อากาศที่บริสเบนช่วงมกราคมต่อเนื่องถึงมีนาคมปีนี้วิปริตมากครับ
เริ่มต้นด้วยพายุและฝนตกอย่างหนักช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ก่อนจะเกิดคลื่นความร้อนจัดที่ทำให้อุณหภูมิในบริสเบนสูงทำลายสถิติ เดือนมีนาคมทั้งพายุและคลื่นความร้อนยังคงกระหน่ำบริสเบนอย่างไม่ลดละ
ฟ้าหลังฝนมักจะสวยงาม แต่ที่นี่ยังหาความงามหลังพายุไม่เจอครับ...
พายุปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบหกปีที่ผ่านมา รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า
ในรอบหกวันนับจากวันที่ 26 มกราคม ถึง 31 มกราคม มีพายุรุนแรงถึงหกครั้งด้วยกัน
ในขณะที่ทศวรรษ 1950 ที่ผ่านมาซึ่งถือว่ามีพายุรุนแรงที่สุด แต่ก็ไม่ถี่เท่าปีนี้
ความรุนแรงของพายุปีนี้ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์
แลนด์ไม่มีไฟฟ้าใช้ โทรศัพท์ถูกตัด อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก
(Pay TV) ซึ่งขึ้นกับสายโทรศัพท์และไฟฟ้าใช้ไม่ได้เช่นกัน
หลังคาบ้านหลายหลังถูกพายุพัดเอาไป ถนนหนทางเสียหายหลายเส้น
เด็กนักเรียนชาวเกาหลีใต้ขณะกำลังทัวร์ University of Queensland ถูกต้นไม้ในบริเวณสนามหญ้าใหญ่ล้มทับ
ได้รับบาดเจ็บสาหัสสองคน และบาดเจ็บอีกหลายคน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และระบบระบายน้ำอีกด้วย มีรายงานแจ้งว่า
ระบบระบายน้ำในบริสเบนเอง ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องการเงินงบประมาณมากถึง
400 ล้านเหรียญ ในช่วงยี่สิบปีข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ
งบป้องกันน้ำท่วมของเมืองบริสเบนถูกตัดไปกว่า 5 ล้านเหรียญในการพิจารณางบประมาณประจำปีเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา
โดยลดลงจาก 35.1 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 30.4 ล้านเหรียญ ถึงแม้ว่าจะได้รับการทัดทานแล้วก็ตาม
ประเด็นเรื่องน้ำท่วมและระบบระบายน้ำจึงกลายเป็นประเด็นการเมืองในช่วงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกอบกับมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งรัฐควีนส์แลนด์ในช่วงนี้ด้วย
อุณหภูมิอากาศและอุณหภูมิการเมืองจึงร้อนจัด
Energex หน่วยงานไฟฟ้าของที่นี่รายงานว่า พายุปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบหกปีที่ผ่านมา
ประชาชนกว่าแสนคน ต้องตกอยู่ในความมืด และ Energex เองต้องลงทุนติดตั้งและแก้ไขเครือข่ายที่เสียหายจากพายุครั้งนี้มากมายเช่นกัน
หลังพายุสงบ บริษัทประกันต้องรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนคิดเป็นมูลค่ากว่า
10 ล้านเหรียญ
รายงานอย่างเป็นทางการแจ้งว่า สี่แสนครัวเรือนต้องผจญกับปัญหาไฟฟ้าดับ
มีโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนมากถึง 800 ครั้ง ปริมาณฝนมากถึง 115 มิลลิเมตรเฉพาะบริสเบน
หลังพายุ ต้นไม้ในที่สาธารณะทั้งหมดของเมืองบริสเบนจะต้องถูกตรวจสอบเรื่องความปลอยภัย
เพราะพายุครั้งนี้ทำให้ต้นไม้ในหลายๆ จุดทั่วบริสเบนหักโค่นและสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไฟฟ้าดับในช่วงพายุนี้ก็คือ
ต้นไม้หักล้มทับเสาไฟฟ้านั่นเอง
Brisbane City Council ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารเมืองบริสเบน และ Energex
ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านไฟฟ้าของที่นี่ ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากประชาชนเมืองบริสเบน
เนื่องจากไม่สามารถรับมือกับปัญหาพายุได้ดีพอ
ในแง่ดี พายุในช่วงนี้ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในรัฐควีนส์แลนด์มีเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา
