นักลงทุนรายใหญ่ตบเท้าเข้าถือหุ้นใหญ่ FNS "ทวีฉัตร จุฬารกูร" หลานรมว.สุริยะ
นำทีมถือ 1.50% บิ๊กไมด้า "กมล เอี้ยวศิวิกูล" เอี่ยวด้วย 0.87% ส่วน
"ศิริธัช โรจนพฤกษ์" บิ๊กคอม-ลิงค์ หลุดโผหุ้นใหญ่ ขณะที่ บจ.นักชอป
N-PARK ถือ 3.33% ด้าน "วราห์" เผยความคืบหน้าเป็นแบงก์ ยังรอความหวังจากการประชุมผู้ถือหุ้น
BFIT ในวันนี้ (8 มี.ค.) มีแผนสำรองอีกเพียบหากดีลล้ม ส่วนแผนซื้อหุ้น BOA ปิ๋วหลังเสนอต่ำ
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ
บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดวันที่ 17 ก.พ.
2547 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 20 อันดับแรกไปจากเดิมยกเว้นในส่วนของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมตระกูล
โภคาชัยพัฒน์ โดยปรากฏว่ามีชื่อของ นายทวีฉัตร จุฬางกูร หลานชายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 12 ถือหุ้นจำนวน
1,800,000 หุ้น คิดเป็น 1.50% ของหุ้นทั้งหมด นายกมล เอี้ยวศิวิกูล มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ
15 ถือหุ้นจำนวน 1,043,300 หุ้น คิดเป็น 0.87% ของหุ้นทั้งหมด และบริษัท เนชั่นไวด์ประกันชีวิต
จำกัด มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 5 ถือหุ้นจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น
4.17% ของหุ้นทั้งหมด
นอกจากนี้ยังปรากฏมีบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PANK) ซึ่งในปีที่แล้วเป็นบริษัท
ที่เข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่อันดับ
9 ใน FNS โดยถือหุ้น 4,000,000 หุ้น คิดเป็น 3.33% ของหุ้นทั้งหมด
ในขณะที่นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นผู้บริหารกลุ่มคอม-ลิงค์ ที่เคยอยู่ในรายชื่อ
ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.82% ใน การปิดสมุดทะเบียนครั้งก่อนเมื่อวันที่
4 ก.ย. 2546 กลับไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า กล่าวว่า การที่มีชื่อของ
นายทวีฉัตร จุฬางกูร เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของฟินันซ่าน่าจะเกิดจากการเข้ามาเก็บหุ้นในกระดานเอง
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯยังไม่ได้มีการเพิ่มทุนใหม่เพื่อขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง
โดยการเพิ่มทุนทำไปเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือน ส.ค. 2546 ที่คณะกรรมการมีมติเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน
10 ล้านหุ้นเสนอขายให้กับนักลงทุน 2 รายคือ Morgan Stanley & Co. International
Limited และ Credit Suisse Singapore
ในราคาขายต่อหุ้น 33 บาท ซึ่งสถาบันทั้ง 2 รายดังกล่าวจะนำหุ้นไปจัดสรรให้กับลูกค้าต่อไป
โดยในขณะนั้นก็ยังไม่มีชื่อของนายทวีฉัตร อยู่ในรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่แต่อย่างใด
"ผมไม่ได้ดูรายชื่อของผู้ถือหุ้นตอนนี้เลยคิดว่าคงเป็นการเข้าเก็งในกระดาน
เพราะช่วงนี้ไม่ได้มีการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่แต่อย่างใด แต่ก็รู้สึกดีใจที่คุณทวีฉัตรเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เพราะเราก็อยากได้เค้ามาเป็นลูกค้า ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่" นายวราห์กล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการขึ้นเป็นธนาคารเต็มรูปแบบ นายวราห์กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่สามารถ
รายงานความคืบหน้าได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ โดยในปัจจุบันยังคงเน้นไปที่แผนการควบรวมกิจการกับบล.กรุงเทพธนาทร
(BFIT) ซึ่งจะต้องรอที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งบีฟิทและฟินันซ่าอนุมัติในการประชุมผู้ถือหุ้น
วันที่ 8 มี.ค. นี้ แต่หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบีฟิทเห็นด้วยตามมติของคณะกรรมการที่ต้องการเพิ่มราคาเสนอซื้อเป็น
17 บาท จากเดิมที่ฟินันซ่าขอเสนอซื้อ 12.78 บาท ดีลการควบรวมกิจการก็อาจต้องสิ้นสุดไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเจรจาควบรวมกับ บง.แห่งอื่นสำรองอยู่แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
โดยยืนยันว่าจะดำเนินการไปตามแผนคือการขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่าคุณสมบัติของ
บง.บีฟิทไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคารได้นั้น นายวราห์ กล่าวว่า ยังไม่เคยได้รับเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดการเสนอซื้อหุ้นธนาคารเอเชีย (BOA) ของบริษัทฟินันซ่า
กับกลุ่มคอม-ลิงค์ ได้ยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากทั้ง 2 แห่งเสนอราคาซื้อที่ต่ำเกินไป
ทั้งนี้นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน)
(FNS) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
2547 ได้อนุมัติการขายเงินลงทุนในบริษัทเงินทุน ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ
ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 99.97 โดยได้ขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 9,017,994 หุ้น ให้แก่
บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (ผู้ซื้อ) ในราคารวมทั้งสิ้น 687,121,000
บาท
อย่างไรก็ตาม ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท รวมทั้งการอนุมัติจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร
จำกัด (มหาชน) ในจำนวนทั้งสิ้น 99,900,000 หุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
ในราคาหุ้นละ 12.78 บาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,276,722,000 บาท โดยขอผ่อนผันไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการบริษัทเงินทุน
กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (White Wash) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งต้องอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า
3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
พร้อมทั้งอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของ บริษัทฯ อีกจำนวนไม่เกิน 400,000,000
บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวนไม่เกิน 80,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ
5 บาท ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนจากเดิม1,100,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน
1,500,000,000 บาท
โดยให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 80,000,000 หุ้น
โดยอาจเสนอขายทั้งหมดในคราวเดียวกัน หรือแบ่งเป็น ส่วนๆ เพื่อเสนอขายเป็นคราวๆ
ให้แก่บุคคลเฉพาะเจาะจง (Private Placement) (ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 35 ราย ภายในรอบระยะเวลา
12 เดือน ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ในราคาหุ้นละ
42 บาท ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการ หรือนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการเป็นผู้พิจารณากำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดต่อไป
สำหรับหนึ่งในนักลงทุนเฉพาะเจาะจงที่บริษัทเจรจาจะขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวให้คือ
บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด