เลขาฯกบข.มั่นใจภายในสัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปเรื่องการซื้อธนาคารเอเชีย "สมคิด"
ไฟเขียว แต่ให้ศึกษาผลดีผลเสียให้ชัดเจน เผยต้องหาพันธมิตรต่างชาติช่วยบริหารและสร้างมาตรฐานการลงทุนในธนาคารเอเชีย คาดเทมาเส็ก โฮลดิ้ง จากสิงคโปร์เข้าร่วม "วิสิฐ" เผยกบข.พร้อมสนองนโยบายรัฐโดยการลงทุนใน
"นกแอร์" ของการบินไทย 5-10%
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาจข้าราชการ (กบข.)
เปิดเผยว่า กบข.มีแผนเข้าไปลงทุนในธนาคารเอเชีย (BOA) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
"คณะกรรมการกบข.มีความสนใจ เชื่อว่าจะสรุปผลภายในสัปดาห์นี้" นายวิสิฐกล่าว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผู้บริหารของกบข.ได้เข้ามาหารือแนวทางในการเข้าไปลงทุนในธนาคารเอเชีย
จากธนาคารเอบีเอ็นแอมโร ที่ประกาศขายหุ้นจำนวน 80.77% ซึ่งไม่มีปัญหา แต่ให้ศึกษารายละเอียดและผลดีผลเสีย
คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน
(due diligence) น่าจะได้ข้อสรุปเรื่องราคาหุ้นภายในสิ้นเดือน กระทรวงการคลังเห็นว่า
กบข.มีสภาพคล่องเหลืออยู่จำนวนมาก และการลงทุนดังกล่าวจึงน่าที่จะสร้างผลกำไรได้ในอนาคต
นอกจากนี้การเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารช่วยให้กบข.ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ปัจจุบันต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารปีละหลายล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการกบข.ได้เห็นว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงจึงต้องการที่จะศึกษาข้อมูลเพื่อให้แน่ใจเสียก่อน
โดยปัจจัยที่จะพิจารณา ประกอบด้วย 1.จะต้องมีพันธมิตรที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธนาคารเข้ามาร่วมลงทุนก่อน
กบข.จึงจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย
"หากเทมาเส็ก โฮลดิ้ง สิงคโปร์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือหุ้นอยู่ในดีบีเอส เข้ามาลงทุนในธนาคารเอเชียสัก
20-30% กบข.ก็จะมั่นใจมากขึ้นในการร่วมลงทุน เนื่องจากเทมาเส็กช่วยเติมด้านการบริหารงานแบบมืออาชีพ
และเทคโนโลยี ทำให้ธนาคารเอเชียมีมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่น
นอกจากนี้การซื้อแบงก์เอเชียต้องใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท กบข.จึงต้องหาพันธมิตรมาลงขัน"
แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนที่ 2. การลงทุนของกบข.จะมีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่หวังผลในการบริหาร โดยจะจำกัดขอบเขตการลงทุนไว้เพียง
1,000-1,200 ล้านบาท หรือถือหุ้นไม่เกิน 10% ของหุ้นทั้งหมดของธนาคารเท่านั้น และจะต้องสามารถถอนเงินลงทุนออกได้ในอนาคตเมื่อกบข.มีความต้องการที่จะถอนเงินลงทุน
"ขณะนี้ถือว่าคณะกรรมการ กบข.เห็นชอบใน หลักการให้ศึกษาการลงทุนเพราะเห็นว่าเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีศักยภาพหุ้นในตลาดราคาไม่สูงนัก
โอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนยังมี และธนาคารมีระบบที่ดีจากการลงทุนของเอบีเอ็น
แอมโรในช่วงที่ผ่านมา" แหล่งข่าวกล่าว
ในช่วงปี 2546 กบข.ได้ลงทุนตามประเภท ต่างๆ โดยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
และตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 31% ตราสารหนี้ของภาคเอกชนและสถาบันการเงิน
อื่นๆ 25% เงินฝากและตราสารหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ออก รับรอง อาวัล สลักหลัง 24%
หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 15% และอีก 5% ลงทุนในอสังหาฯ และอื่นๆ
สิ้นปี 2546 กบข.มีสินทรัพย์สุทธิ 2.4 แสนล้านบาท และปัจจุบันลดลงเหลือ 238,393
แสนล้านบาท เนื่องจากหักในส่วนของข้าราชการกบข.ที่เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด
โดยในปี 2547 กบข.จะปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มจากปีก่อนเป็น 17-18% ลงทุนในตราสาร
77-80% ที่เหลือเป็นอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้จะลงทุนในตลาดต่างประเทศผ่านกองทุนรวมอีก
8,000 ล้านบาท เตรียมลง "นกแอร์"
นายวิสิฐกล่าวว่า แผนการลงทุนของกบข. ในขณะนี้ยังสนใจลงทุนในสายการบินต้นทุนต่ำ
ของบริษัทการบินไทย โดยจะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 5-10% เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและสบายในการเดินทางไปต่างจังหวัด
และยังมีราคาค่าโดยสารถูกกว่า นั่งรถไฟหรือการบินไทย ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ การบินไทยได้เปิดตัว "นกแอร์" สายการบินต้นทุนต่ำไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
"การลงทุนครั้งนี้จะคุ้มทุนหรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งสายการบินดังกล่าวซึ่งต้องรอให้การบินไทยทำแผนและรายละเอียดของการลงทุนให้เสร็จก่อนแต่มั่นใจว่าการเข้าไปลงทุนในครั้งนี้น่าจะคุ้มค่า"
นายวิสิฐ กล่าวว่า ยอมรับปีนี้การลงทุนยากลำบากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่การลงทุนในตลาดทุน
กบข.ยังเน้นที่จะลงทุนในประเทศและเอเชีย เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจเอเชีย
เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและอียู และมั่นใจว่าอีกไม่นานภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นจะกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ
หลังจากนายสมคิดเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
"ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีพีอีเรโชอยู่ประมาณ 12 -15% น่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก
หากมีปัจจัย บวกเข้ามาสนับสนุน ปีนี้ กบข.ได้ปรับแผนการลงทุนใหม่ โดยเน้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ใน
ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอียู ขณะที่ในประเทศก็มีการขายออกไปบ้างโดยเฉพาะหุ้นที่แรง
โดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน" นายวิสิฐกล่าว