Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2547
ปาราคาโล่ ฮัลโหลจากกรีซ             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 





ใครที่ไปเที่ยวประเทศกรีกคงจะได้ยินคำว่า "ปาราคาโล่" (Parakal๎) วันละไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง เพราะเป็นคำยอดนิยมของเขาและแปลได้หลายอย่าง เช่น "ฮัลโหล" ใช้สำหรับเวลารับโทรศัพท์ หรือแปลว่า "ได้โปรด/กรุณา" (please) เวลาจะขอให้ใครทำอะไรให้ หรือจะแปลว่า "ยินดี" ก็ได้ เช่นเวลา ใครขอบคุณเรา ก็ให้ตอบว่า "ปาราคาโล่" คือ ด้วย ความยินดี

ปีใหม่นี้ได้ไปเที่ยวกรีก ไปหน้าหนาวนี่ฝนตกเกือบทุกวัน แต่ก็ดีไปอย่างเพราะคนไม่แออัดมาก ใครที่ชอบดูโบราณสถานและอารยธรรมเก่าแก่ของกรีก ถ้ามาช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ทุกวันอาทิตย์จะได้เข้าชมฟรีทั่วประเทศ ไม่อย่างนั้นต้องเสียค่าเข้าอย่างน้อยก็ 4 ยูโร ถ้าเป็นวิหารพาเธนอน ที่กรุงเอเธนส์แล้วผู้ใหญ่เสียตั้ง 12 ยูโร นักเรียนเสีย 6 ยูโร ใครที่เป็นนักเรียนนักศึกษา ก่อนเดินทาง ควรจะทำบัตร International Student Identity Card กับ STA Travel เสียก่อนเพราะสามารถใช้ลดราคาค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ได้ และควรจะทำบัตร Youth Hostel International ไว้ด้วย เพราะจะสามารถพักตาม Youth Hostel ต่างๆ ได้หลายประเทศ Youth Hostel ส่วนใหญ่จะแยกห้องนอนหญิงชายและค่าที่พักของเขาก็ถูกกว่าโรงแรม มาก แถมอาจได้เพื่อนใหม่หรือได้เกร็ด ท่องเที่ยวเล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าหน้าที่ของ Youth Hostel จะมีข้อเสียก็คืออาจต้องนอนฟังเสียงกรนของคนอื่นทั้งคืน แต่ถ้าเรากรนด้วยก็ไม่เป็นไร ประสานเสียงไปกับเขาด้วยเลย

เมืองเอเธนส์เพิ่งจะมีรถไฟใต้ดินใช้เมื่อ 4-5 ปีมานี้เท่านั้น ถ้าจะไปดูวิหารพาเธนอนก็ให้นั่งรถไฟใต้ดินไปที่สถานี "อะโครโพลิส" (Acropolis) แล้วเดินขึ้นเนินไปหน่อยก็ถึง ค่ารถไฟก็ 70 เซ็นต์ แต่ถ้าซื้อตั๋ววันซึ่งใช้ได้ 24 ชั่วโมงแล้ว ก็เสีย 2.90 ยูโร ใครที่อยากเดินดูผู้คนชอปปิ้ง หรือไปเดินดูตลาดของเก่า ควรนั่งรถไฟไปสถานี "ซินดักมา" (Syntagma) แล้วเดินตามถนนชอปปิ้งที่นั่นเรื่อยไปจนถึงสถานี "โมนาสทิราคิ" (Monastiraki) ก็จะถึงตลาดของเก่าซึ่งคล้ายๆ สวนจตุจักรของเรา แต่ถ้าต้องการ หาซื้อของมียี่ห้อก็ให้เดินไปข้ามฝั่งจากซินดักมา ไปที่ถนนโคโลนาคิ (Kolonaki) เพราะมีร้านยี่ห้อดังๆ เต็มไปหมด

กรีกกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ปีนี้ (13-29 สิงหาคม 2547) ถนนหนทางทุกเส้นในกรุงเอเธนส์จะมีการก่อสร้างเต็มไปหมด สนามกีฬา สเตเดียมของเขาก็ยังสร้างไม่เสร็จเลย เพื่อนกรีกของฉันบ่นว่านี่สมกับเป็นกรีกจริงๆ คือทำอะไรช้าจนวินาทีสุดท้าย เขาเองก็ตอบไม่ได้ว่ากรีกเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือเปล่า เพราะถึงแม้ประวัติ ศาสตร์และอารยธรรมจะเก่าแก่ก็ตาม แต่กรีกวันนี้ดูแล้วก็คล้ายๆ กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา แต่ฉันว่าเป็นอย่างนี้นั่นแหละดีแล้ว ทำให้ประเทศมีเสน่ห์ดี (เหมือนเมืองไทยของเรา) พัฒนาเป็นระเบียบ เรียบร้อยมากเกินไป (อย่างสิงคโปร์เป็นต้น) ก็ทำให้ชีวิตขาดสีสันไปแยะ

เพราะเมืองเอเธนส์วุ่นวายฉันเลยนั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองโครินโธส (Corinthos หรือ Corinth) จาก เอเธนส์ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ รถไฟนี่ไม่ค่อยมีคนนั่งกัน เท่าไร เพราะช้ามาก แต่ถูกดี ฉันขึ้นรถไฟจากสถานี สทัธโมส เพโลโพนีซู (Stathmos Peloponnisou) แถวๆ ท่าเรือที่เมืองพีเรอา (Piraeus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอเธนส์ ค่ารถไฟไปกลับแค่ 4.50 ยูโรเท่านั้น แต่ถ้าขึ้นรถเร็วต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีกเที่ยวละ 2.60 ยูโร ซึ่งก็เร็วกว่ารถไฟธรรมดาแค่ 20 นาทีเอง แต่ที่นั่งสบายกว่า รถเร็วนี้ห้ามตีตั๋วยืนต้องจองที่นั่งอย่างเดียวเท่านั้น

เมืองโครินโธสตั้งอยู่บนเกาะเพโลโพนีเซส (Peloponeses) ซึ่งเชื่อมติดกับเกาะใหญ่ของกรีก แต่เมืองโครินโธสที่รถไฟมาจอดนี่เป็นเมืองใหม่ ถ้าจะไปดูซากปรักหักพังของเมืองเก่า (Ancient Corinth) ก็ต้องเดินจากสถานีรถไฟไปอีกประมาณ 5-6 ช่วงตึก เพื่อไปขึ้นรถเมล์ เสียค่ารถ 90 เซ็นต์ ประมาณ 15 นาทีก็ถึง มาดูเมืองเก่านี่จะได้เห็นอารยธรรมเก่าแก่ของกรีก เพราะกรีกเป็นประเทศที่มีประวัติอันยาวนาน ซากปรักหักพังพวกนี้หาดูได้เกือบทั่วทั้งประเทศ

ประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าโครินโธสนี่มีมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 2,800 ปีมาแล้ว ภายในบริเวณของเมืองเก่าจะเห็นเสาของวิหาร เทพเจ้าอพอลโลซึ่งเหลือตั้งตระการอยู่ไม่กี่ต้น แต่ก็บ่งบอกถึงความอลังการของตึกรามบ้านช่องของคนที่นี่เมื่อหลายพันปีก่อนได้เป็นอย่างดี เมืองนี้ในสมัยก่อนมีความสำคัญทางด้านการค้า เพราะเป็นด่านค้า ขายระหว่างผู้คนในทะเลเอเจียนและทะเลไอโอเนียน ในเมืองเก่านี้มีทั้งซากของร้านค้า โรงยิม สนามกีฬา และน้ำพุ ซึ่งส่วนใหญ่เหลือให้เห็นแต่เพียงฐานตึกเท่านั้น แต่ใกล้ๆ กับบริเวณเมืองเก่าจะมีซากของโรงละครกลางแจ้งขนาดใหญ่และเล็กที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ปัจจุบัน ส่วนค่าเข้าชมบริเวณเมืองเก่านี่ผู้ใหญ่เสีย 4 ยูโร นักเรียนนักศึกษาเสีย 2 ยูโร ถ้ามาวันอาทิตย์ช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมนี่จะได้เข้าฟรี ไม่เสียค่าผ่านประตู

