ตลาดหลักทรัพย์เตรียมใช้มาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% หุ้นทุกกลุ่ม ภายในไตรมาส
2 นี้ เลื่อนจาก 1 เม.ย. "กิตติรัตน์" ชี้ ก.ล.ต.จะ เข้าใจสาเหตุการเลื่อน
เพื่อรอระบบแบ็กออฟฟิศโบรกเกอร์พร้อมก่อน ขณะที่ ตลท.กลับลำ ไม่เลื่อนใช้มาตรการนี้กับหุ้นกลุ่มรีแฮบโก
ประกอบกับนักลงทุนยังกังวลการประท้วงแปรรูป กฟผ. ส่งผลหุ้นตกวานนี้ 5.37 จุด ปิด
705.29 ด้วยวอลุ่ม 2.25 หมื่นล้านบาท คาดระยะสั้น ตลาดฯยังผันผวนต่อเนื่อง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลัก- ทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยวาน
นี้ (10 มี.ค.) ว่า คาดว่ามาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% สำหรับบัญชีเงินสดทุกบัญชีที่ซื้อขายหุ้นจะเริ่มใช้ได้ภายในไตรมาส
2 หลังจากเลื่อนจากเดิมที่จะใช้ภายในวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ด้านแบ็กออฟฟิศของโบรกเกอร์บางแห่งยังไม่พร้อม
ตลาดหลักทรัพย์จะแจ้งให้บริษัทสมาชิกรู้ล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนจะใช้มาตรการนี้
"จากการตรวจสอบพบว่าระบบ ซอฟต์แวร์ของโบรกเกอร์ยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถพัฒนาได้เพียง
70% เท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอให้มีความพร้อม ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น"
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) แล้ว ว่าจะขอเลื่อนการใช้ออกไปก่อน ซึ่งเขาเชื่อว่า ก.ล.ต.จะเข้าใจปัญหา
และรอให้ระบบพร้อมก่อน
ยังห้ามมาร์จิ้น-เน็ตหุ้นรีแฮบโก้
ส่วนมาตรการห้ามซื้อขายหุ้นบัญชีสินเชื่อซื้อหุ้น (มาร์จิ้น) และบัญชีหักกลบลบหนี้หุ้นตัวเดียวกัน
ภายในวันเดียวกัน (เน็ตเซตเทิลเมนต์) หุ้นกลุ่มรีแฮปโก้ ที่เดิมจะเริ่มใช้ภายในวันที่
16 มี.ค. แต่เมื่อ วันอังคาร มีข่าวว่าจะเลื่อนนั้น นายกิตติรัตน์ยืนยันว่า ตลาดหลักทรัพย์จะยังใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป
ไม่มีการเลื่อน
อย่างไรก็ตาม อนาคต เมื่อใช้มาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% ตลาดหลักทรัพย์อาจทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะปลีกย่อยบางอย่าง
เช่น อาจยกเลิกห้ามซื้อขายแบบบัญชีมาร์จิ้น และห้าม เน็ตเซตเทิลเมนต์ หุ้นรีแฮบโก้
เพราะมาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% สามารถแก้ปัญหาได้
ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่าภายในวันอังคารที่
16 มี.ค. ตลาดหลักทรัพย์จะยังคงใช้มาตรการห้ามมาร์จิ้น และห้ามเน็ตเซตเทิลเมนต์หุ้นรีแฮบโก้ต่อไป
เพราะมาตรการวางหลักทรัพย์ 10% ยังไม่พร้อม
ส่วนการทบทวนมาตรการย่อยที่จะใช้ระหว่างทาง ก่อนมาตรการ 10% จะถูกใช้ อาจต้องพิจารณาตามสถานการณ์
ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไป ว่าเป็นอย่างไร ทั้งส่วนมาตรการดูแลหุ้นรีแฮบโก้ และหุ้นที่อยู่ในบัญชีหมุนรอบซื้อขายสูง
(เทิร์นโอเวอร์ ลิสต์) ดังนั้น จึงต้องติดตามผลแต่ละมาตรการที่นำออกใช้
"ขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะไม่มีการยกเลิกมาตรการย่อยใดๆ เพราะถือว่า มาตรการวางหลักทรัพย์
10% ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อมีการวางหลักทรัพย์ ระบบก็จะมีความมั่นคงมากขึ้น
