เกียรตินาคิน เร่งเป้าสินเชื่อเคหะปี 2547 ยอดสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท กับ 120
โครงการใหม่ เติบโตจาก 200 โครงการในปัจจุบัน ชี้ทำการตลาดมาถูกทาง เน้นปล่อยกู้โครงการ
จัดสรรขนาดกลางและเล็ก ช่วยวางแผนพัฒนาสินค้า และการตลาด เร่งปิดขายโครงการในเวลารวดเร็ว
อนาคตเตรียมเพิ่มบทบาทจัดซื้อวัสดุล็อตใหญ่ให้ลูกค้า หวังสร้างอำนาจการต่อรองกับซัปพลายเออร์
และบริหารต้นทุนก่อสร้าง
นายธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล กรรม การผู้จัดการ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ บริษัทเงินทุน
เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการสินเชื่อโครงการกับกลุ่มผู้ประกอบการจัดสรรขนาดกลางถึงเล็กเป็นหลัก
และได้ดำเนินงานด้านการตลาดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยใน ปี 2547 บริษัทตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อโครงการใหม่ให้ได้
120 โครงการ คิดเป็น วงเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น การต่อยอดจากโครงการที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว
และอยู่ระหว่างเปิดขายอีก 200 โครงการ
รูปแบบการทำงานจะมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งประเภทสินค้าที่
จะพัฒนา ทำเลที่ตั้ง และปัจจัยอื่นๆ มาประกอบกัน โดยเฉลี่ยการให้สินเชื่อต่อโครงการ
อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท โดยจะเน้นให้สินเชื่อกับโครงการเกิดใหม่ และต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าสร้างเสร็จพร้อมขาย
ในกรอบการสนับสนุน 100% ของมูลค่าโครงการ
บริษัทฯจะเริ่มเข้าไปสนับสนุนกับเจ้าของโครงการในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวางแผนพัฒนาสินค้า
จะเป็นกลุ่มใด ออกแบบแนวคิด วางแผนการตลาด และส่งเสริมการขายให้ โดยที่ผ่านมาเกียรตินาคินจะทำการตลาดในลักษณะของการออกบูทแสดงสินค้า
ในชื่อบ้านหลังใหม่ตรงใจคุณ ตระเวนจัดงานไปแต่ละทำเล
การจัดงานจะแยกตามโซนในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นปี 2547 ที่ เซ็นทรัลลาดพร้าว
ต่อด้วย เซ็นทรัลพระราม 2, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, เดอะมอลล์
บางกะปิ และเป็นครั้งแรกที่ปีนี้จะออกบูทที่ต่างจังหวัด โดยเริ่มที่จังหวัดชลบุรี,
ระยอง และภูเก็ต ปิดท้ายปีที่เซ็นทรัลลาดพร้าว
โดยการจัดงานแต่ละครั้ง บริษัทจะนำทุกโครงการที่ก่อสร้างพร้อมขายไปออกบูท มีการลงทุนต่อครั้งแล้วแต่ลักษณะของงานและพื้นที่ของบูธแสดงสินค้า
อาทิ การนำ 27 โครงการเข้าร่วมงาน โฮมบายเออร์ ไกด์ แฟร์ จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น
3 ล้านบาท และมีการใช้เงินซื้อสื่อเพื่อแจ้งข่าวสารกับกลุ่มเป้าหมายอีกประมาณ 1
ล้านบาท งบประมาณทั้งหมดบริษัทจะเป็น ผู้ออกให้ทั้งสิ้น
จากการนำบ้านแต่ละโครงการออกบูธ จะพบว่ามียอดจองในงาน เฉลี่ย 50-60 ยูนิตต่อครั้ง
จากนั้นลูกค้าจะเริ่มเข้าไปชมบ้านจริงในแต่ละโครงการก่อนตัดสินใจซื้อ ในกรณีที่ลูกค้าสนใจขอสินเชื่อรายย่อย
สามารถใช้สินเชื่อเคหะสำหรับลูกค้าได้กับธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นพันธมิตรสำหรับสินเชื่อรายย่อยแต่ละโครงการ
"ต้องอย่าลืมว่าการจัดงานแต่ละครั้งจะเป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์มากกว่าที่จะปิดการขายได้
ยอดขายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายหลังการจัดงาน โดยต้นทุนการจัดงานแต่ละครั้งแม้ว่าจะสูง
แต่เมื่อเฉลี่ยต้นทุนต่อโครงการที่เข้าร่วมแล้วจะถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรณีที่โครงการจะดำเนินการเพียงรายเดียว"
นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านการอบรมพนักงานขายให้กับเจ้าของโครงการ และเริ่มดำเนินการไปแล้ว
อีกทั้งในอนาคตยังมีแผนที่จะให้บริการในเรื่องการเป็นตัวกลางในการเจรจาต่อรองกับซัปพลายเออร์กลุ่มวัสดุ
เพื่อจัดซื้อเป็นจำนวนมากต่อครั้ง และให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง
เนื่องจากบริษัทให้สินเชื่อโครงการด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายอื่น
การสร้างจุดแข็งในเรื่องบริการและการเข้าไปสนับสนุนในด้านการขายและการตลาดกับลูกค้าจะช่วยให้บริษัทเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อโครงการของกลุ่มผู้ประกอบการระดับกลางถึงเล็กได้
"ด้วยรูปแบบทางการตลาดที่ทำมา ถือว่ามาถูกทางแล้ว และมีความพอใจในระดับหนึ่ง
แต่ก็ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา เนื่องจากภาวะการแข่งขัน ตลาดเริ่มวิ่งหนีไปทุกวัน
และในทุกวันนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น การทำงานอย่างที่ทำอยู่อาจไม่เพียงพอ
การวางคอนเซ็ปต์ในเรื่องสินค้าที่พัฒนา การคัดเลือกทำเลที่ตั้งจะต้องทำให้ดี ที่สำคัญระยะเวลาก่อสร้างต้องเร็ว
และต้นทุนต้องไม่สูงเกินไป ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้"
สำหรับประเภทของที่อยู่อาศัยที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ และวางแผนการตลาดให้
จะมีสัดส่วนของบ้านเดี่ยว ประมาณ 60% ทาวน์เฮาส์ 20% ที่เหลือเป็นคอนโดมิเนียม
และอื่นๆ มีระดับราคาขายเฉลี่ย 2-4 ล้านบาท
นายธวัชไชย กล่าวว่า วิธีการตลาดสินเชื่อ โครงการ จะช่วยร่นระยะเวลาในการทำการ
ตลาด ทำให้ลูกค้าปิดการขายโครงการได้เร็วขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการสร้างเสร็จก่อนขายทั้งหมด
จากจำนวนเงินปล่อยกู้ 100% ของมูลค่าโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเร่งสร้างและขายได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ภายใต้งบประมาณด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ 50 ล้านบาทในปีนี้