วิกฤติการณ์ไข้หวัดนก นำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจ "สิ่งตกผลึก"
บางอย่างทั้งในแง่ผู้บริหารทางการเมืองและธุรกิจ
บางอย่างเป็น "ความรู้เก่า" นักบริหารรัฐและธุรกิจ ผู้ที่พยายามทำให้เข้าใจว่าพวกเขาเป็นคน
"หัวใหม่" ชอบท่องเป็นคาถาเสมอ ที่ว่าด้วย "ข้อมูล" คราวนี้พวกเขาจะเข้าถึง
"ความหมาย" และ "แก่นแท้" ของข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษา ทำความเข้าใจข้อมูลที่ว่าด้วย
"ข่าวร้าย" หรือ "วิกฤติการณ์"
"ข่าวร้าย" หรือ "วิกฤติการณ์" จะเกิดขึ้นเสมอ เป็นสิ่งที่จะต้องยอมรับ
ดูเหมือนความถี่ในการเกิดจะมีมากขึ้น พอๆ กับความหลากหลายของเรื่องที่ดูจะเกี่ยวข้องกับสังคมในมิติต่างๆ
มากขึ้นเสียด้วย
ที่สำคัญหลายเรื่องมิใช่มาจากความบกพร่องเชิงบริหารด้วย การยอมรับแนวโน้มนี้จะทำให้การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างมีสติมากขึ้น
โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบที่สัมพันธ์กับข้อมูลที่แท้จริงของ "ข่าวร้าย"
หรือ "วิกฤติการณ์" นั้น ความโน้มเอียงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือการประเมินผลกระทบอย่างผิดๆ
ทำให้ความเข้าใจและหรือความพยายามศึกษาข้อมูลไม่ละเอียดลึกซึ้งเพียงพอ การประเมินอย่างผิดๆ
ที่ว่านั้น มักจะเกิดขึ้นจากอคติหรือผลประโยชน์ที่ขัดแย้งของตนเอง
นักบริหารกลัวข่าวร้าย ปกปิดข่าวร้าย หลอกตนเองและสาธารณชนไปด้วย
หากนักบริหารเหล่านี้เข้าใจ "ความรู้ค่อนข้างใหม่" บางเรื่องก็อาจจะทำให้พวกเขากลัว
"ข่าวร้าย" น้อยลงบ้างก็ได้
"ระบบคิดและกระบวนการแก้ไขวิกฤติการณ์" มีคุณค่าที่เป็นจริงอย่างชัดเจนมากขึ้นในยุคใหม่
ตำราบริหารหรือความคิดนักบริหารรุ่นค่อนข้างเก่าไปแล้ว มักจะมองที่ผลสุดท้ายง่ายเสมอ
และมักจะให้ความสำคัญสิ่งนั้นอย่างมากเกินไป ความจริงความสมดุลในเรื่องความคิดการบริหารกับผลงานสุดท้ายมักจะไปด้วยกัน
ผู้คนในสังคมที่มีปัญญา เข้าใจความสัมพันธ์ของกระบวนการทั้งหมดมากขึ้น
โดยเฉพาะสังคมของคนมีปัญญาระดับโลกที่พวกเขามีบทบาทที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ
ของโลก ไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงระดับธุรกิจ และสินค้าหรือบริการ
มาตรฐานของโลกตะวันตกที่พยายามบังคับใช้ในระดับโลกมีมากขึ้นจากแนวคิดนี้
ที่สำคัญมีคุณค่าจนกลายเป็นสินค้าใหม่ที่หลากหลาย ที่มีราคาแพงมากเสียด้วยในเวลานี้
มองในมุมกลับกัน พวกเขาก็ยอมรับ "ระบบคิด" ที่ว่านั้นจากคนอื่นด้วย
เมื่อเข้าใจสิ่งนี้แล้ว แทนที่ผู้บริหารจะหมกมุ่นกับ "ข่าวร้าย" ในขั้นตอนที่ไม่อาจจะยับยั้ง
"ข่าวร้าย" ได้เท่านั้น ความสำคัญควรจะมาอยู่ที่ "ความคิด และกระบวนการแก้ปัญหา"
ซึ่งว่าไปแล้วนั่นคือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ควรทำ บ่อยครั้งเช่นกัน
ที่พวกเขารู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้ แต่เขาคิดว่าเวลามากเกินไป
เพราะมัวแต่หมกมุ่นที่ผลสำเร็จสุดท้าย
ความจริงผลสำเร็จเกิดขึ้นจากความคิดที่ดี และระบบบริหารจัดการแก้ไขวิกฤติการณ์ที่ดี
ซึ่งจับต้องและมีคุณค่าที่จับต้องได้ตั้งแต่ต้นธารแล้ว
บทเรียนเรื่องนี้ไม่ยกเว้นใครเลย คุณทักษิณต้องใช้เวลานานเหมือนกันที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้
กว่าจะเสนอความคิดที่พอรับได้ในการแก้ไขวิกฤติการณ์ภาคใต้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพยายามแก้ปัญหาไปที่ผลสำเร็จสุดท้าย
แต่ไม่สำเร็จสักที