แอล.พี.เอ็น แตกพาร์ใหม่ 10 บาทเหลือ 1 บาท รองรับขยายโครงการอนาคต แจงกำไรปี
46 อยู่ที่ 464 ล้านบาท พุ่งขึ้นกว่า 185% จากโครงการใหม่ และยอดขายที่ ทยอยรับรู้รายได้จากปีก่อน
ตั้งเป้ารายได้ปี 47 จำนวน 5,300 ล้านบาทจากโครงการที่พักอาศัยแนวสูงในเมือง ภายใต้
4 แบรนด์หลัก ครอบคลุมตลาด ระดับ C+ ถึง B+ สร้างโอกาสการตลาดและลดความเสี่ยง พร้อมทุ่มงบลงทุนเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น
ในแกรนด์ยูนิตี้เป็น 33% จาก 25% เตรียมพร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ภายในปีนี้
นายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
(มหาชน) เปิดเผยว่า จากช่วง 4 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจคอนโดฯ พักอาศัย ดังนั้น ในการดำเนินงานในปี 2547 ของบริษัท ที่ประชุมบอร์ดจึงมีมติที่จะแตกพาร์จาก
10 บาทเหลือ 1 บาท จากนั้น ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีกจำนวน 276,706,550
บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,210,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 276,706,550
หุ้น นั้น มีมูลค่าหุ้นละ 1 บาท
โดยหุ้นเพิ่มทุน 276,706,550 หุ้น จะจัดสรร 236,706,550 หุ้น ที่ราคาหุ้น ละ
1 บาท เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน การจองซื้อ 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่
ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท ที่ราคาหุ้นหุ้นละ 1 บาท ส่วนที่เหลือ 40,000,000 หุ้น
จะสำรองไว้เพิ่มเติมสำหรับการรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิมวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน
และ การใช้เงินทุนในส่วนนี้ ก็เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเติมสำหรับพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยในอนาคต
คาดว่ามีมูลค่า การซื้อสูงขึ้นและเป็นการสร้าง หลักให้ แกรนด์ยูนิตี้ เพราะบริษัทต้องเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น
เมื่อดำเนินการผลักดันให้แกรนด์ยูนิตี้จดทะเบียนเข้าตลาด หลักทรัพย์ภายในปีนี้เรียบร้อยแล้ว
กำหนดการประชุมบอร์ด ได้กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2547 ในวันที่
7 เมษายน 2547, กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือ หุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมและรับเงินปันผล
วันที่ 17 มีนาคม 2547, กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในวันที่
22 เมษายน 254, กำหนดวันรับเงินปันผลในวันที่ 30 เมษายน 2547 และกำหนดเวลาการเสนอขายใน
ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2547
"สำหรับการลงทุนในบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งดำเนิน
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทางแอล.พี.เอ็น.ถือหุ้นอยู่ 33% จากเดิมที่มีอยู่ 25%
หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้เป็นการทำให้ผลประกอบการและกำไรส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น
โดยที่บริษัทใช้ความเสี่ยงในการดำเนินการน้อยลง โดยในส่วนของการดำเนินงานของแกรนด์
ยูนิตี้ จะเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากการดำเนินงานของบริษัท"
นายทิฆัมพรกล่าว
ในปี 46 บริษัทมียอดรับรู้รายได้จาก บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ กว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะรับรู้รายได้ในระดับ
100 ล้านบาทจากการเข้าซื้ออาคารร้างและพัฒนาเพื่อขาย ควบคู่กับแผนการลงทุนโครงการใหม่ในทำเลที่มีศักยภาพ
ล่าสุดได้เข้าไปพัฒนาอาคารในทำเลแนวเดินรถไฟฟ้าใต้ดินย่านอโศก
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2546 ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัท มีรายได้จากการดำเนินการรวมกับรายได้จากการขาย
การเช่า และบริการรวม 1,943.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่มีรายได้รวม 1,071.20
ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.44% และมีผลกำไรสุทธิ 464.66 ล้านบาท เทียบกับปี 45 ซึ่งมีผลกำไร
162.97 ล้านบาท จะทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 185.12% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในปี 2547 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 5,300 ล้านบาท จากโครงการใหม่ 7
โครงการ ซึ่งจะโตขึ้นจากปี 46 คิดเป็น 129.24% โดยตั้งเป้ารายได้จาก โครงการเก่าที่เปิดปี
2546 จำนวน 6 โครงการและโครงการใหม่อีก 1 โครงการที่เปิดปีนี้ ประมาณ 2,712 ล้านบาท
โตขึ้นจากปีก่อน 55.15% บริษัทได้เปิดขายโครงการใหม่ไปแล้ว 2 โครงการในเดือนมกราคม
คือ โครงการลุมพินี วิลล์ รัชดา-ลาดพร้าว และโครงการลุมพินี เซ็นเตอร์ สุขุมวิท
77 มูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยขณะนี้ได้มียอดจองแล้วเฉลี่ยประมาณ
80% และมีแผนการเปิดโครงการลุมพินี เพลส พระราม 3 มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาทภายในเดือนมี.ค.2547
แนวทางด้านการตลาดและพัฒนาสินค้าของกลุ่มแอล.พี.เอ็น จะประกอบด้วยแบรนด์ ลุมพินี
สวีท กำหนดราคาขายอยู่ที่ 50,000 บาทต่อตารางเมตร จัดกลุ่มเป้าหมายระดับ B+ มีสัดส่วน
10% ของสินค้าทั้งกลุ่ม, ลุมพินี เพลส ระดับราคา 40,000-50,000 บาทต่อตารางเมตร
เจาะตลาดระดับ B มีสัดส่วน 25% , ลุมพินี วิลล์ ระดับราคา 30,000-40,000 บาทต่อตารางเมตร
จับกลุ่มเป้าหมายระดับ B- มีสัดส่วนสินค้า 25% และสุดท้ายเป็นโครงการที่พัฒนาภายใต้แบรนด์
ลุมพินี เซ็นเตอร์ ระดับราคา 20,000-30,000 บาทต่อตารางเมตร อยู่ในตลาดระดับ C+
มีสัดส่วนถึง 40% ของสินค้าทั้งหมด