"วราห์ สุจริตกุล" ฉายภาพโครงสร้างกลุ่มฟินันซ่า (FNS) ถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่
49% ระบุแบงก์ใหม่เน้นธุรกิจโฮลเซล หลบทางแบงก์ใหญ่ทำธุรกิจครบวงจร อวดฝีมือทีมงานมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
สนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ได้ทั่วถึง พร้อมจัดทัพบริษัทลูกเดินหน้าลุยธุรกิจหลักทรัพย์ต่อ
รักษา บล.กรุงเทพธนาทร และบล.ฟินันซ่า แยกจับกลุ่ม ลูกค้าเฉพาะด้าน "รีเทล-โฮลเซล"
การผ่านแผนยกระดับฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ของผู้ถือหุ้น 2 บริษัท ด้วยการอนุมัติให้ควบรวมกิจการบริษัทเงินทุนของบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร
จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้โครงสร้างกลุ่มฟินันซ่าในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงไป
โดยแผนยื่นขอเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่จะนำยื่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทันภายในก.ค.นี้
และวานนี้ (9 มี.ค.) "นายวราห์ สุจริตกุล" กรรมการ FNS ได้ฉายภาพโครงสร้าง
และทิศทางของกลุ่มฟินันซ่ากับ "ผู้จัดการรายวัน" ยื่นแผนแบงก์ใหม่ในก.ค.
นายวราห์ สุจริตกุล กล่าวว่า ภายหลังมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุน
กรุงเทพธนาทร หรือ BFIT ตกลงขายหุ้นเพิ่มทุนให้ FNS ในราคา 12.78 บาท ว่า เป็นความต้องการของทางกลุ่มผู้ถือหุ้น
BFIT ที่ต้องการให้กลุ่ม FNS เข้าไปเพื่อยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจเป็นเพราะเห็นว่าจะทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
"เรายอมรับว่าราคานี้เป็นราคาที่เราได้เปรียบ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเราก็มีของดีมาให้ผู้ถือหุ้น
BFIT เขาถึงยอมให้เราที่ราคานี้" นายวราห์กล่าว
หลังจากที่เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ทั้งสองฝ่ายได้มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการและการซื้อหุ้นขายหุ้นแล้ว
ขั้นตอนต่อไปทาง BFIT จะต้องขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ FNS เข้าซื้อหุ้น
และทาง BFIT ยังต้องขออนุมัติจากธปท.เข้าซื้อหุ้นบง. ฟินันซ่า จำกัด ร้อยละ 99.97
ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งทางบง.ฟินันซ่า ก็ต้องขออนุมัติจากธปท.ในการขายหุ้นครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ต้องการให้สถาบันการเงินไทยที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ
แต่อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ทาง BFIT ก็กำลังอยู่ระหว่างการขอธปท.ให้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการ
BFIT ชุดใหม่ ซึ่งได้มีการเตรียม บุคคลไว้หมดแล้ว และเมื่อขั้นตอนที่ต้องขออนุมัติได้รับการอนุมัติจากธปท.จากนั้นทาง
BFIT จะต้องยื่นแผนต่อธปท.เพื่อขอขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าแผนการขอยกฐานะเป็นแบงก์พาณิชย์จะดำเนินการจัดทำและยื่นให้ธปท.พิจารณาได้ทันในเดือนก.ค.นี้
แบงก์ใหม่แต่คนไม่ใหม่
สำหรับกรณีที่มีการวิจารณ์ว่ากลุ่มฟินนันซ่าเป็นกลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ในธุรกิจสถาบันการเงินนั้น
นายวราห์กล่าวว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นของ FNS เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษากองทุนต่างประเทศและขยับขยายมาซื้อบริษัทเงินทุน
และบริษัทหลักทรัพย์เป็นโบรกเกอร์ในตลาด หลักทรัพย์ฯ ถึงขณะนี้ก็ทำธุรกิจมาเป็นเวลา
13-14 ปีแล้ว และในแง่ของประสบการณ์ต้องถือว่าไม่สั้นเพราะผู้บริหารระดับสูงที่นี่
6 คนมีความเชี่ยวชาญเติบโตมาจากสายแบงก์ก่อนจะมาบริหารที่ FNS
"นอกจากนี้ธุรกิจของ FNS ก็ไม่ได้โตมาจากกองหนี้ หรือทำกำไรจากการซื้อหนี้มา
บริหารเหมือนบง.เกียรตินาคิน แต่เราจะโตมาจาก การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้วเราก็ค่อนข้างถนัดในงานที่ปรึกษาทางการเงินแก้ไขหนี้และมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษากองทุนต่างประเทศ"
"เราไม่ได้โตจากกองหนี้แล้วใครที่ว่าเรา ทริกกี้หรือมีเล่ห์เหลี่ยมผมว่าไม่ใช่นะเราทำตามกฎเกณฑ์กติกาของสำนักงานคณะกรรมการ
ก.ล.ต.ตลอด เวลาเราทำศึกษาละเอียดว่าต้องทำอะไรอย่างไหนจึงไม่ผิดกฎพอเราทำแต่คนอื่นไม่ทำก็มาหาว่าเราผิด
ซึ่งเราไม่เคยทำผิดกฎ ก.ล.ต." นายวราห์กล่าว
ฉายภาพแบงก์ใหม่
นายวราห์ กล่าวว่า อย่างเรื่องการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ FNS ได้เริ่มศึกษากันตั้งแต่กลางปี
