ไอซีทีวางยุทธศาสตร์หนุน ทศทกับกสท สร้างอำนาจเหนือตลาดอย่างบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
ให้ทศท ร่วมกับ 4 บริษัทพันธมิตร บริการ 1 ล้านพอร์ตภายใน 6 เดือน รวมทั้งการวางโครงสร้าง
BU ร่วมเพื่อรวมเป็นหนึ่ง ตีกันคู่แข่งที่จ้องโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ตาเป็นมันพร้อมขอไลเซนส์หากมีกทช.
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการหารือในการทำ Business Unit (BU)
ร่วมกันระหว่างบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นและบริษัท กสท โทรคมนาคม ตามนโยบายที่มีตั้งแต่ต้นปี
โดยในขั้นแรกจะมี BU ร่วม 2 สายธุรกิจก่อน คือ 1.โทรศัพท์ระหว่างประเทศในระบบ
International Direct Dialing (IDD) และระบบ Voice Over IP 2.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ
Broad band Internet
ซึ่งในส่วนของทศท ได้แปรงบลงทุนเดิมในส่วนอื่นมาดำเนินการในการขยายงานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
โดยมีเป้าหมายจะให้บริการในส่วนของ ทศท เองจำนวน 1 หมื่นพอร์ตในเดือนมี.ค. และเพิ่มเป็น
2 แสนพอร์ตในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการในแผนร่วมกับกสทอย่างไร เพราะบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของทั้งสององค์กร
กำลังเข้าสู่การรวมเป็น BU แล้วซึ่งโครงสร้างของ BU จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแผนธุรกิจในลำดับต่อไป โดยที่ปัญหาของกสท คือ มีเพียงวงจรเช่าหรือลีดไลน์แต่ไม่มีโครงข่ายช่วงสุดท้ายถึงผู้เช่าหรือ
last mile เหมือนอย่างที่ทศท มีอยู่ดังนั้นที่ผ่านมากสท จึงต้องไปร่วมมือกับเอกชนอย่างบริษัท
ทีทีแอนด์ที ซึ่งให้บริการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมายในภูมิภาค
"เป็นโอกาสที่ดีเมื่อมี BU ร่วมกันก็ทำแผนครั้งเดียว รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง
wireless broadband ด้วย จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันในอนาคต"
แหล่งข่าวจากทศทกล่าวว่าทศทมีความได้เปรียบในส่วนของโครงข่ายสุดท้ายที่ถึงผู้เช่า
(Last Mile) ซึ่งทำให้สามารถให้บริการบรอดแบนด์ได้ในเวลารวดเร็ว จากการประชุมร่วมกันระหว่างทศท
กับบริษัทที่ทศท ร่วมทุนและร่วมดำเนินการในการให้บริการ ADSL กับทศท ปัจจุบันที่ประกอบด้วยบริษัท
แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค (ADC) บริษัท ยูไนเต็ด บรอดแบนด์ เทคโนโลยี (UBT) ในกลุ่มยูคอม
บริษัท เลนโซ่ ดาต้าคอม (LENSO) บริษัท สามารถ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส เมื่อวันที่
24 ก.พ.ที่ผ่านมา ตกลงว่า ให้มีการทดลองให้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ในเขตกรุงเทพฯ
เป็น เวลา 6 เดือน
โดยให้ทั้ง 4 บริษัทเป็นผู้ให้บริการบริษัทละ 2 แสนพอร์ต อีก 2 แสนพอร์ตทศทเปิดให้บริการเอง
รวมเป็น 1 ล้านพอร์ต โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ DSLAM เพื่อติดตั้งในแต่ละชุมสาย
และทศทจะเป็นผู้จัดสรรจำนวนพอร์ตสำหรับให้บริการในแต่ละชุมสายให้บริษัทในจำนวนเท่ากัน
ซึ่งบริษัทสามารถให้บริการได้ในทุกพื้นที่ โดยทศทเป็นผู้จัดเตรียมโครงข่ายที่เชื่อมกับอุปกรณ์
DSLAM ของบริษัท และพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์
ในกรณีทศทไม่สามารถจัดเตรียมโครงข่ายให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานของบริษัท
ทศทยินยอมให้บริษัทเช่าใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นได้ รวมทั้งทศทจะเป็นผู้จัดเตรียมวงจรสำหรับต่อเชื่อมกับเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับบริการบรอดแบนด์
อินเทอร์เน็ตให้กับบริษัท
ในการให้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต บริษัทตกลงที่จะคิดอัตราค่าบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยตามที่ทศทกำหนดคือ
1.ความเร็ว 256/128 Kbps ถ้าเป็น Localnet ไม่จำกัดชั่วโมงคิด 490 บาทต่อเดือน
2.ถ้า Localnet ไม่จำกัดชั่วโมงและอินเทอร์เน็ต 40 ชั่วโมงต่อเดือนคิด 700 บาท
3.ความเร็ว 1 Mbps/512 Kbps สามารถใช้ Localnet ไม่จำกัดชั่วโมงและอินเทอร์เน็ต
40 ชั่วโมงต่อเดือน คิดค่าบริการ 990 บาท
"การเริ่มให้บริการบรอดแบนด์ในกรุงเทพฯก่อน เพราะทศทมีเลขหมายประมาณ 1.8 ล้าน
เลขหมาย ในขณะที่ความต้องการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 80%"
น.พ.สุรพงษ์กล่าวว่าการทำโครงสร้างของ BU จะใช้วิธีศึกษาจากต่างประเทศอย่างบรอดแบนด์
อินเทอร์เน็ตจะศึกษาจากเกาหลีหรือเรื่องโทรศัพท์ระหว่างประเทศก็ศึกษาจากสิงเทล
หรือฮ่องกง ซึ่งโทรศัพท์ระหว่างประเทศเชื่อว่าเมื่อมีคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กทช.) จะมีเอกชนจำนวนมากสนใจขอไลเซนส์เพื่อให้บริการ ในเมื่อการควบรวมระหว่างทศทกับกสทต้องเกิดขึ้นแน่นอน
การร่วมกันก่อนในลักษณะ BU ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นก่อน เพราะคู่แข่งกำลังมา
"BU ใหม่ถือเป็นเอกเทศมีอำนาจตัดสินใจและสั่งการด้านการตลาดการทำโปรโมชัน ส่วนงบประมาณการลงทุนจะใช้วีธีการขออนุมัติจากบอร์ดใหญ่เพียงครั้งเดียว"