ในชั่วโมงวิชาหนังสือพิมพ์จีนคาบหนึ่ง อาจารย์ได้บรรยายถึงเรื่องโครงสร้างของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในประเทศจีน
ให้เหล่านักเรียนฟังแบบคร่าวๆ ว่า รัฐบาลในอุ้งมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคุมสื่อทั้งหมด
หนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อมวลชนแขนงหนึ่งก็เช่นกัน ยังไม่มีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาออก
หนังสือพิมพ์ได้เองโดยอิสระ (ไม่รวมฮ่องกง)
หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลจีนนั้นจะเรียกกันเป็นชื่อสั้นๆ
ง่ายๆ ว่า "ต้าเป้า " ซึ่งแปลความหมายได้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ที่มีจำหน่ายทั่วประเทศ
อย่างหนังสือพิมพ์หัวยักษ์ใหญ่สุดในเมืองจีนก็คือ เหรินหมินยื่อเป้า , หนังสือพิมพ์ที่เจาะตลาดไปยังคนรุ่นใหม่
จงกั๋วชิง เหนียนเป้า ,หนังสือพิมพ์สำหรับคนมีการ ศึกษาค่อนข้างสูง กวงหมิงยื่อเป้า
, หนังสือ พิมพ์ภาษาอังกฤษ จงกั๋วยื่อเป้า เป็นต้น
สำหรับ "ต้าเป้า" นอกจากหนังสือพิมพ์ข้างต้นที่มีเนื้อหารวมๆ แล้ว ก็ยังมีหนังสือพิมพ์เฉพาะสาขา
แยกออกไปอีกอย่าง เช่น หนังสือพิมพ์ด้านกฎหมาย จงกั๋วฝ่าจื้อเป้า , หนังสือพิมพ์กีฬา
ถี่ยู่เป้า , หนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจ จิงจี้เป้า , หนังสือพิมพ์ด้านสุขภาพ
เจี้ยนคังเป้า , หนังสือพิมพ์ด้านการศึกษา เจี้ยวยู่เป้า , หนังสือพิมพ์ด้านการทหาร
เจี่ยฟ่างจุนเป้า
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ ที่มีการพิมพ์ในเมืองต่างๆ คนจีนจะนับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
"เสี่ยวเป้า " ทั้งหมด แม้หนังสือพิมพ์เหล่านั้นจะมียอดขายมากถึงวันละหลายล้านฉบับ
อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ตามเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว
ฯลฯ ก็ตาม
ในเมืองจีนอันกว้างใหญ่ไพศาล จำนวนหัวของหนังสือพิมพ์ก็ย่อมมีมากขึ้นตามพื้นที่และจำนวนเมือง
เป็นเงาตามตัว สำหรับเมืองหลวงอย่างปักกิ่งที่มีประชากรรวมมากกว่า 10 ล้านคน
อันมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่หลายสิบหัว หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยม
มากในหมู่คนเดินถนนนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของ ปักกิ่ง ที่ออกขายกันในช่วงบ่าย-หัวค่ำ
ชื่อ เป่ยจิงหว่านเป้า
ความนิยมของหว่านเป้านั้นไม่เพียงจะรับทราบได้จากยอดพิมพ์ที่มีจำนวนทะลุหลักล้านต่อวัน
แต่ยังสามารถสังเกตได้จากตามท้องถนนในช่วงหัวค่ำที่ตามแผงหนังสือ หรือตามหัวมุมถนนที่จะมีเสียงตะโกนกันอย่างไม่ขาดสายว่า
"หว่านเป้า หว่านเป้า หว่านเป้า!!!"
ภาพคนจีนถือหนังสือพิมพ์อ่านกันอย่างจดจ่อกันไปรถไฟใต้ดิน ป้ายรถประจำทาง
หรือตามสวนสาธารณะเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงแนวโน้มของสังคมจีน ที่มีศักยภาพในการก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในช่วงท้ายการบรรยาย มีนักเรียนยกมือถามขึ้นว่า "แล้วทุกวันอาจารย์ซื้อหนังสือพิมพ์อะไรอ่าน?"
