เจ้าหนี้เด้งแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเจพีมอร์แกน-บล.ไทยพาณิชย์ เหตุใช้หลักวิชาการมากเกินไปจนไม่มีใครได้ประโยชน์
มีแต่เสียกับเสีย แถมผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ไม่ได้รับการดูแลซึ่งผิดวัตถุประสงค์ ชี้ลดทุนโหดทำแบงก์กรุงเทพป่วนต้องตั้งสำรองอื้อ
กระเทือนมาร์เกตแคปและผู้ถือหุ้นรายย่อยแบงก์กรุงเทพอีกบานตะไท ล่าสุดเจ้าหนี้เตรียมปรับแผนฟื้นฟูใหม่หาสูตรที่เป็นกลางกับทุกฝ่าย
วานนี้ (25 มี.ค.)หุ้นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ได้ปรับตัวลดลง
โดยราคาปิดที่ 5.85 บาท ลดลง 2.10 บาท คิดเป็น 26.42% ท่ามกลางสถานการณ์ที่หุ้นมาร์เกตแคปใหญ่ๆ
ได้ปรับตัวลงจึงสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยการปรับลดลงของราคาหุ้น
TPI เป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของการฟื้นฟูกิจการ TPI
แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้บริษัท อุตสาหกรรมเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากผลการเจรจากับ
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ไม่ได้ข้อสรุปการเข้ามาร่วมลงทุน วานนี้ (25
มี.ค.) ได้เกิดกระแสข่าวที่สร้างความสับสนให้แก่นักลงทุนว่าแผนฟื้นแผนการฟื้นฟูกิจการ
TPI จัดทำเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแผนฟื้นฟู TPI ดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ
เนื่องเจ้าหนี้ก็ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูดังกล่าว
โดยแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งจัดทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และเจพี.มอร์แกนนั้นทางเจ้าหนี้
ได้สรุปกันว่าจะไม่ยอมโหวตผ่านอย่างแน่นอน เนื่องจากแผนดังกล่าวออกมาในลักษณะเชิงวิชาการ
ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้แม้แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ไม่ได้รับการดูแล
โดยแผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าวมีแนวทางสำคัญๆ คือ
1)แฮร์คัตหนี้จำนวนหนึ่งจากประมาณ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือประมาณ 1,300 ล้านเหรียญ
สหรัฐ โดยยังมีหนี้จำนวนหนึ่งเหลือตั้งทิ้งไว้ทยอยชำระ 2) ลดทุนจดทะเบียนลงเหลือราว
10 สตางค์ เพราะในทางกฎหมายลดเหลือศูนย์ไม่ได้
การลดทุนลงจนเกือบเหลือศูนย์กระทบกับเจ้าหนี้ โดยเฉพาะธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะต้องมีการตั้งสำรองที่เกิดจากการลดทุนจำนวนมาก
และในการ แก้ปัญหาก็ต้องดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TPI ด้วย
"ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ก็จะต้องตั้งสำรองจำนวนมาก ซึ่งกระทบเป็นลูกโซ่เพราะธนาคารกรุงเทพเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่
มีผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคารกรุงเทพจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย แผนฟื้นฟูจึงต้องแฟร์กับทุกฝ่ายที่สุด"
แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหนี้รายใหญ่ไม่ได้กังวลนักกับการแฮร์คัตเพียงแต่ต้องไม่ทำให้รู้สึกว่าสูญเสีย
สิ่งที่เจ้าหนี้ห่วงกันคือไม่อยากให้มีภาพนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นผู้บริหาร
หรือ มีตัวแทนของนายประชัย เข้าไปนั่งคุมอำนาจใน TPI เจ้าหนี้ทำให้ทุกคนมีความเป็นห่วงการบริหารการเงิน
หลังจากแผนฟื้นฟูกิจการผ่านแล้ว
เนื่องจากในการแปลงหนี้เป็นทุนไม่ได้แปลงหมด ยังมีหนี้จำนวนหนึ่งตั้งค้างไว้ทยอยชำระ
"ถ้าอนาคตไม่รู้ว่าใครบริหารเจ้าหนี้ย่อมเป็นห่วงเพราะทุกคนไม่ต้องการให้คุณประชัยหรือคนของคุณประชัยเข้ามาคุมอำนาจบริหารแน่
อีกทั้งแผนฟื้นฟูกิจการ TPI หลังลดทุนแล้วก็จะต้องมีการเพิ่มทุนใหม่เข้ามาด้วย"
ที่สำคัญการออกมาต่อต้านแผนฟื้นฟูกิจการของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ถือหุ้นเดิม
ทุกรูปแบบทั้งมีการออกแถลงการณ์และมีการแถลงข่าวเป็นระยะ ทำให้เห็นภาพปรากฏชัดเจนว่าหากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับการยินยอมจากทุกฝ่ายย่อมทำให้การแก้ปัญหา
TPI ไม่ได้ข้อยุติ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ที่เป็นกลางกับทุกฝ่ายออกมาใหม่อีกครั้ง
ซึ่งขณะเจ้าหนี้กำลังเตรียมหาสูตรใหม่ออกมา โดยคณะผู้บริหารแผนทั้ง 5 คนก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งสูตรใหม่นี้จะต้องเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและในการแก้ปัญหา TPI ต้องดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย
"สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่นั้นแม้ดูเหมือนว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก
เพราะเพียงแต่ปรับให้แผนออกมาเป็นกลางกับทุกคน ก่อนจะเสนอให้เจ้าหนี้โหวตเห็นด้วย
ซึ่งแผนหลักๆ ก็ยังต้องมีการลดทุนและเพิ่มทุนและแฮร์คัตหนี้แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่แฟร์กับทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้
ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้นรายย่อย"
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า สำหรับบริษัท ปตท. นั้นหลังจากมีข่าวการเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้
TPI แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้ ทำให้ทางบริษัท ปตท.กำลังพิจารณากันว่าจะมีการชี้แจงไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯว่าไม่เข้าลงทุนใน
TPI