สังคมวันนี้ สร้างความวิตกกังวลต่อผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง
นักวางแผนเชิงกลยุทธ์รวมถึงผู้คนทั่วๆ ไป ว่าด้วยความคิดรวบยอดแล้ว การบริหารความวิตกกังวลของผู้นำ
และผู้คนในองค์กร จะมีความสำคัญมากขึ้นๆ
ความคิดที่ว่าโลกไร้พรมแดน (Globalization) จะมองในเชิงสร้างสรรค์ค่อนข้างมาก
มองตลาดที่กว้างใหญ่ โอกาสที่มีมากขึ้น โดยเน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจต่างๆ
เป็นพิเศษ แต่แนวความคิดว่าด้วย Connected economy ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจว่าด้วยเรื่องผลกระทบในระบบของโลกสัมพันธ์กันทุกมิติ
ทุกระบบ และมีความสัมพันธ์ข้ามกันไปมาอย่างซับซ้อนด้วย
ว่าไปแล้ว การมอนิเตอร์ดัชนีความผันแปรของระบบเศรษฐกิจโลกเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจเปิด
ทำให้ผู้คนมีความรู้เรื่องตลาดเงิน และตลาดทุนระดับโลก กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีค่ามากในยุคก่อนระบบเศรษฐกิจล่มสลายครั้งล่าสุด
ทุกวันนี้การมอนิเตอร์ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ราคาน้ำมัน ฯลฯ ในระดับโลกในระหว่างวันทุกๆ
วัน กลายเป็นความรู้พื้นฐานของนักบริหารระดับกลางขึ้นไปแล้ว
นี่คือความเป็นไปพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ไม่เพียงเป็นการส่งออกสินค้า
และนำเข้าวัตถุดิบ การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการเงินโลก หรือเพราะเป็นเครือข่ายบริษัทระดับโลกเท่านั้น
หากรวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ว่าด้วยมาตรฐาน ไม่เพียงเป็นสิ่งที่จับต้องได้
หากรวมไปถึงมาตรฐานของระบบบริหารในมิติต่างๆ ระดับลึกของหน่วยงานย่อยขององค์กรเลยทีเดียว
แต่ทุกวันนี้ ระบบเชื่อมโยงของโลกได้ข้ามผ่านมิติหลักทางเศรษฐกิจไปแล้ว
นักบริหารจะต้องให้ความสนใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น ทั้งๆ ที่หลายเรื่องก็ไม่มีความรู้มาก่อน
หรือไม่อยู่ในตำราบริหารธุรกิจมาก่อนด้วย ตั้งแต่เรื่องผู้ก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ
โรคระบาด ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดในโลก ล้วนส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ไม่มากก็น้อย จนกล่าวได้ว่าโลกที่มีความเชื่อมต่อกันมากขึ้น มีความอ่อนไหว
เปราะบางอย่างมาก ยิ่งเมื่อระบบเศรษฐกิจหนึ่งพยายามสร้างความสัมพันธ์กับอีกระบบเศรษฐกิจหนึ่งอย่างแน่นแฟ้น
ที่เรียกกันว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระดับลึกที่มี Transaction ระหว่างกันมากขึ้น
ไม่ใช่เป็นลักษณะสัญญาต่อสัญญาเป็นครั้งคราว หากเป็น Transaction เป็นนาที
วินาที ตลอด 24 ชั่วโมงกันทีเดียว
โลกยุคใหม่กำลังสร้างความเชื่อมโยงอย่างเข้มมากขึ้นๆ โยงใยแน่นแฟ้นอย่างมากเสียจนจินตนาการไม่ได้นั้น
สร้างสังคมใหม่ที่มีลักษณะอ่อนไหว ผันแปรอย่างยิ่งตามมาอย่างช่วยไม่ได้
กูรูบริหารยุคใหม่บางคนเสนอว่าผู้บริหารจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องอื่นๆ
มากขึ้นจากเดิม มีระบบการตัดสินใจที่ดีขึ้น มีระบบองค์กรที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ซึ่งก็เป็นคำแนะนำพื้นๆ ทั่วไปที่ทำได้ และดูจะมีเหตุผลอยู่ด้วยไม่น้อย
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ผมเชื่อว่าความสามารถในการบริหารของผู้นำท่ามกลางวิกฤติการณ์
หรือความอ่อนไหว ผันแปรอย่างมีสติ และดูแลบริหารความวิตกกังวลของตนเองได้ดี
จะเป็นพื้นฐานสำคัญมากทีเดียว เชื่อว่าวิชาการบริหารยุคใหม่จะสนใจเรื่องจิตใจมากขึ้นกว่ายุคใดๆ