หากไม่นับ ชัยพนธ์ โอสถาพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการของ
บลจ.เอ็มเอฟซี ที่ถือเป็นผู้จัดการกองทุนคนแรกๆ ของตลาดหุ้นไทย เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ
อาจนับเป็นคนที่คร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจจัดการกองทุน และมีประสบการณ์ยาวนานอีกผู้หนึ่งของวงการนี้
เขาเข้ามาอยู่ในธุรกิจจัดการกองทุนตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดหุ้นยังมีเวลาซื้อขายกันเพียงวันละ
2 ชั่วโมง โดยใช้วิธีเคาะกระดานในห้องค้าที่อาคารสินธร
จนถึงปัจจุบัน นับว่าเขาได้พบเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยมาโดยตลอด
"ผมผ่านวิกฤติในตลาดหุ้นมาแล้วหลายวิกฤติ"
เพิ่มพลเรียนจบปริญญาตรี บริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปริญญาโทจาก
United States International University
เริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม
(ชื่อเดิมของบลจ.เอ็มเอฟซี) ในปี 2529
"ตอนนั้นผู้จัดการการลงทุนยังมีไม่กี่คน ผมก็มาดูเรื่องหุ้น ซึ่งยังใช้วิธีเคาะกระดาน
ก็ต้องนั่งฟังวิทยุ หลังตลาดปิดตอนเที่ยงก็มาดูราคาปิด แล้วก็มาดูว่าในแต่ละวัน
มีการลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง" เขาเล่า
เขาใช้ชีวิตใน บล.กองทุนรวมอย่างยาวนาน และผ่านงานแทบจะทุกฝ่ายในบริษัทจัดการกองทุนรายแรกของประเทศไทย
แห่งนี้
งานที่สำคัญและถือว่าได้เรียนรู้อย่างมาก คือการที่เขาได้เป็นผู้ประสานงานกับนักลงทุนต่างประเทศ
เพราะบล.กองทุนรวม ถือเป็นบริษัทจัดการกองทุนแห่งแรกที่ได้ไปออกกองทุนในต่างประเทศ
เพื่อระดมเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่เมื่อปี 2530
"ทำในฝ่ายการลงทุนได้ปีเศษๆ ก็ถูกย้ายไปดูด้านการตลาด เพราะตอนนั้นที่กองทุนรวมเริ่มมีกองทุนต่างประเทศเข้ามา
ก็ต้องเป็นคนคอยประสานงานกับต่างประเทศ คอยต้อนรับเวลาตัวแทนต่างประเทศมาพาไปแบงก์ชาติ
หรือพบกับผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนเข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งกองทุน
และการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ให้นักลงทุนเหล่านี้ได้รับรู้"
ประโยชน์ที่เขาน่าจะได้รับจากการทำหน้าที่นี้ คือการได้รู้ถึงแนวคิด ตลอดจนพฤติกรรมที่มีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งว่ากันว่าแม้เวลาจะผ่านมาแล้วนับ 10 ปี ก็ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
นอกจากงานที่ต้องสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติแล้ว เพิ่มพลยังถูกมอบหมายงานอีกหลากหลายในบล.กองทุนรวม
ตั้งแต่งานด้าน Compliance ซึ่งถือเป็นของใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ต้องการให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทุกแห่งจัดตั้งขึ้นมา หลังปี
2535 ตลอดจนการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ตำแหน่งสุดท้ายของเพิ่มพลใน บล.กองทุนรวม ก่อนที่จะย้ายมาเป็นกรรมการผู้จัดการ
บลจ.พรีมาเวสท์ในปี 2544 เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์