Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2547
ยำใหญ่ ใช้รถใช้ถนน             
โดย ธนิตตรา กิจอิทธิ
 





สัปดาห์ที่แล้วดิฉันเพิ่งเจอเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ จากการขับรถบนถนนลื่นที่นี่ ความจริงขับรถขณะฝนตกทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าต้องระวังขนาดไหน แต่สิ่งที่ประสบมาคือทั้งฝนและหิมะ ลงมาในเวลาเดียวกัน

เรื่องของเรื่องก็คือขณะนั้นรถของเราแล่นมาด้วยความเร็วไม่มาก คือเพียงราว 50-60 กม./ชม. เท่านั้น เป็นถนนในเมือง (Local Road) ไม่ใช่ไฮเวย์ สภาพการณ์คือทั้งฝนตกและหิมะลง เมื่อรถคันหน้าเบรก รถคันของเราก็แตะเบรกด้วย แต่ปรากฏว่ารถไม่หยุด แต่กลับไถลออกนอกทาง หรือที่เรียกว่า Skid นั่นล่ะค่ะ จึงต้องใช้การบังคับด้วยพวงมาลัยแทน ไม่ให้ไปเฉี่ยวชนรถคันอื่นในถนน ในที่สุดรถก็ไถลจนไปหยุดในลักษณะหน้ารถทิ่มไปในกองหิมะข้างทาง สภาพขวางถนนไปหนึ่งเลน...

กว่าจะถอยรถออกมาได้ก็ทุลักทุเลเหมือนกัน ที่จริงไม่ได้ยากอะไร แต่ขวัญกระเจิงเสียมากกว่าทำให้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการขับต่อไป และพอขับไปได้อีกเล็กน้อยก็เห็นรถอีกคันเจอสภาพเดียวกันคือไถลลื่น หน้ารถไปปักอยู่ในกองหิมะข้างทาง ทำให้ค่อยอุ่นใจว่ารถเราและคนขับไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ต่อมาพอเล่าให้คนที่นี่ฟัง เขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ตัวเขาเคยขับอยู่บนไฮเวย์สภาพถนนเปียกแบบนี้ อยู่ๆ รถคันที่วิ่งอยู่ข้างๆ ก็ไถลเหมือนกันกับที่ดิฉันเจอ แต่กรณีนี้แย่กว่า เพราะเป็นไฮเวย์ ยากที่จะหลบหลีก รถคันที่ว่าจึงชนเข้ากับรถคันอื่นๆ ที่วิ่งอยู่บนไฮเวย์กันระเนระนาดรวมหลายคัน ส่วนเจ้าตัวคนเล่าแกโชคดีหลบทันเลยไม่ถูกชน

เมื่อเจอประสบการณ์การขับรถบนถนนที่แคนาดานี้ จึงทำให้ดิฉันนึกอยากเล่าเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องแรกก็คือที่นี่ขับรถพวงมาลัยซ้าย ซึ่งเหมือนอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศในโลก ยกเว้นเมืองไทยบ้านเราและอังกฤษ คนมาจากไทยแลนด์อย่างดิฉันตอนที่เพิ่งมาขับรถที่นี่แรกๆ ขับแบบงงๆ เพราะบ้านเราขับรถพวงมาลัยขวา เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด... ส่วนที่นี่...ขับพวงมาลัยซ้าย เลี้ยวขวาผ่านตลอด ใครขับครั้งแรกไม่งงขอยกนิ้วให้

นอกจากนี้ก็เป็นรายละเอียดที่สลับกับบ้านเราคือ ที่นี่เลนซ้ายเป็นเลนเร็ว และป้ายสัญญาณจราจรต่างๆปักอยู่บนฟุตบาทด้านขวามือ ช่วงแรกที่ขับใหม่ๆ ดิฉันมองไม่เห็นป้ายสัญญาณเหล่านี้ เพราะความเคยชินเวลาขับตาจะมองป้ายด้านซ้ายเพราะเมืองไทยเป็นแบบนั้น ทำเอาฝ่ากฎเกณฑ์ที่นี่ไปหลายป้ายจนคนนั่งและคนสอนพากันถามว่า

