บทเรียนราคาแพงออเร้นจ์ เอสเอ ถอนยวงจากทีเอโอ ด้วยการขายหุ้น 39%หรือ 819 ล้านหุ้น
แค่บาทเดียวให้ทีเอ คงเหลือหุ้นเพียง 10%หรือ 210 ล้านหุ้น 2,100 ล้านบาท หากเทียบราคาพาร์
ตอนออเร้นจ์ลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาทตอนแรก เท่ากับขาด ทุนยับเยิน 2 หมื่นล้าน ด้าน
"ศุภชัย" ย้ำมีเวลา 3 ปีเปลี่ยนแบรนด์ออเร้นจ์ เป็นทรู มั่นใจการถือหุ้นใหญ่ทำให้ธุรกิจทีเอโดยรวมดีขึ้น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารบริษัท เทเลคอมเอเซีย
คอร์ปอเรชั่น (ทีเอ) กล่าวว่าข้อตกลงระหว่างทีเอและซีพี ฝ่ายหนึ่งกับกลุ่มบริษัท
ออเร้นจ์ เอสเอ อีกฝ่ายหนึ่ง มีสาระสำคัญว่าเมื่อบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์(ทีเอโอ)
ทำ การรีไฟแนนซ์หนี้ของทีเอโอแล้วเสร็จ ทีเอจะซื้อหุ้นจำนวน 39%ใน BITCO ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม
ทีเอโอ จากกลุ่มบริษัท ออเร้นจ์ เอสเอ
เมื่อทำการโอนขายหุ้นดังกล่าว จะทำให้ทีเอถือ หุ้นในกลุ่มทีเอโอ 83% และออเร้นจ์ถือหุ้นเหลือ
10% และเมื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวซึ่งต้องทำ การเพิ่มทุนทีเอโออีก 6,000
ล้านบาทจากเงินของทีเอ หรือการออกหุ้นกู้บางส่วนจะทำให้ทีเอถือหุ้นมากกว่า 90%
ในขณะที่ออเร้นจ์ จะเหลือหุ้นไม่น้อยกว่า 4% เนื่องจากออเร้นจ์ไม่มีแผนที่จะลงทุนเพิ่ม
โดยปัจจุบัน ทีเอโอ มีหนี้ทั้งหมดราว 33,000 ล้านบาท และจะทำการปรับโครงสร้างจาก
bridge finance เป็น long term debt ทั้งหมด
การขายหุ้นครั้งนี้คิดเป็น 39% ของจำนวนหุ้นทีเอโอ 2.1 พันล้านหุ้น หรือคิดเป็น
819 ล้านหุ้น ในราคาทั้งหมดเพียง 1 บาท เพราะติดเงื่อนไขด้านกฎ หมายทำให้ออเร้นจ์ไม่สามารถให้หุ้นฟรีหรือไม่คิดมูลค่าได้
และเป็นความพอใจของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่ายที่จะพิจารณาโอนหุ้นจำนวนนี้ในราคาเพียง
1 บาท "หากคิดแค่ราคาพาร์ 10 บาท ก็เป็นเงินสูงถึง 8,190 ล้านบาทแล้ว แต่ทีเอซื้อในราคา
1 บาท"
ออเร้นจ์ลงทุนในทีเอโอ ด้วยจำนวนเงินทั้งหมด 550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000
ล้านบาทหากคิดที่ 40 บาทต่อ 1 เหรียญเพื่อถือหุ้นจำนวน 49% และปัจจุบันเหลือหุ้นเพียง
10% หรือเท่ากับ 210 ล้านหุ้น หากคิดราคาพาร์เท่ากับเหลือมูลค่า 2,100 ล้านบาท
เท่ากับออเร้นจ์สูญเสียไป 20,000 ล้านบาท
ซึ่งทีเอโอมีทุนเดิม 24,000 ล้านบาท แยกเป็น ส่วนเงินสด 21,000 ล้านบาท(หรือ
2,100 ล้านหุ้นราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น) และค่าไลเซนส์อีก 3,000 ล้านบาท
นายศุภชัยกล่าวว่า สาเหตุที่ออเร้นจ์ต้องขายหุ้นคืนให้ทีเอ เพราะนโยบายของออเร้นจ์ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในยุโรปเป็นหลัก
ส่วนการลงทุนนอกยุโรปจะไม่มีการลงทุนเพิ่มและจะออกจากธุรกิจในที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายในปีที่ผ่านมาของออเร้นจ์
และเป็นเรื่องกังวลใหญ่ที่ค้างคามาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งฝั่งไทยก็พยายามหาข้อสรุปจนเกือบสิ้นปี
2546 ถึงรู้นโยบายที่ชัดเจนของออเร้นจ์สำหรับในประเทศไทย ส่วนข้อสรุปดังกล่าวถือว่าเป็นทางการเมื่อวันที่
8 มี.ค. ที่ผ่านมา
"นโยบายของออเร้นจ์คงไม่ต่างจากบริษัท โทรคมนาคมอื่นๆ ในยุโรปหรืออเมริกา
คือเมื่อออ-เร้นจ์ไม่สามารถควบคุมการบริหารได้สมบูรณ์แบบ ตามหลักการลงทุนก็คือต้องลดหุ้นให้น้อยที่สุดและถอนตัวไป"
ส่วนการใช้แบรนด์ออเร้นจ์นั้น มีเงื่อนไขว่าทีเอโอสามารถใช้แบรนด์ออเร้นจ์ได้ต่อไปอีก
3 ปีภายหลังจากการรีไฟแนนซ์แล้วเสร็จ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีกับทีเอโอ เพราะหากตามสัญญาเดิมทีเอโอต้องจ่ายค่า
ใช้แบรนด์ออเร้นจ์ถึงปีละ 400 ล้านบาท ทำให้ในช่วง เวลา 3 ปี ทีเอโอมีเวลาที่จะค่อยๆเปลี่ยนแบรนด์ไปใช้ทรู
ตามกลุ่มทีเอที่กำลังจะเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ หรือ ไม่เช่นนั้นในช่วงเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า
หากนโยบายออเร้นจ์ในเรื่องการลงทุนในประเทศไทยเปลี่ยนไป ก็อาจใช้แบรนด์ออเร้นจ์ต่อไปได้
สำหรับพาร์ตเนอร์ใหม่ที่จะเข้ามาแทนออเร้นจ์ หากจำเป็นต้องมีจะถือหุ้นไม่เกิน
20% และต้องเข้าใจ และยอมรับเงื่อนไขการ Synergy การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างทีเอกับทีเอโอ
ซึ่งภายหลังจากทีเอถือหุ้นใหญ่จะทำให้เป็นผลดีกับกลุ่มในลักษณะฟิกซ์ โมบายล์ อินทริเกชัน
เพื่อให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ที่ดีแก่ลูกค้า
สำหรับราคาหุ้น TA วานนี้เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวก โดยปิดตลาดที่ 8.05 บาท เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น
35 สตางค์ คิดเป็น 4.55 % มูลค่าการซื้อขาย 648.56 ล้านบาท