ไม่บ่อยครั้งนักที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัทการบินไทย จะมาจากคนนอก
เพราะตำแหน่งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาถูกผูกขาดโดยภาคราชการ โดยช่วงแรกจะมาจากกองทัพอากาศ
แต่ในช่วงหลังจากที่กองทัพเริ่มถอยบทบาทจากสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ ตำแหน่งนี้มักจะเป็นของปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นส่วนใหญ่
นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบินไทย มักถูกมองกันว่าไม่สามารถสลัดคราบความเป็นรัฐวิสาหกิจ
ที่มักถูกอิทธิพลจากภายนอกเข้ามามีอำนาจเหนือความเป็นมืออาชีพ ทั้งที่สายการบินแห่งชาติแห่งนี้
มีความแปลกแยกจากรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป เพราะต้องกระโดดออกไปแข่งขันในเวทีโลกเป็นหลัก
ปี 2542 การบินไทย สามารถขึ้นเป็นบริษัทที่ครองอันดับหนึ่ง ในดัชนีผู้จัดการ
100 โดยสามารถทำยอดรายได้รวมสูงถึง 112,019 ล้านบาท สูงที่สุดในจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แต่ก็ครองอันดับ 1 ได้เพียงปีเดียว เพราะในปี 2543 ตำแหน่งนี้ตกเป็นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
ที่สามารถทำยอดรายได้รวมสูงถึง 129,099 ล้านบาท
ขณะที่การบินไทยสามารถทำยอดรายได้รวมได้ 123,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
10.12%
บางคนมองว่าที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สม่ำเสมอในการสร้างรายได้
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพ และความไม่พร้อมที่จะก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น
Internation Company โดยมีสาเหตุมาจากการติดยึดในระบบราชการ ที่เปิดช่องให้คนที่มีอำนาจสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ได้
ยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา ภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ ค่อนข้างไปในทางลบ
ไม่ว่าจะเป็นการเกิดระเบิดขึ้นกับเครื่องบินที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ การเข้าไปขโมยสินค้าในคาร์โก้
ซึ่งเป็นอาวุธที่ถูกทางการควบคุมการนำเข้า ล่าสุดคือการประท้วงใหญ่ของสหภาพแรงงาน
ที่ต่อต้านการแต่งตั้งกรรมการบริษัท
ชื่อของศ.ชัยอนันต์ สมุทวานิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธ จึงถูกเสนอขึ้นมาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท
ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม
ศ.ชัยอนันต์ ถือเป็นคนกลาง ที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันธ์กับทั้งฝ่ายกองทัพอากาศ
กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทิศทางของการบินไทยในช่วงหลังจากนี้ไป จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง