ทีพีไอโพลีนมั่นใจล้างขาดทุน สะสม 1.9 หมื่นล้านบาทหมดเกลี้ยงภายในไตรมาส 2 ทำให้มีความสามารถในการจ่ายเงิน
ปันผลได้ ขณะเดียวกันมั่นใจได้ข้อยุติว่าแบงก์ กรุงไทยจะปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์เมษายนนี้
เตรียมเข็นบริษัทย่อย"ไนเตรตไทย"เข้าตลาดหุ้น ขณะเดียวกันยังคงนโยบายขายสินทรัพย์รองหากได้ราคาดี
นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ทีพีไอโพลีน
จำกัด (มหาชน)(TPIPL) เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมล้าง ขาดทุนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด
19,000 ล้านบาท โดยจะนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่มีอยู่จำนวน 8,100 ล้านบาท สำรองตามกฎหมายอีก
6,760 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 3,000 ล้านบาทรวมกับกำไรจากการดำเนินงานมาหักล้างทางบัญชี
คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปีนี้
หลังจากบริษัทฯดำเนินการล้างขาดทุนสะสมแล้ว ทำให้บริษัทฯมีความสามารถในการจ่ายเงิน
ปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ เพราะตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ของทีพีไอโพลีน บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้หลังจากมีเงินเหลือจากการหักอัตราดอกเบี้ยจ่าย
เงินต้น และตั้งสำรองที่จะชำระเงินต้นให้เจ้าหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะสามารถจ่ายปันผลได้ไม่เกิน
30% ของเงินสดที่เหลือ และอีก 70% ที่เหลือทางบริษัทจะนำมาชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯจะจ่ายเงินปันผลได้ภายในปีนี้หรือไม่นั้น คงพิจารณาว่าบริษัทฯมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเหลืออยู่
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการรีไฟแนนซ์หนี้เดิมว่า ทางบล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ยื่นผลการศึกษาให้กับธนาคารกรุงไทยเรียบร้อยแล้ว
เชื่อว่าภายในเดือนเมษายนนี้ ก็คงได้ข้อสรุปว่าธนาคารกรุงไทยจะเป็นแกนนำในการปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ให้กับทีพีไอโพลีนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากแบงก์กรุงไทยปฏิเสธที่จะปล่อยเงินกู้ ทางบริษัทฯก็คงจัดหาแหล่งเงินอื่นมาใช้รีไฟแนนซ์แทน
อาทิ การออกหุ้นกู้ หรือกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น จึงมีความเป็นไปว่าภายใน ปีนี้บริษัทฯจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความเชื่อว่า แบงก์กรุงไทยจะให้เงินกู้เพื่อรีไฟแนนซ์
โดยการกู้เงิน ดังกล่าวจะนำหลักทรัพย์ คือโรงงานผลิตปูนไลน์ที่ 1-3 ที่มีมูลค่ารวมกว่า
1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันหลักทรัพย์ดังกล่าวได้วางค้ำประกันให้กับKfW
แบงก์กรุงเทพ และแบงก์กรุงไทย
ปัจจุบัน บริษัทมีเงินที่เหลือจากการซื้อลดหนี้ 5.55 พันล้านบาท รวมกับกระแสเงินสด
2.00 พัน ล้านบาท ดังนั้นการกู้เงินเพื่อรีไฟแนนซ์คงไม่จำเป็น ต้องกู้ถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตามที่แบงก์กรุงไทย เคยแสดงเจตนารมณ์ก่อนหน้า แต่จะกู้เพียง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
รวมทั้งจะขอให้เจ้าหนี้แฮร์คัต ดอกเบี้ย ค้างจ่ายจำนวน 5.12 พันล้านบาท
ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิตโรงปูนไลน์ที่ 4 อีก 3.3 ล้านตันนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขยายกำลังการผลิต
เนื่องจากกำลังการผลิต ในประเทศยังล้นอยู่ แต่เชื่อว่าภายใน 2-3ปีข้างหน้า บริษัทฯอาจกลับมาพิจารณาขยายกำลังการผลิตไลน์ที่
4 อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา ทีพีไอโพลีนได้ลงทุนในส่วนฐานรากก่อสร้างไปแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ
3,000 ล้านบาท รวมทั้งได้สั่งซื้อเครื่องจักร หากจะขยายกำลังการผลิตก็จะใช้เวลาไม่นานและใช้เงินเพิ่มอีก
150 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
ปัจจุบัน ทีพีไอโพลีนมีส่วนแบ่งการตลาดปูนซีเมนต์และปูนสำเร็จรูปอยู่ที่ 24%
โดยปีนี้บริษัท จะลดการส่งออกปูนไปต่างประเทศเหลือเพียงไม่เกิน 1 ล้านตัน เนื่องจากตลาดในประเทศได้มาร์จิ้น
ดีกว่าการส่งออกถึง 25-30% จากแนวโน้มตลาดปูนสำเร็จรูปขยายตัวดี ทำให้บริษัทฯมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตปูนมอร์ตาร์เพิ่มขึ้นอีก
1 โรง
พร้อมขาย Non-Core หากได้ราคาดี
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ทีพีไอโพลีน ยังคงมีนโยบายที่ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก
(Non-Core) ออกไป หากได้ราคาดีและจังหวะเวลา เหมาะสม โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท
ไทยคาโปแลคตัมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯยังมีที่ดินในจังหวัดสระบุรีอีก
1.7 หมื่นไร่ รวมทั้งได้ถือหุ้นในบริษัท ไนเตรตไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการทำระเบิดเหมืองและฝนเทียม
เป็นต้น อยู่ประมาณ 40% จากเดิมที่ถืออยู่ประมาณ 60% หากบริษัทขายหุ้นของบริษัทไนเตรตแล้วได้ราคาดี
ก็จะขายออกไป แต่ถ้าได้ราคาไม่เหมาะสมก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขายในช่วงนี้ เนื่องจากบริษัท
ไนเตรตไทย มีศักยภาพในการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีมูลค่าหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะนำไนเตรตไทยเข้าตลาดหุ้น เนื่องจากต้อง
หารือกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน หากผู้ร่วมทุนเห็นพ้องก็จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