"คุณไม่เห็นป้ายเหรอ" พอบอกว่า "ไม่เห็น อยู่ที่ไหน" เขาบอกว่า "อยู่ด้านขวามือ ไม่เห็นหรืออย่างไร" แม่คุณ...เดชะบุญที่ไม่เจอตำรวจแจกใบสั่ง (ticket)

การขับรถที่แคนาดานี่ต้องมีใบขับขี่ประจำจังหวัด เช่นเราอยู่ที่เขตจังหวัดออนตาริโอ (Ontario) นี่ ก็ต้องใช้ใบขับขี่ที่ออกโดยออนตาริโอ หากย้ายไปอยู่ที่เขตจังหวัดอื่น เช่น คีเบค หรือบริติชโคลัมเบีย ก็ต้องใช้ใบขับขี่ของคีเบค หรือบริติช โคลัมเบีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงกับว่าใบขับขี่จะใช้ไม่ได้เลยในต่างจังหวัด เพราะความจริงเขาอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 60 วัน ดังนั้นหากเป็นการขับรถไปติดต่อธุรกิจหรือเดินทางท่องเที่ยว ขับอยู่ในต่างจังหวัดไม่เกิน 60 วันก็ไม่มีปัญหา

คำถามต่อมาคือว่าถ้าเผอิญตำรวจเรียกจอดแล้ว ดูใบขับขี่จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณข้ามเขตมาแล้วเกิน 60 วัน อันนี้ก็ต้องใช้การสอบสวนดู ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรที่สำคัญขอเพียงคุณอย่าขับรถผิดกฎ ไปเกิดเรื่องราว กระตุ้นให้ตำรวจและประกันภัยมายุ่มย่ามในชีวิตคุณเพราะเรื่องจะไปกันใหญ่

นอกจากใบขับขี่ออกโดยคนละจังหวัดสามารถใช้ได้ 60 วันแล้ว ใบขับขี่สากลหรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่าใบขับขี่อินเตอร์ ที่ออกให้โดยหน่วยงานขนส่งของแต่ละประเทศ ก็สามารถใช้ขับรถที่นี่ได้ 60 วันเช่นกัน ทั้งนี้แม้ว่าอายุใบขับขี่สากลจะออกให้นานกว่าหกสิบวัน เช่น เมืองไทยออกให้หนึ่งปี แต่ถ้านำมาใช้ขับที่นี่เขาก็อนุญาตให้เพียง 60 วัน นับจากคุณเข้ามาในประเทศและอยู่ในท้องที่นั้น สรุปคือ ถ้าคุณต้องอยู่ยาว และต้องขับรถก็ต้องเตรียมตัวสอบใบขับขี่ของที่นี่

อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่มีข้อตกลงกับทางการแคนาดาเรื่องแลกใบขับขี่ได้ ทำให้ประชาชนของประเทศเหล่านั้นไม่ต้องมาสอบใบขับขี่เมื่อมาอยู่แคนาดา อเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่มีข้อตกลงนี้กับแคนาดา นอกจากนี้ก็ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรีย เป็นต้น (ถ้าจำไม่ผิด ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศรวยๆ ทั้งหลาย) เหตุนี้ทำให้คนจากประเทศเหล่านี้ได้รับความสะดวกในการมาอยู่ที่แคนาดามาก ดิฉันมีเพื่อนเป็นเกาหลีอยู่หลายคน มีคนหนึ่งจากที่ได้คุยกันพบว่า เธอมาอยู่แบบวีซ่าชั่วคราวเพราะสามีอยู่เกาหลี แต่ส่งลูกมาเรียนที่แคนาดา เธอจึงมาอยู่ที่นี่ดูแลลูก นอกจากซื้อบ้านเป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ซื้อรถขับด้วย พอถามเธอเรื่องใบขับขี่ เพราะไทยแลนด์อย่างเราตอนนั้นกำลังขะมักเขม้นกับการฝึกขับเพื่อเตรียมสอบใบขับขี่ถาวรที่นี่ เธอบอกว่าเธอไม่ต้องสอบ แค่เอาใบขับขี่เกาหลีไปยื่นที่สำนักงานขนส่งที่นี่ แล้วรอรับใบขับขี่ถาวรเวอร์ชั่นแลกเปลี่ยนมาได้เลย...น่าอิจฉาจริงๆ