2546 ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของคนทำธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนเราจึงได้วางแผน ควบรวมกิจการและยกฐานะเป็นแบงก์ไว้หลายรูปแบบ
เช่น กรณีที่ไม่สามารถซื้อหุ้น BFIT ในราคา 12.78 บาทเราก็มีแผนสำรองไว้หลายทางถ้าให้ราคาเราไม่ดีเราก็ไม่เอา
ซึ่งก็อยู่ที่ใครอ่านเกมออกด้วย ถ้าเดินทางนี้สวยสุดแล้วสำหรับเขา
สำหรับโครงสร้างกลุ่มฟินันซ่าหลังจากควบรวมกิจการ และยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์แล้วนายวราห์กล่าวว่า
FNS ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด 99%, ถือหุ้นในฟินันซ่าฟันด์แมเนจเม้นท์
99%, ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ใหม่ (เกิดจากการรวมกิจการระหว่าง BFIT กับบง.ฟินันซ่า)
49% โดยแบงก์ใหม่จะถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ กรุงเทพ-ธนาทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
กรุงเทพธนาทร จำกัด
สำหรับการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของนายวราห์ กล่าวว่า คงไม่ไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ๆ
อย่างแน่นอน เราจะไปทางที่เราถนัดในเรื่องของทำธุรกิจลูกค้ารายใหญ่(WHOLE SALE)
แต่ถ้าจะทำรีเทลก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามา "เราจะยึดโมเดลที่บริษัทหลักทรัพย์
ฟินันซ่า ทำอยู่ คือ ใช้คนน้อยๆ แต่ทำงานมีประสิทธิภาพ คือ จะใช้อิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด
ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปแข่งกับธนาคารใหญ่เขา ถ้าถามว่าในโลกนี้แบงก์เราจะเป็นลักษณะไหน
ก็ต้องตอบว่า เหมือนกับเจพีมอร์แกน เหมือนกับแบงเกอร์ทรัสต์ แล้วเราก็เชื่อว่าเราน่าจะสานงานเป็นแบงก์ใหม่ได้ดีเพราะเราเริ่มจากจุดเล็กผู้บริหารเชี่ยวชาญงานที่ปรึกษาแก้หนี้
ที่ปรึกษาบริหารกองทุนต่างประเทศ ซึ่งต่อไปก็จะขยายธุรกิจไปธุรกรรมอื่นเพิ่มขึ้น"
คง 2 บริษัทหลักทรัพย์
นายวราห์กล่าวว่า ในส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ FNS กำลังขอใบอนุญาต
กับ ก.ล.ต. ก็จะไม่ระงับไม่ขอเพราะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการ กรุงเทพธนาทรอยู่แล้ว
สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ FNS จะถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์
กรุงเทพธนาทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ก็จะไม่ควบรวมกิจการกันเพราะ
ต้องการให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วและเต็มที่
"ทางบริษัทหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทรไม่ค่อยมีกิจกรรมมากนัก แต่เขามีความถนัดด้านตราสารหนี้ซึ่งก็ไปเน้นอยู่ที่ตัวบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร
เหตุที่เราจะคง 2 บริษัทหลักทรัพย์นี้ไว้ก็เพื่อให้บริษัทหนึ่งดูรีเทล อีกบริษัทหนึ่งดูโฮลเซล"
นายวราห์ กล่าวว่า ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน
700 ล้านบาท ขณะนี้ยังเพียงพอต่อการทำธุรกิจ หากตลาดหุ้นกลับมาหวือหวารวดเร็ว มูลค่าการซื้อขายแต่ละวันอยู่ที่
4 หมื่นล้านบาทอีกก็อาจกระทบช่วงสั้นแต่ก็ไม่เป็นปัญหา และธุรกรรมอันเดอร์ไรต์ก็ไม่ติดขัดเพราะเงินกองทุนของบริษัทแม่กับบริษัทหลักทรัพย์
รวมกันแล้วสามารถอันเดอร์ไรต์ได้ 8 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์นโยบายของ FNS ยังเหมือนเดิมเน้นการซื้อขาย
ผ่านอินเทอร์เน็ต เทรดดิ้ง ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่
2% จากที่มีมูลค่าการซื้อขาย 5% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
ขณะที่สาขาห้องค้ายังมี 3 แห่งเท่าเดิม เพียงแต่ล่าสุดมีการย้ายสาขาจากสุริวงศ์
มาอยู่ ที่ชิดลม ตึกเมอร์คิวรี่ ซึ่งเป็นตึกของบริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน)
ซึ่งก็เป็นลูกค้า ของ FNS อยู่ แต่เหตุที่ย้ายก็เนื่องจากตึกเมอร์คิวรี่มีระบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์
เนื่องจากเป็นตึกที่เดิมเป็นของกิจการกลุ่มฟินวันที่ได้ออกแบบไว้ค่อนข้างเพอร์เฟกต์และสมบูรณ์ที่สุดตึกหนึ่ง
ทั้งในเรื่องของการวางระบบต่างๆ ซึ่งพร้อมและสมบูรณ์กว่าตึกเก่าที่สุริวงศ์
"เราไม่ได้คาดหวังจะทำให้มาร์เกตแชร์ซื้อขายหุ้นกระโดดจากการย้ายมาที่ชิดลมหรือ
จะไปแข่งกับโบรกเกอร์ใหญ่อย่างบล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แต่เราหวังมีลูกค้าเพิ่มเล็กน้อย
เพราะเป็นจุดที่สะดวกสบายกับลูกค้ามีรถไฟฟ้า มีศูนย์การค้า"