"เดี๋ยวนี้ไม่ซื้อแล้ว แต่อ่านเอาจากอินเทอร์เน็ตแทน สะดวกกว่า" คำตอบจากอาจารย์วัย
50 ปลายๆ ทำเอาผมและนักเรียนทั้งห้องสะอึกไปพักใหญ่
สำหรับคนจีน อินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนจีนชนชั้นกลาง
(ที่มีกำลังซื้อ) แทบทุกกลุ่ม ตัวเลขจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 79 ล้านคน
ณ ปลายปี 2546 อันนับว่ามากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ได้เป็นอย่างดี
หากจะให้เดาดูแล้ว ความเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนก็คงไม่ผิดไปจากสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า
บรอดแบนด์ (Broadband) หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ภาษาจีนเรียกว่า ควนไต้
คือสาเหตุหลักของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของชาวเน็ตในเมืองจีน เนื่องจากบรอดแบนด์ได้ช่วยให้การเข้าสู่โลก
อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่าย สะดวก มีความรวดเร็ว ไม่ต้องรอต่อผ่านสายโทรศัพท์
สามารถออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังมีราคาค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่แพงเกินไปด้วย
โดยในปักกิ่งราคาค่าเช่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบรายเดือนใช้ได้ไม่จำกัดปริมาณนั้นตกอยู่ที่ราว
100-120 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 500-600 บาท)
ในช่วงปี 2546 ที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงต้น-กลางปี ในประเทศจีนจะประสบกับวิกฤติการณ์เรื่องโรคซาร์ส
แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง การแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็รุนแรง
และมีแต่ละบริษัทก็มีการงัดเอาสูตรการตลาดมาใช้กันอย่างเต็มที่ทั้งไม่คิดค่าติดตั้ง ลดราคา หรือแม้แต่การแถมคอมพิวเตอร์ให้
การแข่งขันอันรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้ตัวเลขจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศจีน
ที่ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจีน (CNNIC) รายงานออกมาราวช่วงปลายปี
2546 สูงถึง 10 ล้านคน
ในแง่ของกลุ่มผู้ใช้งาน ในเมืองจีนอินเทอร์เน็ตไม่เพียงจะได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่เด็กและวัยรุ่น หรือกลุ่มผู้มีการศึกษาเท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงในคนหมู่มากด้วย
โดยตัวผมเองครั้งหนึ่งเคยพบกับคนขับแท็กซี่ที่บอกว่า ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่บ้านเพื่ออ่านข่าวสารและพูดคุย
ในช่วงดึกหลังเลิกงานแล้วเป็นประจำวันละ 2 ชั่วโมง หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ
(อายุ 60 ปีขึ้นไป) ก็มีตัวเลขระบุว่า ในจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 79 ล้านคนดังกล่าวนั้น
มีจำนวนเกือบร้อยละ 1 เลยทีเดียว
คงเช่นเดียวกับ "ภาษา" ที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร หากไม่ทราบเป้าหมายและจุดประสงค์ของการสื่อสาร ภาษาก็คงไร้ความหมายใดๆ "อินเทอร์เน็ต" หากขาดเนื้อหา-ข้อมูลที่หลากหลาย
และสังคมที่มีพื้นฐานในวัฒนธรรมการอ่าน อินเทอร์เน็ตก็คงเป็น เพียงแค่ห้องสมุดใหญ่ยักษ์ที่ไม่มีใครสนใจเข้าไปใช้บริการ
นับว่าเป็นความโชคดีของคนจีนที่เทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ไม่เพียงนำมาแต่ความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร
หรือความบันเทิงเท่านั้น ในแง่ของ "เนื้อหา (Content)" ที่เป็นภาษาจีนยังถือว่ามีให้อ่าน
ค้นหา และศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่มากมายเท่าภาษาอังกฤษอันเป็นภาษากลางของโลกอินเทอร์เน็ต
แต่ก็เคยมีการคาดหมายกันว่าในไม่ช้าไม่นาน ภาษาจีนคงกลายเป็นภาษาที่สองบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นแน่
อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ผมกล่าวถึงไปเกือบสิบฉบับข้างต้นนั้นต่างก็มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
ที่ Update ข่าวสารใหม่ๆ กันอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่ในส่วนของเครื่องมือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต หรือ Search Engine อันเป็นหนึ่งในหัวใจของโลกอินเทอร์เน็ต
แม้ Google จะนั่งแป้นเป็น Search Engine อันดับหนึ่งของระดับสากล แต่สำหรับผู้ใช้ภาษาจีนแล้ว
Search Engine อันดับหนึ่งของจีน อย่างเช่น ไป่ตู้ หลายครั้งดูเหมือนจะมีศักยภาพในการค้นหาข้อมูลและภาพที่ดีกว่า
Google มากนัก