แต่ทั้งตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ ก็จะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับลูกค้าที่มีอยู่ในระบบก่อน
ว่าการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะทำอย่างไร" นางสาวโสภาวดีกล่าว
นายสุเทพ พีตกานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน ในเครือ บล.โนมูระ
จากแดนปลาดิบ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่าขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์กับบริษัทสมาชิกพยายามจะแก้ไขปัญหา
เพื่อจะใช้มาตรการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% โดยขณะนี้ กำหนดจัดประชุมหารือกันประมาณ
10 ครั้ง และได้หารือกับบริษัทผู้เขียนระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ทั้ง 3 ราย ซึ่งประกอบด้วย
บริษัท ฟรีวิว บริษัท ดีเอสที และบริษัท สตาร์ตัค เพื่อจะกำหนดกรอบเวลา
กระทิงเดี้ยง
ภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยวานนี้ (10 มี.ค.) ดัชนีตลาดฯ เปิดแดนบวก 713.69
จุด เพิ่มขึ้น 3.03 จุด ระหว่างวัน ดัชนีตลาดฯ ผันผวน ช่วงครึ่งวันเช้า ดัชนีแกว่งตัวแดนบวก
เปิดตลาดฯ ช่วงบ่าย ดัชนีลดลงและปิดตลาดฯ 705.29 จุด ลดลง 5.37 จุด ลด 0.76 %
ดัชนีปรับตัวลดลงมามากสุดที่ 702.47 จุด ลดลง 8.19 จุด ขณะที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด
714.63 จุด เพิ่มขึ้น 3.97 จุด มูลค่าซื้อขายรวม 22,542.19 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ
68.97 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,114.12 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศ
ขายสุทธิ 1,183.08 ล้านบาท
5 อันดับหลักทรัพย์ที่ซื้อขายมากที่สุด บล.ซีมิโก้.(ZMICO) ปิด 12.10 บาท ลดลง
20 สตางค์ มูลค่าซื้อขายทั้งหมด 1,380.53 ล้านบาท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลอปเมนท์ (ITD)
ปิด 107 บาท เพิ่มขึ้น 6 บาท มูลค่าซื้อขาย 995.14 ล้านบาท บล.กิมเอ็ง (KEST) ปิด
55.50 บาท ลดลง 50 สตางค์ 889.91 ล้านบาท ปตท.(PTT) ปิด 166 บาท ลดลง 2 บาท 812.68
ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย (KTB) ปิด 10.70 บาท ลดลง 10 สตางค์ 723.56 ล้านบาท
นายวรุตม์ ศริวะศรียานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า ภาวะซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวานนี้ผันผวน
เนื่องจากตลาดฯ รับรู้ข่าวดีการแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่
เรียบร้อยแล้ว นักลงทุนจึงขายทำกำไร
ทำให้มูลค่าซื้อขายหนาแน่นขึ้น ปัจจัยลบในการลงทุน ยังเป็นกรณีเจรจาเพื่อหาข้อยุติแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ยังไม่มีข้อสรุป ว่าจะสามารถจดทะเบียนในตลาดฯ
ได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดว่า การจดทะเบียนในตลาดฯ ของหุ้นรัฐวิสาหกิจ จะทำให้มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์จดทะเบียนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด
หากไม่สามารถจดทะเบียนได้ มูลค่าตลาดที่คาดไว้ จะหายไป ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น
แต่หากมีข้อสรุปว่าจะเข้าตลาดฯ ได้แน่นอน คาดนักลงทุนต่างชาติ จะกลับเข้ามาใหม่
แนวโน้มดัชนีตลาดฯ วันนี้ อาจผันผวนต่อเนื่อง มีการเก็งกำไร และเทขายเมื่อได้กำไร
ทั้งนี้ ภาวะตลาดฯ คาดจะเป็นเช่นนี้ จนกว่าจะชัดเจนเรื่องการแปรรูป กฟผ.