แบงก์ชาติ เตรียมออกมาตรการคุมเข้มบัตรเครดิตภายในเดือนมี.ค.นี้ หลังจากตรวจสอบพบปริมาณการใช้บัตร
เครดิตของผู้มีรายได้น้อยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ระบุ 2 ปัจจัยน่าห่วง คือ กลุ่มผู้ใช้บัตรเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
และการแข่งขันการออกบัตรของกลุ่มนอน-แบงก์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประกาศใช้มาตรการควบคุมบัตรเครดิต
ว่า ธปท.ได้มอบหมายให้ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลธุรกิจบัตรเครดิต
โดยเฉพาะประเด็นที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีปริมาณเพิ่มขึ้น
โดยธปท.จะนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อหามาตรการกำกับและดูแลธุรกิจดังกล่าว
"ธปท.กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ โดยขณะนี้ฝ่ายกำกับสถาบันการเงินกำลังเร่งพิจารณาว่ามาตรการที่จะนำออกมาใช้จะมีรูปแบบใด
หรือจะขอความร่วมมือ วิธีไหนที่มีความเหมาะสมที่สุด" ผู้ว่า ธปท. กล่าว
ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้มีความเป็นห่วงพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของคนไทย
โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะเป็นการสร้างพฤติกรรมการก่อหนี้เกินกำลังการใช้จ่าย
และเคยกล่าวว่าอาจจะพิจารณาคุณสมบัติด้านรายได้ของผู้สมัครอีกครั้ง เพื่อให้รับผิดชอบกับหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
ด้านนางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือร่วมกับชมรมธุรกิจบัตรเครดิตไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ชมรมบัตรเครดิตได้นำเสนอข้อมูลและปริมาณธุรกิจบัตรเครดิตให้กับธปท. เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่ธปท.
ขอตัวเลขการขยายตัวบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินมาพิจารณา พบว่า ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยบัตรเครดิต มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กลุ่มผู้สมัคร ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ทำให้ยอดบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด
คือกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และข้อสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ออกเป็นสถาบันที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ดังนั้น จึงคาดว่า ธปท. จะมีมาตรการออกมาเพื่อควบคุมในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะออกเพิ่มเติม เพื่อดูแลและควบคุม การทำธุรกิจบัตรเครดิตรวมทั้งการให้สินเชื่อบัตรเครดิตนั้น สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ. สถาบันการเงินผ่านการพิจารณาของ
รัฐสภาก่อน โดยมาตรการเพิ่มเติม นี้จะครอบคลุมถึงบัตรเครดิตที่ออก โดยสถาบันการเงิน
และบัตรเครดิต ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และจะสามารถออกมาใช้ควบคุมในส่วนของบริษัทบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วย
สำหรับปริมาณธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ที่ผ่านมา บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
มีจำนวนทั้งสิ้น 4,032,424 บัตร โดยมีตัวเลขสินเชื่อ คงค้างอยู่ 69,348.69 ล้านบาท
ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีบัตรเครดิตที่ผู้ สมัครมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
รวมอยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากเป็นบัตรที่ทำก่อนมาตรการควบ คุมบัตรเครดิตของ ธปท.จะออกมาในช่วงปลายปี 2545
ส่วนบัตรเครดิตของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) มียอดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยในปี 2544 มีจำนวน 1.01 ล้านบัตร ล่าสุดตัวเลข ณ สิ้นเดือนกันยายน 2546 มีจำนวน
3.57 ล้านบัตร หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 250% ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าการแข่งขันออกบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์และนอน-แบงก์
มีการแข่งขันรุน แรงมากขึ้น