่ละแห่ง
หรือหากธนาคารพาณิชย์แห่งใดยังมีศูนย์ฝาก-ถอนเงินไม่เพียงพอก็สามารถใช้บริการของศูนย์ธนาคารพาณิชย์อื่นๆได้
ซึ่งเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ตามปกติหลังจากที่ยกเลิกคลังจังหวัด
แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ได้มีการหารือกันระหว่างสมาชิกหลายครั้งมากเพื่อหาข้อสรุป
ซึ่งแนวทางในการลงขันจัดตั้งศูนย์ นั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
เนื่องจากยังมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่มีบริษัทขนส่งเงินอยู่แล้ว โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย
"บริษัทขนส่งเงินของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง นอกจากที่จะสนับสนุนธนาคารผู้ถือหุ้นแล้ว
ยังคงรับจ้างขนเงินอีกด้วย โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย จะเป็นบริษัทที่รับจ้างขนเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ของรัฐ
ซึ่งก็คงจะเหลือธนาคารขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ซึ่งก็มีสาขาใน ต่างจังหวัดน้อยมาก
ความจำเป็นในการตั้งศูนย์ รับฝากจึงมีน้อยกว่าธนาคารที่มีสาขาในต่างจังหวัดมากๆ
ดังนั้นในเบื้องต้นจึงให้ธนาคารแต่ ละแห่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไปก่อน ซึ่งบางแห่ง
มีการตั้งศูนย์ขึ้นมาเอง" แหล่งข่าวกล่าว
นายเชษฐ รักตะกนิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า
ธนาคารได้เตรียมตั้งศูนย์รับฝากเงิน เพื่อรองรับการฝากเงิน ถอนเงินหรือขนเงินจากสาขา
ของธนาคารทั่วประเทศ จากเดิมที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะใช้คลังจังหวัดในการฝาก-ถอนเงินของสาขาในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งในเดือนตุลาคม 2547 นี้ จะมีการยกเลิกการฝาก-ถอนเงินจากคลังจังหวัดของธนาคารพาณิชย์แล้ว
เนื่อง จากนโยบายของรัฐบาลต้องการที่จะให้คลังจังหวัดปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มบทบาทในการดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจ
โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะตั้งศูนย์รับฝาก เงินประมาณ 28 แห่ง โดยตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ
ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนสาขาของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 413 สาขา ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้จัดตั้งศูนย์ฯไปแล้ว
19-20 แห่ง คาดว่าก่อนเดือนตุลาคมนี้ธนาคารจะต้องเร่งตั้งศูนย์ฯเพิ่มขึ้นอีก 8
แห่งทันแน่นอน โดยใช้งบประมาณในการจัดตั้ง 150 ล้านบาท
"การจัดตั้งศูนย์รับฝากเงิน ได้มีการหารือกันระหว่างสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยหลาย
ครั้ง โดยมีแนวทางที่จะจัดตั้งศูนย์รับฝากเงินร่วมกันระหว่างสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย
ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะธนาคารพาณิชย์ แต่ละแห่งจะต้องนำไปศึกษาถึงผลดีผลเสียของการตั้งศูนย์ร่วมกัน
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้มีบริษัทขนส่งเงินอยู่แล้ว อาจจะมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งศูนย์ขึ้นมาใหม่"
นายเชษฐ กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่ มีศูนย์รับฝากเงินหรือบริษัทขนส่งเงิน
มีแนวคิด ที่จะต้องร่วมกันจัดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้น ทุน เพราะแบงก์พาณิชย์เกือบทุกแห่ง
โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ต่างมีสาขากระจายอยู่ทุก จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสถานที่ตั้งของสาขาของแบงก์แต่ละแห่งไม่ไกลกันมาก ควรที่จะใช้ศูนย์ร่วมกันได้
สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น ได้หารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บ้างแล้ว
เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์รับฝากเงินร่วมกัน โดยในช่วง แรกจะใช้ศูนย์ที่ตั้งขึ้นเองก่อน
หากพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีต้นทุนหรือผลเสียมากกว่าคงจะต้องเข้ามาหารือกันใหม่ระหว่างธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยกัน
โดยโอกาสที่เป็นไปได้ในการร่วมกันจัดตั้งศูนย์รับฝากเงิน คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
และธนาคารไทยพาณิชย์
ด้านธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจขนส่งเงิน
ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการเติมเงินในเครื่องเอทีเอ็มด้วย ซึ่งสามารถนำมาใช้สนับสนุนสาขาของธนาคารนั้นๆได้เลย
ส่วนของธนาคารกรุงไทยก็มีบริษัทขนส่งเงินเช่นเดียว กัน ซึ่งจะมีการตกลงแล้วว่าจะให้ขนเงินของธนาคารพาณิชย์รัฐทั้งหมด