รัฐควีนส์แลนด์ต้องเผชิญกับปัญหาความแห้งแล้ง และทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดต่ำลงมาก
หลังพายุพัดกระหน่ำ ชาวบริสเบนกลับต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนจัด
จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30 กว่าองศาเซลเซียสไปจนถึง
40 กว่าองศาเซลเซียส โดยบางพื้นที่ของรัฐควีนส์แลนด์ขึ้นไปเกือบ 50 องศาเซลเซียสทำให้สระว่ายน้ำสาธารณะ
ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ และโรงแรม ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม
พนักงานติดตั้งแอร์ไม่มีเวลาว่าง เนื่องจากคิวติดตั้งแอร์มียาวเหยียด
แอร์แบบเคลื่อนที่ได้ พัดลม หรือพัดลมไอน้ำถูกกวาดซื้อจนเกลี้ยงตลาด
อากาศร้อนยังส่งผลต่อเด็กนักเรียนและพนักงานขับรถเมล์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การคาดการณ์อากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ทำให้ Queensland Teachers
Union แนะนำไม่ให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปโรงเรียน เนื่องจากไม่มีแอร์ที่โรงเรียน
ในขณะที่โครงการ "Cooler Schools" ที่จะขยายการติดตั้งแอร์ไปยังโรงเรียนห่างไกลยังทำได้ไม่ทั่วถึง
และจะต้องใช้เงินมากถึง 465 ล้านเหรียญ สำหรับติดตั้งแอร์คอนดิชั่นสำหรับทุกโรงเรียนและ
87 ล้านเหรียญต่อปีสำหรับดูแลรักษาระบบ
ในขณะที่พนักงานขับรถเมล์ของเมืองบริสเบนนัดหยุดงานประท้วงในช่วง 10 โมงเช้าถึงบ่ายสองโมงวันที่
20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด และมีการคาดการณ์อุณหภูมิที่จะสูงมาก
ปัจจุบันรถเมล์ในเมืองบริสเบนมากกว่าสองในสามไม่มีแอร์ พนักงานขับรถเรียกรถเมล์ที่สภาพทรุดโทรมและไม่มีแอร์ว่า
"butter boxes" ในขณะที่โครงการจัดซื้อขวดน้ำสำหรับบรรจุน้ำเย็นให้พนักงานดื่มบนรถเมล์
ซึ่งต้องสั่งนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่า 1.5 ล้านเหรียญก็ถูกพักไว้ชั่วคราว
เพราะต้องการจะนำเงินไปติดตั้งแอร์บนรถเมล์แทน
โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีอากาศร้อนกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
แพทย์ต้องแนะนำผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนดื่มน้ำมากๆ เคลื่อนไหวน้อยๆ และอยู่ในที่เย็นๆ
รวมถึงแนะนำให้ช่วยกันดูแลเด็กและคนชรา
ทั้งนี้จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์
ทำให้คนแก่และเด็กขาดน้ำต้องเข้าโรงพยาบาลหลายราย และหลายคนต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ อากาศร้อนยังทำให้ตัวทรานสฟอร์มเมอร์ ของการไฟฟ้าร้อนจัด และอุปกรณ์บางส่วนได้รับความเสียหาย
ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับในบางพื้นที่อีกต่างหาก Energex ต้องฉีดน้ำพ่นใส่ตัวทรานสฟอร์มเมอร์เพื่อลดความร้อน
คลื่นความร้อนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาส่งผลให้มีคนตายห้าคนและแปดสิบคนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน
ตัวเมืองบริสเบนเอง ตามสถิติเคยอากาศร้อนจัดที่สุดเมื่อเดือนมกราคม ปี
1940 โดยอุณหภูมิขึ้นไปถึง 43.2 องศาเซลเซียส
ขณะที่ปีนี้บริสเบนร้อนจัดถึง 41.7 องศาเซลเซียส ก่อนจะเกิดพายุฟ้าผ่าและทำให้อุณหภูมิโดยรวมลดลงอีกครั้ง
แต่จากการคาดการณ์อุณหภูมิในช่วงกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงมีนาคมก็จะยังคงสูงกว่า
30 องศาเซลเซียส
สภาพหลังพายุและคลื่นความร้อนยังคงเก็บอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คน และหลายคนที่นี่ก็ยังคงรอฤดูหนาวที่กำลังจะย่างเข้ามาถึงในไม่ช้า
แม้พายุจะรุนแรงเพียงใด อุณหภูมิจะร้อนจัดเพียงไหน นกก็ยังรักษารังของมันไว้ได้
พ่อนกแม่นกยังคงหาอาหารมาเลี้ยงลูกของมันได้
ความงามหลังพายุคือ ชีวิตที่เดินหน้าต่อไปครับ