สำหรับอาหารกรีกนี่น่าจะถูกปากคนไทย เพราะถึงจะไม่เผ็ดแต่ก็ไม่จืดชืด อาหารหลักๆ ก็คือ โดเนอ เคบับ (Doner Kebab) ซึ่งก็คือเนื้อ (หมูหรือ แกะ) เสียบเหล็กแล้วหมุนย่างไปรอบๆ เตา เวลาเสิร์ฟคนขายก็จะใช้มีดเฉือนเนื้อบนแท่งเสียบเหล็กนั้นเป็นชิ้นเล็กๆ วางเนื้อ มันฝรั่งทอด มะเขือเทศ หอมหัวแดง และซอสครีมกระเทียม บนขนมปังพิตา ทอด (Pita Bread) แล้วห่อเป็นทรงกรวย อาหารนี้เรียกว่า พิตากิโร (Pita Gyro) กินง่าย ถูกด้วย ราคา ประมาณ 1.30-1.50 ยูโร อีกจานหนึ่งที่ไม่ว่าร้านไหนก็น่าจะมีให้ลองคือ มูสซาคา (Moussakas) ซึ่งก็คือ มะเขือม่วงผสมกับเนึ้อบดวางเป็นชั้น ตามด้วย มันฝรั่งบด ราดหน้าด้วยซอสเบคาเมล แล้วเอาไปอบ ส่วนขนมที่ชาวกรีกกินกันในช่วงวันปีใหม่ก็คือ เมโล มาค่าโรโน (Melomakarono) ทำจากแป้งผสมกับถั่วปั้นเป็นชิ้นพอคำนำไปอบแล้วชุบด้วยน้ำผึ้ง อร่อยดี ไม่หวานมาก แต่ถ้าจะหวานจริงๆ ก็เห็นจะเป็น บัคลาวา (Baklavas) ทำจากแป้งและถั่วอบเหมือนกันแต่หน้าตาเหมือนขนมพาย ราดด้วยน้ำผึ้ง อันนี้หวานจับใจ

เรื่องน่าปวดหัวสำหรับหลายคนที่มาเที่ยวกรีกก็คงจะเป็นป้ายต่างๆ ที่เขียนเป็นภาษากรีก ถึง แม้ว่าตอนนี้ป้ายส่วนใหญ่จะมีคำอ่านเป็นภาษาอังกฤษเขียนไว้ข้างล่างก็ตาม จริงๆ แล้วคนที่รักการเที่ยวแบบบุกเดี่ยวก็คงจะพกหนังสือนำเที่ยวติดตัวไปเสมออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Lonely Planet หรือ The Rough Guide ซึ่งจะมีสอนภาษากรีกพร้อมคำอ่านเป็นภาษาอังกฤษอยู่ท้ายเล่ม ถ้ามีเวลาและอยากท้าทายตัวเอง ก็ลองฝึกอ่านป้ายของเขาเล่นๆ ดู จริงๆ แล้วตัวขยักๆ เหล่านี้ก็พอจะเดาคำอ่านได้ไม่ยากเท่าไร ที่น่าแปลกใจก็คือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ต่างๆ ที่เราใช้กันเวลาเรียนวิชาเลขทุกวันนี้นั้น คนกรีกเขายังใช้เป็นตัวอักษรเขียนกันอยู่ทั่วไป เช่น ตัวอัลฟา นี่ก็คือตัว a ส่วน เธตา ก็คือ "th" หรือ ซิกมา คือ ตัว "s" เดลต้า คือตัว "D" แต่ "P" ของเขา กลับเป็นตัว "R" ไปเสียนี่ เพราะฉะนั้นคำว่า นี่ก็อ่านได้ว่า SODA (น้ำโซดา) หรือถ้าเห็นคำว่า KOPIN Oท ก็ให้อ่านว่า โครินโธส "Corinthos" ซึ่ง ก็คือเมืองโครินโธสนั่นเอง คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำก็มาจากภาษากรีก ใครที่เคยดูหนังเรื่อง My Big Fat Greek Wedding คงจะจำได้ที่พ่อของนางเอกเอาแต่คุยว่าศัพท์คำนี้คำนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกทั้งนั้น ซึ่งก็จริงของเขา และเพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของเขานี่เองทำให้คนกรีก ภูมิใจในความเป็นกรีกมาก แต่ก็ยังแสดงความอบอุ่น ให้เราเห็นได้ทั่วไป

เล่าเรื่องกรีกมาพอสมควรแล้ว ไม่รู้ว่าทำให้คุณผู้อ่านอยากไปเที่ยวกรีกมากขึ้นหรือยัง

ยาซู (Yia sou) สวัสดี

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us