แม้บทบาทชีวิตของ ปรีดา เตียสุวรรณ์ ด้านหนึ่งจะเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องประดับระดับโลกอย่างแพรนด้า จิวเวลรี่
แต่คุณค่าของชีวิตในฐานะมนุษย์ร่วมสังคมได้ผลักดันให้เขาทำงานอย่างหนักในอีกมุมหนึ่งของประเทศ
ที่ห่างไกล...เวียงแหง
เวียงแหงเป็นอำเภอในหุบเขาห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่เลี้ยวลด
คดเคี้ยว และสูงต่ำตามสภาพภูมิประเทศ ที่นี่ชาวบ้านกำลังคัดค้านการสร้างเหมืองลิกไนต์แห่งใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โดยหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบอย่าง ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมา แม้ปรีดามีภาระสำคัญในเรื่องขยายการลงทุนของบริษัทเข้าไปในประเทศจีน
แต่เขายังมีเวลาพาผู้บริหารจากหลากหลายธุรกิจและสื่อมวลชน กลุ่มหนึ่งลงไปสัมผัสชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ
และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้
การเดินทางครั้งนั้นนอกจากกลุ่มนักธุรกิจ ก็ยังมีนักเคลื่อนไหวทางสังคม
เช่น พิภพ ธงไชย หรือวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมเดินทางไปด้วย แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้มีส่วนได้
ส่วนเสียโดยตรงกับการสร้างเหมือง แต่การเดินทางลงพื้นที่ก็สร้างกำลังใจให้ชาวบ้านได้มาก
ปรีดาเป็นประธานในกลุ่มเอเชียของ SVN (Social Venture Network) ประเทศไทย
ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการมาครบ 5 ปีเต็มเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
SVN มีการจัดสัมมนาพูดคุยหรือเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนเดินทางลงพื้นที่เช่นที่เขื่อนปากมูล
หรือป่าชุมชน รวมถึงมีการให้รางวัลกับหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในหลายทาง
ซึ่งมีโครงข่ายอยู่ทั่วโลก
แม้คำว่า CSR (Corporate and Social Responsibility) จะเป็นที่รู้จักกันมานาน
แต่บทบาทของธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงนั้นยาก
บัญฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย เคยพูดไว้ว่า จริงๆ
แล้ว นั่นเป็น "การให้ (philanthropy) มากกว่า CSR"
ภาพการทำงานหนักขององค์กร (SVN) ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้หลายคน ได้ทบทวนคำว่า
"จริยธรรม" ของผู้บริหาร (Ethic of Leaders) ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจและทำให้สหประชาชาติหันมาตั้งโครงการ
Global Contact สำหรับหน่วยธุรกิจที่จะทำตัวเป็นประโยชน์ต่อโลก โดยมีข้อปฏิบัติ
9 ข้อ เช่น ในด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน
"ตอนนี้ท่าน (โคฟี่ อันนัน) เชิญผมไปพบวันที่ 24-25 มิถุนายน เพื่อคุยเรื่องนี้"
ปรีดาเล่าอย่างภูมิใจ เขามีความเห็นว่า
"การทำ CSR นั้นไม่ใช่มีแต่ต้นทุนเพิ่ม แต่ผลตอบแทนเพิ่มเช่นกัน มีงานวิจัยที่ระบุว่า
บริษัทขายของดีขึ้นจากการที่บริษัทมีภาพลักษณ์ทางสังคม เป็นความจริงที่ต้องถกเถียงต่อ
ว่าเวลาที่บริษัททำเรื่องทางด้านสังคมควรจะเอามาทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือควรจะเอามาทำในเชิงพาณิชย์หรือไม่
แต่การที่นำมาใช้เป็นมาร์เก็ตติ้ง เป็นเรื่องไม่ควร เพราะในที่สุดมันจะย้อนกลับ
มาไม่ดี เพราะอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องจิตใจ จิตวิญญาณ จิตสำนึก มันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะเอามาค้าขายกัน
มนุษย์เราค้าขายทุกอย่างในสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่ไม่ขายคือจิตวิญญาณ"
"ผมเคยทำหนังสือถึงนายกฯ เรื่องเขื่อนปากมูลด้วยนะ แต่ท่านไม่ได้ตอบอะไรมา
ผมไม่รู้ว่าท่านอ่านหรือเปล่า วันหนึ่งท่านไปเปิดงานที่อิมแพค พอท่านเข้ามาในบูธแล้วถามหาผม
บังเอิญผมไม่อยู่ท่านก็เลยบอกว่า สงสัยไปชุมนุมคัดค้านอะไรอยู่ที่ไหนหรือเปล่า"
ปรีดากล่าวติดตลก พร้อมบอกว่า อนาคตทางการเมืองไม่มีอยู่ในความคิดของเขา
เพราะถือว่าการเมือง ภาคประชาชน คือสิ่งที่เขากำลังทำมาตลอด และจะทำต่อไป