ไทคอนฯเล็งจัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ รองรับแผนการขยายงานในอนาคต แทนการเพิ่มทุนหรือกู้ยืมเงิน
มั่นใจการ จัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์จะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายและผลกระทบจากการไดลูทหุ้นลงหลังการ
เพิ่มทุน มั่นใจสรุปผลได้ภายในปีนี้ เผยทั้งปีตั้งเป้ารายได้โต 30-40% เนื่องจากปริมาณโรงงานให้เช่าเพิ่ม
40 โรงและค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้น 5-10%
นายชาตรี เหล่าเหมวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น
จำกัด (มหาชน) (TICON) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์
(Property Fund ) และ/หรือการแปลงรายได้จากค่าเช่าเป็น หุ้นกู้ (Securitization)
ซึ่งเป็นแนวทางการใช้มูลค่าทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเงินทุนที่ได้จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ
ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นที่เกิดจาก การเพิ่มทุนจดทะเบียน คาดว่าจะสรุปผลและดำเนินการได้ภายในปีนี้
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งหากตั้งเป็น พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์จะมีอัตราดอกเบี้ยในระดับ 3-3.5% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉลี่ย
4% ในเบื้องต้นคาดว่ามูลค่า ของกองทุนพร็อพเพอร์ตี้จะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
มิฉะนั้น จะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย โดยเราจะนำ Asset ไปขายให้กองทุน หากตัดสินใจทำ แล้ว
ก็จะใช้เวลา Set Up เสร็จภายในระยะเวลา 2 ไตรมาส"
ที่ผ่านมา บริษัทฯจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในแต่ละปีประมาณ
1พันล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อที่ดินในนิคมฯต่างๆ และค่าการก่อสร้างอาคารโรงงานให้เช่า
ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากการใช้เงินทุนหมุนเวียนและการกู้ยืมสถาบันการเงินในสัดส่วน
30 :70 ซึ่งปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.5 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่มีความเหมาะสม
"การตัดสินใจจัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ หรือซีเคียวริไทซ์ฯนั้น เนื่องจากฝ่ายบริหารมี
นโยบายต้องการให้รายได้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 30% หากใช้ Net Cashflow มาดำเนินการก็จะทำให้บริษัทฯขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
ซึ่งปัจจุบันไทคอนฯมีมูลค่าสินทรัพย์ฯประมาณ 2.8 พันล้านบาท จากการตีมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทกลาง
ณ ราคาปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้เกือบ 2 เท่า ดังนั้น
หากตัดสินใจจัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ มูลค่ากองทุนสูงสุดจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท
รองรับการขยายกิจการเป็นเวลานาน 5 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ"
ในปีนี้บริษัทฯมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 400 ล้านบาท ใช้ซื้อที่ดินในนิคมฯต่างๆ
ประมาณ 140 ไร่ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในปี 2548 ซึ่งต้นปีนี้ บริษัทฯได้ใช้เงินซื้อที่ดินไปแล้ว
70-80 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือจะนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารโรงงานให้เช่าประมาณ
58 โรงงาน ซึ่งได้มีการซื้อที่ดินไว้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ปีนี้บริษัทฯจะรับรู้รายได้จากโรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
102 โรงงาน เป็น 142 โรงงาน ส่งผลให้มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 30-40%จากปีก่อนที่มีรายได้
625 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากค่าเช่าเพิ่มขึ้น 40%จากปี 2546 หรือประมาณ 60 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ บริษัทฯได้ปรับขึ้นค่าเช่าโรงงาน อีก 5-10% จากเดิมที่ราคาค่าเช่าอยู่ที่
170 บาท/ตารางเมตร/เดือน เป็น 180 บาท/ตารางเมตร/เดือน เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น
โดยบริษัทฯเริ่มใช้ราคาค่าเช่าใหม่กับลูกค้าที่เข้ามาเซ็นสัญญาใหม่ รวมถึงลูกค้าเก่าที่หมดอายุสัญญาด้วย
รวมทั้งได้ขยายการสร้างโรงงานให้ เช่าในนิคมฯปิ่นทอง เพื่อสนองความต้องการและเพิ่มช่องทางเลือกให้กับลูกค้า
ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีการสร้างโรงงานเช่าให้นิคมฯรวมทั้งสิ้น 10 นิคมฯ
ด้านนายวีรพันธุ์ พูลเกษ กรรมการ บริษัท ไทคอน คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
บริษัทมีแผนระดมทุนโดยการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) มูลค่าประมาณ
5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจระยะยาวเป็นเวลา 5 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาถึงผลดีและผลเสีย
ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการออกกองทุนดังกล่าวทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์
ส่วนกรณีที่สนามบินดอนเมืองจะย้ายไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะส่งผลกระทบทำให้เกิด
Dead Stock ในโรงงานให้เช่าบางนิคมฯ กล่าวว่า คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากลูกค้าที่เช่าโรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน
เพื่อซัปพอร์ตโรงงานรถยนต์ ดังนั้น การย้ายฐานของโรงงานรถยนต์คงไม่ง่าย เว้นแต่จะปิดกิจการ