มีอีกเรื่องที่เป็นเรื่องแปลกในความเห็นของดิฉัน นั่นก็คือคนที่นี่ขับรถกันตามเพดานสูงสุดที่กำหนด กล่าวคือปกติแล้วถนนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นไฮเวย์หรือโลคัลโรดจะมีป้ายระบุความเร็วสูงสุดที่อนุญาตให้ขับ ป้ายที่ว่านี้ มีตลอดทุกถนน ทุกระยะราว 100-200 เมตร และความ เร็วก็แตกต่างกันไป เช่น เราขับถนน ก. กำหนดความ เร็วสูงสุด 80 กม./ชม. (Maximum 80) พอเลี้ยวเข้ามาถนน ข. ความเร็วสูงสุดอาจให้แค่ 50 กม./ชม.ก็ได้ ที่ว่าแปลกคือถ้าเขาระบุความเร็วสูงสุด 80 คุณควรขับ 80 (อย่าขับต่ำกว่า เช่น 70) หรือถ้าระบุสูงสุด 50 ก็ควรขับ 50 (อย่าริเป็นพลเมืองดีขับ 45 หรือ 30) เพราะจะโดนรถคันหลังรุมประณามได้

ในความเห็นแบบไทยๆ ดิฉันเข้าใจว่า ถ้าป้ายระบุสูงสุด 80 เราขับ 70 ไม่น่าจะผิดอะไร แต่ที่นี่ถ้าขืนขับแบบนั้นแล้ว อันตรายมาก เพราะรถคันที่ตามมา ล้วนขับกันตามสปีดสูงสุดที่กำหนดเช่น 80 แล้วหากวิ่งมาเจอเต่า 70 แบบเราอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ที่เล่าให้ฟังนี้เป็นถนนในเมือง ถ้าเป็นไฮเวย์ สปีดสูงสุดให้ที่ 100 กม./ชม. (แต่อะลุ้มอล่วยให้ได้ถึง 115 กม./ชม.) เท่าที่เห็นรถทุกคันก็เหยียบกันเต็มสปีดราว 120 (พลเมืองดีอย่างเราขับ 100 อย่างสม่ำเสมอโดนแซงไปหมดเลย) แต่ขับเร็วมากก็ไม่ค่อยสนุกนักเพราะอาจเจอตำรวจทางหลวงดักจับความเร็วได้เหมือนบ้านเรา

นอกจากนี้การขับรถที่นี่ต้องหัดใช้สัญญาณมือเช่น โบกให้ทาง ยกมือขอบคุณ (เวลารถคันอื่นเอื้อเฟื้อ เรา) เพราะวัฒนธรรมการขับรถของคนที่นี่เป็นแบบนี้และที่สำคัญตอนสอบใบขับขี่ นอกจากเขาจะดูความสามารถการขับ และความเข้าใจกฎสัญญาณจราจรแล้ว ยังจะดูด้วยว่าเรามีการสื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยการให้สัญญาณต่างๆ หรือสบตาหรือไม่ หาไม่แล้วก็จะเสียคะแนน อาจสอบไม่ผ่านก็ได้

สุดท้ายที่สำคัญคือ ที่นี่เลนขวาเป็นเลนช้า ดังนั้น เพื่อความสบายใจ ควรขับชิดขวาไว้เป็นดี คติที่ต้องท่อง ไว้ประจำใจคือ อยู่ที่นี่ต้อง "Keep Right" รับรองไร้ปัญหาแน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us